“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” เดิมพันกับ "ใต้หล้า" ผู้กำกับคือกระบอกเสียงของสังคม

“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” เดิมพันกับ "ใต้หล้า" ผู้กำกับคือกระบอกเสียงของสังคม

กระเทาะเปลือกความคิดผู้กำกับมือรางวัล “สันต์ ศรีแก้วหล่อ” ที่ขอเดิมพันครั้งสูงสุดกับละคร “ใต้หล้า” ด้วยความหวังที่จะสร้างความหลากหลายให้ละครไทย พร้อมตอกย้ำอุดมการณ์ส่วนตัวว่า “ผู้กำกับ” มีหน้าที่ต้องบอกอะไรแก่สังคมแทนคนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง

“เราอยู่ในงานหรืออยู่ในหน้าที่ที่สามารถบอกอะไรกับสังคมได้แบบเสียงดังๆ แบบที่คนปกติอาจจะบอกแล้วเสียงไม่ดังเท่า แต่เราสามารถบอกได้ผ่านงานของตัวเรา เพราะฉะนั้น ผมว่าอย่างไรเสียมันเป็นหน้าที่ ไม่ว่าจะทำงานชิ้นไหนก็แล้วแต่ ต้องบอกอะไร และให้อะไรแก่สังคมอยู่เสมอๆ”

คือคำกล่าวของ “สันต์ ศรีแก้วหล่อ” ที่มีต่อบทบาทหน้าที่การเป็นผู้กำกับของเขา ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในละคร “ใต้หล้า” ที่กำลังเข้มข้น ออกอากาศอยู่ทางช่องวัน 31 ณ ขณะนี้

ละครที่คุณกำกับประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในแง่ของเรตติ้งและเสียงวิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็น ล่า, วันทอง 2021, พิษสวาท, เมีย, ชิงชัง คุณมีวิธีการเลือกอย่างไร

 

มันต้องพิจารณาจากหลายประเด็น ลำดับแรกต้องเชื่อเรื่องนั้นๆ ให้ได้ก่อน เชื่อพล็อตว่ามีความเป็นไปได้จริง เชื่อตัวละคร เงื่อนไขต่างๆ นานา แล้วก็หาแรงบันดาลใจอะไรซักอย่างจากละครเรื่องนั้นที่ทำให้เราอยากทำ

มีเรื่องของความถนัดรวมอยู่ด้วย สไตล์การทำงานที่ผ่านๆ มามันเหมาะจะไปในทิศทางไหน เรื่องนี้มันเหมาะกับเราไหม มีประเด็นอะไรน่าสนใจไหมในเชิงโปรดักชั่น แบบนี้ไม่เคยทำ แบบนี้ทำแล้ว แบบนี้ท้าทายดี มันหลายอย่างครับ

ละคร “ใต้หล้า” มีอะไรน่าสนใจจนคุณถึงกับพูดว่า “ตายตาหลับแล้วที่ได้ทำ”

เราก็ทำละครมาเยอะ มีแป้กก็เยอะ ดังก็มี (หัวเราะ) เราคงพอมีประสบการณ์ คาดเดาได้ว่าละครแบบไหนที่คนดูจะชอบ มันไม่ถึงขนาดซื้อหวย แต่มันคงมีซัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ที่เราน่าจะทายถูกว่าทำละครแบบนี้แล้วคนดูชอบ “แต่สิ่งนี้อาจจะไม่ใช่ใต้หล้า”

ใต้หล้า ผมขอใช้คำว่าไม่ใช่ละครสูตร ไม่ใช่ละครแก่งแย่งตบกันแย่งผู้ ไม่ใช่ละครแย่งพินัยกรรม ไม่ใช่ละครแก้แค้น ไม่ใช่ละครแฟนตาซี ไม่ใช่ละครซีจี ไม่ใช่ละครพีเรียด มันเป็นละครที่เล่าชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับโชคชะตาบางอย่างของชีวิตที่เค้ารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมกับตัวเค้า

