ไม่ใช่แค่ "ลาพักใจ ลาแปลงเพศ" ส่อง 10 "สวัสดิการ" ที่มาแรงทั่วโลกปี 2022

ไม่ใช่แค่ "ลาพักใจ ลาแปลงเพศ" ส่อง 10 "สวัสดิการ" ที่มาแรงทั่วโลกปี 2022

เมื่อ "วันลา" สำคัญกับพนักงานออฟฟิศ ทำให้ผู้ประกอบการหลายองค์กรเริ่มปรับ "สวัสดิการ" ใหม่ให้เข้ากับความต้องการของลูกจ้างยุคใหม่มากขึ้น ทั้งการลาแปลงเพศ ลาพักใจ รวมถึงให้สวัสดิการแต่งงานเพศเดียวกันเทียบเท่าคู่ชายหญิง

เรียกเสียงฮือฮาในแวดวง "พนักงานออฟฟิศ" ได้ไม่น้อย กับกรณีบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ที่ประกาศปรับเพิ่มสวัสดิการ "วันลา" ให้กับพนักงานศรีจันทร์ ทั้งเพิ่มวันลาคลอด สูงสุด 180 วันต่อปี, ลาดูแลภรรยาหลังคลอดบุตร, ลาผ่าตัดแปลงเพศกลุ่ม LGBTQ+, ลาพักใจจากการสูญเสีย เป็นต้น 

ไม่ใช่แค่ \"ลาพักใจ ลาแปลงเพศ\" ส่อง 10 \"สวัสดิการ\" ที่มาแรงทั่วโลกปี 2022

ด้าน LINE MAN Wongnai ก็ไม่น้อยหน้า มีการปรับสวัสดิการให้พนักงานตามแก่นหลักของวัฒนธรรมองค์กร คือ ส่งเสริม "ความเท่าเทียม" กันทุกด้านโดยไม่เลือกเพศหรืออายุ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกจ้างยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ โดยได้เพิ่มสวัสดิการ "เงินสนับสนุนสำหรับการแต่งงานเพศเดียวกัน 20,000 บาท" เทียบเท่าคู่ชายหญิง, สิทธิวันลารับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงสูงสุด 10 วัน, สิทธิวันลาสำหรับผ่าตัดแปลงเพศ สูงสุด 30 วัน 

จากทั้งสองกรณีนี้ ดูเหมือนเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการปรับปรุงสวัสดิการลูกจ้างขององค์กรไทย รู้หรือไม่? ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่องค์กรทั่วโลกก็มีการปรับปรุงเรื่อง "สวัสดิการ" ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพนักงานออฟฟิศยุคนี้มากขึ้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่อง 10 เทรนด์สวัสดิการมาแรงทั่วโลก อัปเดตล่าสุดในปี 2022 มาดูกันว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกับองค์กรในไทยข้างต้นอย่างไรบ้าง? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

มีข้อมูลผลสำรวจจาก Ben Benefit Outlook ซึ่งได้สำรวจเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานในองค์กรภาคธุรกิจกว่า 300 แห่งว่าพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนสวัสดิการของลูกจ้างให้เข้ากับวิถีของคนยุคใหม่อย่างไร

รวมถึงผลสำรวจจาก The New World of Work ที่มีการศึกษาวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อนำผลสำรวจทั้งสองส่วนมาวิเคราะห์ ทำให้มองเห็นแนวทางและเทรนด์การปรับปรุง "สวัสดิการ" ให้ลูกจ้างในยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากอดีต ดังนี้ 

1. สวัสดิการด้านสุขภาพกาย

จากผลการสำรวจข้างต้นพบว่า หลายๆ บริษัทให้การสนับสนุนด้านสุขภาพร่างกายของพนักงานมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคโควิดพบว่าองค์กรเข้ามาดูแลสุขภาพลูกจ้างทั้งด้านตรวจสุขภาพประจำปี มอบประกันสุขภาพต่างๆ และยังเพิ่มการดูแลด้านฉีดวัคซีนป้องกันโควิด บางแห่งมอบการเป็นสมาชิกฟิตเนส หรือให้ค่าตอบแทนกรณีซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายที่บ้าน เป็นต้น

2. สวัสดิการด้านสุขภาพจิต

ผลสำรวจพบว่า 44% ของนายจ้างยุคนี้ ดูแลสวัสดิการพนักงานด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงปี 2020 - 2021 ที่ทั่วโลกเจอวิกฤติโควิดอย่างหนัก ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของพนักงานด้วย

เทรนด์ปีนี้จึงเห็นได้ว่านายจ้างหลายบริษัทหันมาให้สวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพจิตพนักงานมากขึ้น เช่น การลงทุนจ้างนักจิตวิทยามาดูแลให้คำปรึกษาแก่พนักงาน หรือการนำแอปฯ ด้านสุขภาพจิตมาให้บริการแก่พนักงาน เพื่อให้พวกเขามีความสุขและสุขภาพจิตดี 

ไม่ใช่แค่ \"ลาพักใจ ลาแปลงเพศ\" ส่อง 10 \"สวัสดิการ\" ที่มาแรงทั่วโลกปี 2022

3. จัดกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน

เมื่อโควิดทำให้พนักงานต้อง Work From Home ทำให้คนในทีมหายหน้าและขาดการเชื่อมต่อ หนึ่งในเทรนด์สวัสดิการยุคใหม่คือ การสร้างกิจกรรมการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยอาจอยู่รูปแบบ "โซเชียล Zoom" มีการแจกรางวัลน้อยๆ ส่งให้ถึงบ้าน หรือการมอบรางวัลยกย่องพนักงานดีเด่น หรือไปทำกิจกรรมอาสาด้วยกัน ฯลฯ กุญแจสำคัญคือการหาวิธีที่มีความหมายเพื่อให้พนักงานมีความสุข มีส่วนร่วม และรู้สึกถึงความสำเร็จร่วมกัน

