เปิดนิยาม "เพลงชาติ LGBTQIA+" มีที่มาอย่างไร เพลงไหน "ใช่" บ้าง

เปิดนิยาม "เพลงชาติ LGBTQIA+" มีที่มาอย่างไร เพลงไหน "ใช่" บ้าง

ค้นหา “เพลงชาติ LGBTQIA+” หรือ “Gay Anthems” ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง พร้อมรู้ความหมายและที่มาของเพลงที่ทุกคนรู้จักกันอย่างดีอย่าง “I Will Survive” ของ “กลอเรีย เกย์เนอร์” และ “Born This Way” ของ “เลดี้ กาก้า”

เพลง” เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสากลที่อยู่คู่กับมนุษย์มานาน และเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนออกมาได้ มีหลายเพลงที่กลายเป็นเพลงชาติของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ที่เรียกกันติดปากว่า “Gay Anthems” ทั้งที่ผู้แต่งเพลงและศิลปินตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น แต่หลายเพลงก็กลายเป็นเพลงชาติโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเพลงนี้มีความหมายเกี่ยวกับการฝ่าฟันอุปสรรค การยอมรับในตัวเอง ยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ความภาคภูมิใจ และความสามัคคี เพลงเหล่านี้เป็นกำลังใจชั้นดีที่ทำให้เหล่า LGBTQIA+ สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต และเป็นกำลังใจชั้นดีให้ยืนหยัดต่อสู้เรื่องราวเหล่านั้นไปได้

 

คุณสมบัติของเพลงชาติ LGBTQIA+

หนังสือ “Queer” ที่รวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ของกลุ่มผู้มีความแตกต่างทางเพศ ทั้งด้านแฟชั่น วัฒนธรรม การต่อสู้ทางการเมือง และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่งโดย ไซมอน เกจ, ลิซา ริชาร์ดส และฮาเวิร์ด วิลม็อต ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2545 ได้ระบุคุณสมบัติเพลงชาติของกลุ่มผู้มีความหลากลายทางเพศไว้ 10 หัวข้อดังนี้

1. ร้องโดยตัวแม่ หรือ ไอคอนของชาวเกย์

เพลงชาติของกลุ่ม LGBTQIA+ นั้นส่วนใหญ่มักเป็นเพลงของนักร้องดีว่าสาว หรือเหล่าบรรดาศิลปินที่ชาวเกย์ยกย่องในวงกว้างและมีแฟนคลับเป็นส่วนใหญ่เป็นชาวเกย์ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น สามารถเป็นศิลปินกลุ่ม LGBTQIA+ ได้ช่วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แฌร์, บริตนีย์ สเปียร์, มารายห์ แคร์รี่, ไคลี มิโนก, มาดอนนา, บียอนเซ่, เลดี้ กาก้า, ทรอย ซีวาน และ ลิล นาซ เอ็กซ์ 

2. ก้าวผ่านความรักที่เลวร้าย 

ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์อกหัก โดนทิ้ง จนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง และใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง เช่น “I will Survive” ของ กลอเรีย เกย์เนอร์, “Believe” ของ แฌร์

 

3. ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง

รวมกันเป็นชุมชนหรือสร้างความมั่นใจให้กับคนฟัง พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ยังมีผู้อื่นที่อยู่เป็นกำลังใจ และเผชิญสถานการณ์เดียวกัน เช่น “Y.M.C.A.” ของ วิลเลจ พีเพิล, “We are Family” ของ ซิสเตอร์ สเลดจ์ 

4. ทิ้งปัญหาไปก่อนแล้วออกไปสนุกกัน 

เมื่อชีวิตต้องเผชิญหน้ากับปัญหา จงทิ้งเรื่องเหล่านั้นไว้เบื้องหลังก่อน แล้วไปหาความสุข ความสนุกด้วยกันก่อน เช่น “Dancing Queen” ของ แอ๊บบา, “Holiday” ของ มาดอนนา