มันเป็นการดำเนินชีวิตของเด็กผู้ชายคนนึงตั้งแต่เด็กยันโตแล้วเราก็มานั่งดูชีวิตเค้า มีความรัก มีดรามา มีนู่นมีนี่ แต่มันไม่ใช่ละครปกติที่เราเห็นกันบ่อยๆ ที่ทุกคนคุ้นชินกัน ทั้งจากงานของบริษัทและลายมือของตัวเอง ผมว่ามันมีความเฉพาะตัวที่แตกต่างอยู่ แล้วผมรู้สึกว่า ถ้าเรตติ้งมันได้ ถ้าคนดูชอบ มันจะดี

แต่ถ้าไม่ได้ขึ้นมา ผมก็ยังมีความสุขดีที่ได้ทำ ที่ได้พูดสิ่งนี้ ส่วนกำไรคือ คนดูจะชอบและมีเรตติ้ง แล้วถ้าคนดูชอบและมีเรตติ้งขึ้นมา ในภาพรวมมันก็จะทำให้มีความหลากหลายของละครเกิดขึ้น นั่นคือความคาดหวังสูงสุด มีละครหลากหลายแนวเกิดขึ้น

ยุคนึงเคยมีคนพูดว่า ละครกล่อง ละครน้ำดี มักไม่มีคนดู เรตติ้งน้อย ก็เข้าใจได้ไม่ได้ขัดแย้งหรือไม่ได้ว่าใครหรืออะไรด้วยนะ มันก็เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงที่เป็นแบบนั้น แล้วคราวนี้ เราในฐานะคนที่ทำละครค่อนข้างแมสพอสมควร เลยลองมาจับประเด็นแบบนี้ ลองมาเล่าเรื่องด้วยวิธีการแบบนี้ในละคร “ใต้หล้า” ที่อาจจะไม่ค่อยแมสนัก แต่เราก็เชื่อว่าเขย่าจนแมสแล้ว ก็หวังใจว่าคนดูจะชอบ จะมีเรตติ้ง แต่ในขณะเดียวกันก็บอกได้ว่าตัวเองมีความสุขมาก

 

แก่นของ “ ใต้หล้า” คืออะไร

มันพูดเรื่องคุณธรรม ความถูกต้อง ความผิด การให้อภัย มิตรภาพ การต่อสู้ มันมีหลายๆ อย่างในนั้น แต่ถ้าผมสรุปจากคำว่า “ใต้หล้า” ก็คงเป็นว่า ใต้หล้านี้ ใต้ฟ้านี้มีทุกคนอยู่ในโลกใบนี้ มันก็คงเหมือนแบบว่า อยากให้ทุกคนเท่ากัน มันก็จะมีคำขยายในละครว่า “เท่ากัน” ในที่นี้หมายถึงอะไร

 

การทำงานกับพระเอก “ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร”

สนุกมาก เรื่องนี้คุยกันเยอะ แลกเปลี่ยนกันเยอะพอสมควร เพราะมันมีบางประเด็น บางสถานการณ์ของเรื่องที่เราเล่าไปแล้วแบบว่า...เราจะไปถึงตรงนี้กันไหม ถ้าไปถึงทัวร์ลงไหม มันมีความรู้สึกอะไรแบบนี้อยู่ประมาณนึง แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้มันมีความเสี่ยงหรืออะไรนะ เพียงแต่ว่า ละครสะท้อนสังคม ละครที่พูดถึงหรือชี้นำสังคมยังไงมันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดอะไรแบบนี้

กับต่อก็พูดเรื่องนี้กันอยู่พอสมควร แต่ท้ายที่สุดเราก็ตกลงกันว่าถ้าจะไปก็ไปด้วยกัน ไปให้สุด เพราะฉะนั้น มันก็เลยสนุก ดีงาม