4. การช่วยเหลือดูแลบุตรหลาน

อีกหนึ่งสวัสดิการสำคัญสำหรับพนักงานที่มีครอบครัว คงหนีไม่พ้น สวัสดิการดูแลลูกหรือเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงโควิดสถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็กปิดตัวไปหลายแห่ง ดังนั้น บางบริษัทจึงมีการปรับสวัสดิการให้พนักงานที่มีลูก นำลูกมาฝากที่ศูนย์ดูแลเด็กที่ออฟฟิศได้

5. สวัสดิการเลือกเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น

อีกหนึ่งสวัสดิการที่ลูกจ้างหลายคนต้องการในยุคนี้คือ การทำงานที่ยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะพนักงานที่มีลูก พวกเขามักต้องการเวลาอยู่บ้านมากขึ้นเพื่อเลี้ยงลูก แต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานไปด้วยได้ หลายองค์กรจึงมีการปรับสวัสดิการเรื่องนี้ โดยให้ลูกจ้างสามารถเลือกเวลาทำงานได้เอง ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของชีวิตแต่ละคน ถือเป็นการสนับสนุนให้ลูกจ้างมีความสุขในการทำงานได้อีกทางหนึ่ง

6. ให้พนักงาน Work From Home ได้ต่อเนื่อง

หลังยุคโควิด จะเห็นว่าหลายบริษัทออกประกาศเรียกพนักงานที่ WFH ให้เข้ามาทำงานในออฟฟิศ แต่นั่นกลับทำให้พนักงานจำนวนหนึ่ง "ลาออก" จากบริษัท เพราะรู้สึกว่าการทำงานในออฟฟิศไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตพวกเขาอีกต่อไป ทำให้องค์กรหลายแห่งเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ และมีการปรับสวัสดิการให้ลูกจ้างทำงานทางไกลได้ หรือมีตัวเลือกให้ WFH ต่อเนื่องได้ โดยกำหนดให้เข้าออฟฟิศเพียง 2-3 วันต่อสัปดาห์ 

7. ประกันสัตว์เลี้ยง

เมื่อผู้คนยุคนี้ไม่อยากมีลูก แต่เลือกที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูก หรือเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นพนักงานยุคนี้จึงมองหา "ประกันสัตว์เลี้ยง" เป็นหนึ่งในสวัสดิการสำคัญ หากนายจ้างสามารถดูแลสวัสดิการตรงนี้ได้ ก็จะมีผลให้ลูกจ้างทำงานที่องค์กรได้อย่างมีความสุข และเห็นว่าองค์กรใส่ใจทุกคนอย่างเท่าเทียม

ไม่ใช่แค่ \"ลาพักใจ ลาแปลงเพศ\" ส่อง 10 \"สวัสดิการ\" ที่มาแรงทั่วโลกปี 2022

8. Paid Time Off ที่ยืดหยุ่น

Paid Time Off (PTO) หมายถึง การลาหยุดที่บริษัทยังคงจ่ายค่าจ้างให้ หลายบริษัทในยุคนี้มีการปรับสวัสดิการ "วันลา" ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ให้พนักงานลางานได้หลากหลายกรณีมากขึ้น โดยที่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้เช่นเดิม เพราะลูกจ้างแต่ละคนมีเหตุจำเป็นในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

การปรับให้ PTO ยืดหยุ่นได้ จึงถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ขององค์กรที่จะได้ใจลูกจ้างไปเต็มๆ โดยอาจให้แต่ละคนกำหนดจำนวนวันลาในแต่ละกรณีที่ต้องการ (ภายใต้ความเหมาสม) เช่น เลือกลาหยุดในวันหยุดตามประเพณี วันเกิด หรือเมื่อสุขภาพจิตย่ำแย่ เป็นต้น

9. โปรแกรมสุขภาพทางการเงิน

สถานการณ์โรคระบาดโควิดทำให้พนักงานออฟฟิศหลายคนประสบกับภาวะการเงินย่ำแย่ และบางคนก็ไม่มีความรู้ทางการเงิน แต่ในฐานะบริษัท การให้สิทธิพิเศษแก่ลูกจ้างเป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อดูแลให้ลูกจ้างรอดจากวิกฤตินี้ไปด้วยกัน องค์กรหลายแห่งจึงมีสวัสดิการด้านการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกจ้าง ให้สิทธิพิเศษการเลือกซื้อหุ้นกับทางบริษัทและผลตอบแทน เป็นต้น

10. ตัวเลือกสวัสดิการเฉพาะส่วนบุคคล

บางครั้งการจัดทำสวัสดิการให้พนักงานทุกคนในรูปแบบเหมือนๆ กัน อาจเป็นสิ่งที่ยาก (เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลทุกกรณี) ดังนั้นบริษัทบางแห่งจึงเลือกที่จะมอบสวัสดิการแบบส่วนบุคคลแทน

โดยเสนอชุดสวัสดิการแบบแพ็กเกจให้พนักงานเลือกเองได้ตามที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น เลือกสวัสดิการการดูแลบุตร, เลือกสวัสดิการประกันภัยสัตว์เลี้ยง, เลือกสวัสดิการสิทธิซื้อหุ้นและผลตอบแทน เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำงานร่วมกัน

-------------------------------------

อ้างอิง : zenefits/workest, TheNewWorldofWorkbenefits-outlook