5. สร้างกำลังใจให้ตัวเอง 

เพื่อให้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการโดนกดขี่ ข่มเหง ความกลัว จนไม่สามารถสร้างความภูมิใจในตนเอง ไม่รู้คุณค่าในตัวเอง หรือมองเห็นความงดงามและอิรสภาพของตัวเอง เช่น “Beautiful” ของ คริสตินา อากีเลรา (Chirstina Aguilera), “The Greatest Love of All” ของ วิทนีย์ ฮูสตัน (Whitney Houston)

6. ภูมิใจในความเป็นตัวเอง 

เพลงเหล่านี้จะเล่าถึง การสร้างความภาคภูมิในการเป็น LGBTQIA+ ก้าวข้ามความเชื่อในสังคมที่มองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดบาป ไม่ได้ยึดติดอยู่กับโลกที่มีเพียงสองเพศ เช่น “Born This Way” ของ เลดี้ กาก้า, “Express Yourself” ของ มาดอนนา

7. การยอมรับและมีความหวังในชีวิต 

การเข้าไปอยู่ในดินแดนแห่งพระสัญญา หรือดินแดนที่มีแต่ความสุข ได้รับการตอนรับอย่างอบอุ่น อีกทั้งยังสามารถทำอะไรได้ตามที่ใจต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่ม LGBTQIA+ ต้องการ เนื่องจากในโลกแห่งความเป็นจริงต้องอยู่ในสังคมแห่งการกดทับและไม่ยอมรับ เช่น “Over The Rainbow” ของ จูดี้ การ์แลนด์, “Go West” ของ เพ็ต ช็อป บอย 

8. บอกเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา 

เป็นเพลงรักที่เล่าเรื่องความรักที่ขมขื่นและเจ็บปวด โอดครวญพรรณนาถึงความไม่สมหวัง และต้องเอาตัวรอดฝ่าฟันจากสถานการณ์นั้น ๆ  เช่น “La Vie En Rose” ของ เอดิท ปียัฟ , “And I am Telling You I’m Not Going” ของ เจนนิเฟอร์ ฮอลลิเดย์

9. ความรักชนะทุกสิ่ง 

เพลงที่เล่าถึงความรักที่สมหวัง แม้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งการยอมรับของคนรอบข้าง การตีตราของสังคม แต่ด้วยความไม่ย่อท้อและความรักที่มีมากพอ ทำให้เอาชนะปัญหาทุกอย่างไปได้ เช่น “Same Love” ของ แม็กเคิลมอร์ และ ไรอัน ลูอิส, “Ain’t No Mountain High Enough” ของ ไดอานา รอสส์

10. ฉันไม่แคร์ เชิด

ใช้ชีวิตในแบบที่ตนต้องการ ท่ามกลางความคาดหวังของคนอื่น แต่ก็ไม่สนใจและประกาศให้โลกได้รู้ไปเลยว่าตัวเองเป็นใคร เช่น “I’m Coming Out” ของ ไดอานา รอสส์ , “I Am What I Am” ของ กลอเรีย เกย์เนอร์

 

“I Will Survive” เพลงชาติที่ไม่ได้ตั้งใจ

เพลงประจำชาติ LGBTQIA+ ที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ คงหนีไม่พ้นเพลง “I Will Survive” ของ กลอเรีย เกย์เนอร์ นอกจากจะเป็นเพลงดิสโก้เร้าอารมณ์ชวนเต้นแล้ว เนื้อเพลงยังพูดถึงการเอาชีวิตรอดจากการเลิกรากับคนรัก แต่ก็ตรงกับชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องเอาชีวิตรอดอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ 

เนื่องจากในปี 2521 ช่วงที่เพลงนี้ถูกปล่อยออกมานั้น สังคมยังคงเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดเชื้อ และตราหน้าว่าชาวเกย์เป็นผู้แพร่เชื้อ HIV และ โรคเอดส์ เพลงนี้จึงเป็นเหมือนการให้กำลังใจและช่วยให้กลุ่ม LGBTQIA+ มีแรงใจในการใช้ชีวิตต่อ และต้องรอดไปให้ได้เหมือนกับเนื้อเพลง