เรื่องความสามารถ อะไรต่างๆ เราไม่ต้องพูดถึง ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเค้าเก่ง เค้าพัฒนาตัวเอง มีความปรารถนาอยากจะไปถึงคาแรกเตอร์ต่างๆ อย่างชัดเจน อันนี้ไม่มีใครสงสัย เค้ายังเป็นแบบนั้นอยู่เสมอ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาคุยว่าตัวละคร “ใต้หล้า” จะต้องเป็นยังไง พัฒนาไปด้วยกัน หาไปด้วยกัน ความสนุกมันก็คือ เราได้พูดสิ่งที่เราอยากพูด และตั้งใจพูดด้วยกันอย่างจริงจัง

 

“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” เดิมพันกับ \"ใต้หล้า\" ผู้กำกับคือกระบอกเสียงของสังคม

 

แล้วนักแสดงชั้นครูคนอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ผมบอกได้อย่างหนึ่งว่า จุดขายของใต้หล้ามีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือบทและเรื่องที่สนุก เข้มข้นมาก สอง คือ การแสดงของนักแสดงทุกคนในเรื่อง แค่ได้ดูนักแสดงเหล่านี้เล่นก็เพลินแล้ว ในแง่ ผู้กำกับมันคือสวรรค์ สบาย ไม่ว่าจะเป็น พี่ดอม อาตู่ อาดาว พี่โต๊งเหน่ง โอ อนุชิต ภูริ อ๋อม เต๋า แต่ละคนเทพๆ ทั้งนั้น แทบจะไม่ต้องอะไรมากมาย

ผมกำกับค่อนข้างน้อย แต่ใช้เวลาในการทำความเข้าใจหรือการตีความเป็นหลัก เค้าจะทำอะไร ส่วนใหญ่เป็นสิทธิ์ของนักแสดงเลย ผมจะตีความแค่ว่า ซีนนี้จะเศร้าประมาณนี้ โกรธประมาณนี้ คิดมุมนี้เป็นหลัก แต่ไม่ได้ไปกำหนดอะไรเลย เพราะทุกคนแจ๋วอยู่แล้ว

นอกจากนักแสดงขั้นเทพก็มีเด็กในบ้าน อย่าง ไบรท์, เบญ, เพลงขวัญ ที่เทียบกันแล้วอาจจะเป็นมวยรอง แต่สิ่งที่ออกมาก็โชว์ว่า สามคนนี้สู้ไหว และสู้สุดตัวจริงๆ ในแง่การแสดง ในแง่การปล่อยแสง ปล่อยพลังกัน ผมว่าสู้ไหว และสมน้ำสมเนื้อ

 

คุณทำละครมา 20 กว่าปีแล้ว อยากให้เล่าถึงพัฒนาการของละครไทยในสายตาคุณหน่อย

ละครเรื่องแรกในชีวิตของผมคือ “หน้าต่างบานแรก” ทางไอทีวี ตอนนั้นกำกับร่วมกับผู้กำกับอีกคน น่าจะเป็นงานแรกของน้องพลอย เฌอมาลย์ กับเต้ นันทศัย ส่วนเรื่องแรกกับเอ็กแซกต์คือ ฟ้าเพียงดิน เสือ เลือดขัตติยา

มันมีความเปลี่ยนแปลงเยอะมากในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา หลักๆ เลยคือ คนดูเปลี่ยน และช่องทางการดูเปลี่ยน เอาแค่สองอย่างนี้ผมว่าคนทำงานก็ต้องเปลี่ยนตามให้ทันแล้ว รสนิยมของคนดูสมัยนี้ เผลอๆ จะดูงานเยอะกว่าคนทำอีก เพราะมีเน็ตฟลิกซ์ มีโน่นนี่นั่นให้ดูกันเต็มไปหมด แล้วยิ่งถ้าเป็นคนดูแบบมืออาชีพนี่ เล่นมาแบบนี้ เล่ามาแบบนี้ เค้ารู้แล้วว่าตอนปลายจะเป็นยังไง

ในขณะเดียวกัน ช่องทางการดูก็เปลี่ยนไป ไม่มีละครดังแล้วถนนโล่งเพราะคนรีบกลับไปดูอีกต่อไปแล้ว มันไม่มีสิ่งนั้นเกิดขึ้นในโลกนี้อีกต่อไปแล้ว ทุกคนมีมือถือ มีแทปเล็ตเป็นของตัวเอง จะดูเวลาเดียวกันก็ได้ จะดูย้อนหลังก็ได้ จะดูเมื่อฉันพร้อมอยากดูก็ได้ เราคนทำงานก็ต้องปรับตัวให้ทัน

เพราะว่าถึงที่สุดแล้วงานที่ออกมา อย่างไรเสีย หกเจ็ดสิบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ก็ยังคงวัดด้วยเรตติ้ง ไม่ว่าจะในมุมมองของคนดู มุมมองของคนทำงาน ในมุมของเอเจนซี่ที่จะมาซื้อโฆษณา เพียงแต่ว่าอัตราส่วนต่างกันออกไป สมัยก่อนเรตติ้งขึ้นไปสามสิบ สมัยนี้อาจจะไม่ได้ถึงจุดนั้น

เพราะฉะนั้นคนทำก็มีหน้าที่ ทำยังไงให้เรตติ้งมันยังได้อยู่ ทำยังไงให้คนที่ดูในเวลาอื่นสนใจอยากจะมาดูในเวลาที่เป็นช่องสดในโทรทัศน์ เพื่อให้มีการพูดถึง วิธีการมันต้องปรับเปลี่ยนไป

 

“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” เดิมพันกับ \"ใต้หล้า\" ผู้กำกับคือกระบอกเสียงของสังคม

 

ละครของคุณบาลานซ์ได้ทั้งในเรื่องของความแมสและความลึกของเนื้อหา คุณทำอย่างไร

ในความเชื่อส่วนตัว คนทำละครเป็นสื่อสารมวลชนแน่ๆ เราอยากบอกอะไรกับคนดู เราอยากบอกอะไรกับสังคม เมื่อเราทำสิ่งนั้นไปแล้ว คนดูและสังคมควรจะรับรู้ได้ อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวนะ แต่ถ้าทำหรือบอกไปแล้วไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครเก็ตกับสิ่งที่เราบอก ผมว่า มันก็จะเป็นการสื่อสารที่ขาดตกบกพร่องหน่อยๆ อาจจะเป็นการสื่อสารที่ล้มเหลวเพราะไม่มีใครเข้าใจแมสเสจเรา

เพราะฉะนั้น ในความรู้สึกผมก็เลย อย่างไรเสียผมก็ต้องแคร์สิ่งที่ออกมาว่าคนดูรู้เรื่องไหม คนดูเก็ตสิ่งที่เราบอกไหม แล้วถ้าคนดูพัฒนาขึ้น เราจะมาบอกแบบเดิมไม่ได้ เราต้องหาวิธีบอกอีกอย่างนึง แต่เค้าต้องสนุกกับสิ่งที่เราบอกไป แล้วคิดได้ด้วย ในความคิดผมนะ

 

มีสิ่งใดที่ควรเปลี่ยน ไม่ควรมีแล้วในละครยุคนี้ เช่น พระเอกข่มขืนนางเอก

อันนี้ผมเห็นด้วยเลย ความคิดของสังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถฟินจิ้นกับสิ่งนั้นได้แล้ว สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือสิทธิสตรีอะไรก็แล้วแต่มันมีการพูดถึงเยอะแยะ ถ้าอะไรส่งเสริมสิ่งที่ไม่ดีมันก็ไม่ควรทำ อย่างพระเอกข่มขืนนางเอก ในโลกความเป็นจริงสมัยนี้มันจะมีผู้หญิงกลับมารักผู้ชายที่ข่มขืนตัวเองได้ไหมล่ะ

แล้วยิ่งตอนที่ผมทำละครเรื่อง “ล่า” มันลุยไปสุดด้านนั้นแล้ว ผมชัดเจนมาก แล้วยังเชื่อมาถึงบัดนี้ว่า “ข่มขืนเท่ากับประหาร” ล่า บอกตรงนั้นชัดเจน