นอกจากนั้น เพลงนี้ยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สุดคลาสสิกของวัฒนธรรมเกย์หลังยุค “การจลาจลสโตนวอลล์” (Stonewall Riots) การประท้วงของคนในชุมชน LGBTQIA+ เพื่อต่อต้านการเข้าจับกุมของตำรวจ จนถึงยุคการแพร่ระบาดของโรคเอดส์

 

“Born This Way” เพลงชาติของทุกคน

แต่หากพูดถึงเพลงชาติ LGBTQIA+ ในยุคปัจจุบัน คงจะไม่มีเพลงไหนที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักเกินไปกว่าเพลง “Born This Way” ของ เลดี้ กาก้า ซิงเกิ้ลหลักจากอัลบั้มชุดที่ 3 ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่ประสบความสําเร็จมากที่สุดของเธอ เพราะสามารถเดบิวต์ขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต “Billboard Hot 100” และทำยอดขายกว่า 1 ล้านชุด ภายในระยะเวลา 5 วัน 

เลดี้ กาก้า ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจของเพลงให้กับนิตยสาร BillBoard ไว้ว่า ต้องการเขียนเพลงชาติของตัวเอง แต่ไม่ต้องการใช้คํากลอนหรือการอุปมาอุปไมยใด ๆ ทั้งสิ้น มันจึงมีเนื้อเพลงท่อนที่ว่า 

“No matter gay, straight or bi / Lesbian, transgendered life / I’m on the right track, baby / I was born to survive” 

 

เนื้อเพลงข้างต้น พูดถึงทุกเพศในอักษรตัวย่อของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศครบทุกตัวอักษร (ในสมัยนั้นที่มีเพียง LGBT+) มาอย่างโต้ง ๆ นอกจากจะเป็นเพลงชาติของกลุ่ม LGBTQIA+ แล้ว ยังเป็นเพลงของทุกคนเพราะในเนื้อเพลงมีการกล่าวถึงแทบทุกชาติพันธุ์ทั้งผิวขาว ผิวดำ เอเชีย คนรวย คนจน ฯลฯ 

มิวสิควีดีโอที่มีความยาวถึง 7.20 นาที ยังสอดแทรกไปด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้ตีความกันอีกด้วย ซึ่งเนื้อหาของมิวสิควิดีโอนั้น มีความสอดคล้องกับเนื้อเพลง Born This Way ที่หมายถึงการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง ไม่ว่าจะเพศใด หรือมีฐานะอย่างไรก็ตาม ทุกคนในสังคมล้วนเท่าเทียม และต่างพยายามอยู่รอดให้ได้ในสังคมนี้

ขณะที่ในท้ายของมิวสิควิดีโอยังมีการอุทิศ ให้แก่ “ไมเคิล แจ็คสัน” และ มาดอนน่า ราชาและราชินีเพลงป็อปอีกด้วย โดยเลดี้ กาก้า สวมถุงมือสีขาวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแจ็คสัน และปิดท้ายด้วยหน้าของกาก้าที่มีฟันหน้าห่างอันเป็นภาพจำของมาดอนนา

อีกนัยหนึ่งก็ต้องการสื่อว่า ทั้งแจ็คสันและมาดอนนา ต่างไม่ได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แจ็คสันเป็นคนผิวดำที่ป่วยเป็นโรคด่างขาว มาดอนนาก็ฟันห่างจนโดนล้ออยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่เลดี้ กาก้าก็เช่นกัน แต่นั่นไม่ได้ทําให้พวกเขาละทิ้งความฝัน ด้วยพยายามและความสามารถทําให้พวกเขาได้มายืนอยู่จุดสูงสุดของวงการ เพราะฉะนั้น อย่าซ่อนความเป็นตัวเอง จงรักและเป็นตัวของตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้ว “We were Born This Way


 

บทความโดย: กฤตพล สุธีภัทรกุล

ที่มา: BillBoard, BillBoard, Forbes, The Atlantic, The Bristol MagThe GuardianUSA Today, Zenodo