สิ่งที่ละครเรื่อง “ล่า” พยายามบอกอย่างชัดเจนอีกประเด็นหนึ่งก็คือ “โทษข่มขืนบ้านเรามันน้อย มันเบา” ติดคุกแป๊ปเดียว สิบปี รับสารภาพ ลดหย่อนโทษ ปีกว่าๆ สองปีคุณก็ออกมาแล้ว พอออกมาก็ทำอีก แล้วมันก็มีให้เห็น แต่ถามผมว่าผมอยากให้ฆ่าทุกคนรึเปล่า เปล่า แค่จะบอกว่าทำให้โทษมันรุนแรง คนมันก็จะทำน้อยลงเอง ในความคิดผมแบบซื่อ ๆ

เพราะฉะนั้น ค่านิยมหรือแนวคิดบางอย่างที่มันไม่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในสังคม เราก็ไม่ควรถ่ายทอดออกไปในละครนั้นเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะในเรื่องใด จริงๆ มันเล็กๆ น้อยๆ ด้วยซ้ำ เวลาเราดูซีรีส์ต่างประเทศ เค้าอยากสอนอะไรเค้าก็ใส่ลงไปในนั้นได้ ซึ่งถ้าเราทำได้เราก็ทำ

 

“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” เดิมพันกับ \"ใต้หล้า\" ผู้กำกับคือกระบอกเสียงของสังคม

 

มีความคับข้องใจบ้างไหมที่คนชอบบอกว่าละครชาติอื่น อย่าง เกาหลี ดีกว่าละครไทย

ไม่ได้รู้สึกคับข้องใจเพราะเมื่องานมันออกสู่สาธารณะไปแล้ว มันไม่ใช่งานของเราอีกต่อไป มันเป็นงานของคนดูสามารถจะด่าทอตบตีชื่นชมได้อยู่แล้ว แต่ผมก็ยืนอยู่ในจุดที่ว่าซีรีส์ต่างประเทศมันก็ไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ซีรีส์ไทยก็ไม่ได้เลวร้อยเปอร์เซ็นต์ มีดีมีชั่วหักบ้างกันไปแล้วแต่คุณจะได้ดูไหม

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบ้านเค้า ละครเรื่องหนึ่งเค้าไปอยู่ในหลักสี่ห้าร้อยล้านบาทต่อเรื่องแล้ว แต่ละครเรายังอยู่ในหลักสี่ห้าสิบล้านบาท มันก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง เค้าสามารถพัฒนาบทสองปีได้ แล้วคนเขียนบทก็ทุ่มเทกับการพัฒนานั้น เพราะอุตสาหกรรมมันเลี้ยงดูเค้าได้

แต่สำหรับของไทย ถ้าจะพัฒนาบทเรื่องหนึ่งสองปี คนเขียนบทเอาอะไรกิน แต่เข้าใจนะ เราก็ยืนอยู่ในจุดที่ว่า ฉันจะพยายามทำสี่สิบห้าสิบล้านบาทนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังชั้นจะทำได้ ใครจะด่าจะว่าก็ไม่เป็นไร ชั้นเข้าใจว่าได้ใช้เงินทุกบาทคุ้มค่าที่สุดแล้ว

 

นิยามของ “ละครไทย” คืออะไร เราต้องพัฒนาหรือรักษาอะไรไว้บ้าง

เอาเข้าจริงผมไม่คิดเรื่องที่ต้องมีเอกลักษณ์หรืออะไรยังไงนะ เพราะเราอยากดูละครเกาหลี คนเกาหลีก็อยากดูอย่างอื่นบ้าง คนจีนก็อยากดูเรา คือเหมือน “คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า” ในความรู้สึกผมนะ

แต่ละครไทยจะทำยังไงให้บทน่าติดตาม ทำยังไงให้เรื่องสนุก ทำยังไงให้ตรรกะมันไม่งง ทำยังไงให้โปรดักชั่นที่เรามีเงินน้อยกว่ามันพอจะเทียบเคียงกับเค้าได้ในแบบที่ไม่ถึงขนาดว่าเราทำแบบชุ่ยๆ ผมว่าเราทำอะไรก็ได้ที่มันตอบสิ่งเหล่านี้ได้ ยังไงซะเดี๋ยวมันก็จะไปออกสู่สายตาชาวโลกได้เอง

ผมว่ามีเงินสี่สิบห้าสิบล้านแล้วมาทำแข่งกัน เราอาจจะชนะก็ได้นะ ใครจะไปรู้ (หัวเราะ) ภายใต้งบน้อยๆ ภายใต้เวลาอันจำกัด เราอาจจะชนะก็ได้ แต่ว่าเราก็ไม่ได้ไปตีอกชกหัวกับสิ่งที่มันเป็นแบบนี้ เราก็เข้าใจและทำมันอย่างดีที่สุด

 

“สันต์ ศรีแก้วหล่อ” เดิมพันกับ \"ใต้หล้า\" ผู้กำกับคือกระบอกเสียงของสังคม

บทบาทของผู้กำกับทั้งในสถานะวิชาชีพ และต่อสังคม คุณมองอย่างไร

เราอยู่ในงานหรืออยู่ในหน้าที่ที่สามารถบอกอะไรกับสังคมได้แบบเสียงดังๆ ที่คนปกติอาจจะบอกแล้วเสียงไม่ดังเท่า เราสามารถบอกได้ผ่านงานของตัวเรา เพราะฉะนั้น ผมว่าอย่างไรเสียมันเป็นหน้าที่ที่ไม่ว่าจะทำงานชิ้นไหนก็แล้วแต่ จะต้องบอกอะไรและให้อะไรแก่สังคมอยู่เสมอๆ มันเป็นหน้าที่

ถ้าละครเรื่องที่จะทำคิดไม่ออกว่าจะบอกอะไร หรือไม่รู้ว่าจะบอกอะไร ผมก็จะไม่ทำ แต่เราไม่จำเป็นจะต้องไปบอกเรื่องเดียวกันกับคนอื่น เราไม่จำเป็นต้องไปบอกเรื่องนั้นที่กำลังคุกรุ่นรุนแรง เราบอกอะไรก็ได้เพื่อให้คนเข้าใจ และทำสิ่งนี้แล้วทำให้สังคมมันดีขึ้นอะไรก็ได้

 

อยากฝากอะไรเกี่ยวกับละคร “ ใต้หล้า”

ในความรู้สึกส่วนตัว “ใต้หล้า” สำหรับผม เดิมพันค่อนข้างสูง ผมมีความสุขและยินดีกับการได้ทำโปรเจคต์นี้ และการได้พูดสิ่งนี้ในโปรเจคต์นี้ แต่ผมก็ไม่รู้หรอกว่าท้ายที่สุดแล้วผลมันจะออกมาเป็นยังไง ถามว่าอยากให้ได้ไหม ก็อยากให้ได้ เพราะถ้าสมมุติว่ามันได้ มันก็จะเกิดความหลากหลาย เกิดละครแบบนี้ขึ้นมาอีก มันจะมีพัฒนาการของวงการอะไรซักอย่างนึง เราก็แค่เริ่มเป็นส่วนเล็ก ๆ นิดนึงเท่านั้นเอง

รู้สึกว่าตัวเองเดิมพันกับความเชื่อของตัวเองค่อนข้างสูงเหมือนกันว่า ถ้าฉันไม่ทำแบบที่ฉันเคยทำมา มันจะสำเร็จไหม เท่านั้นเองครับ อยากฝากทุกท่านลองดูกัน หวังใจว่ามันจะรอด

 

หมายเหตุ : ละคร “ใต้หล้า” ออกอากาศทางช่องวัน 31 ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 20.20 - 22.20 น.ขณะนี้กำลังเข้มข้น และดำเนินมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว