ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยสื่อสาร “คืนคนดีสู่สังคม”

ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยสื่อสาร  “คืนคนดีสู่สังคม”

ภาพถ่าย เป็นสื่อที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย ทั้งความงาม ความจริง และกระตุ้นความคิด ดังเช่นภาพถ่ายของ "นพพล ชูกลิ่น" นักธุรกิจที่ช่วยเหลือสังคม

นิทรรศการ “สามกรุงสำแดงภาพ” ครั้งที่ 3 ตอน : ร่วมทาง จัดขึ้นโดย บุณฐไชย ไชยวิรุณเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์อบรมถ่ายภาพสามกรุง, ธเนศ จารุธรรมวงศ์ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด, ดร. นิวรรณ เตือนใจยา บริษัท บิ๊ก คาเมร่า

จัดงานเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 โดย ยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพถ่าย) ประจำปี 2550 

เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานภาพถ่ายของ 44 ศิลปินนักถ่ายภาพ จำนวน 149 ภาพ ที่มีเนื้อหา เรื่องราว แนวคิด ศาสตร์การถ่ายภาพที่หลากหลาย เช่น แลนด์สเคป, พอร์ตเทรท, วิถีชีวิต, นามธรรม ทั้งภาพเดี่ยวและภาพชุด

ในงานมีการเสวนา “เกลาความคิด ชีวิตการถ่ายภาพ โดยศิลปินถ่ายภาพ 4 ท่าน ได้แก่ สุรินทร์ บัญญัติปิยพจน์, เกรียงไกร ไวยกิจ, จิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์, กำธร เภาวัฒนาสุข 

ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยสื่อสาร  “คืนคนดีสู่สังคม”

มาบอกเล่าแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างกัน ให้รู้ถึงกระบวนความคิด การถ่ายภาพ ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ต้องสั่งสมประสบการณ์มาอย่างมากมาย  

ในงานนี้ไม่เพียงแค่การแสดงภาพถ่ายอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายของแต่ละภาพแฝงอยู่ด้วย

  • ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อ คืนคนดีสู่สังคม

มีภาพนิทรรศการชุดหนึ่ง บอกเล่าเรื่องราวการสร้างอาชีพให้กับ ผู้ต้องขัง โดยศิลปินช่างภาพ นพพล ชูกลิ่น นักธุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชันส์ จำกัด กล่าวถึงที่มาของภาพถ่ายที่นำมาแสดงให้ฟังว่า

“ภาพชุดนี้ถ่ายเพื่อโครงการ Bangkok Rule ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ในการสนับสนุนผู้ต้องขัง ที่ทำมาทุกปี เมื่อครบรอบปีก็จะให้ช่างภาพไปถ่าย ซึ่งก็เป็นผม

ภาพนี้ถ่ายที่เรือนจำสมุทรปราการ นำเสนอมุมมองนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ หลากหลายมุม ภาพที่เป็นเงานี้ คือลายสัก คือหมายเลขที่อยู่ในเรือนจำ

ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยสื่อสาร  “คืนคนดีสู่สังคม”

ผมมีโอกาสได้ลงพื้นที่สัมผัสผู้ต้องขัง จนเกิดเป็นความร่วมมือในการให้ความรู้ และรับผู้ต้องขังเข้ามาทำงานในสถานประกอบการของตนเอง

ผมได้เข้าร่วมโครงการ RoLD (TIJ Executive Program on Rule of Law and Development)

ซึ่งการคืนคนดีสู่สังคม ต้องเริ่มจากแนวคิดของการให้โอกาสผู้ทำผิดพลาด จัดกระบวนการให้เขาสามารถปรับตัวและยืนอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง

ด้วยการให้ความรู้ในการทำงาน เราจะไม่ใช้คำว่า นักโทษ แต่จะใช้คำว่า ทีมพิเศษ แทน”

ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยสื่อสาร  “คืนคนดีสู่สังคม”

  • ฝึกฝนอาชีพให้ความรู้เพื่อเลี้ยงตัวเอง

นพพล บอกว่า ธุรกิจโรงงานเหล็กของเขา มีคนงานกว่า 300 คน มีผู้ต้องขังมาฝึกอาชีพ 30 คนพร้อมกับให้ที่อยู่อาศัย

“เราเป็นภาคเอกชนก็ช่วยเหลือด้วยการให้ความรู้ที่ตรงกับแรงงานที่ตลาดต้องการเพื่อส่งเสริมให้เขามีอาชีพที่แท้จริง เรียกว่าโครงการ SCA (Social contribution activities) ไม่ใช่ CSR เพราะอันนั้นยังเป็นการตอบแทนธุรกิจอยู่ดี

ผมต้องการคนดีคืนสู่สังคมแบบยั่งยืนจริง ๆ เราทำโครงการนี้มา 5 ปีแล้ว เรามีหลายแผนก ไลน์พ่นสี ไลน์ช่างเชื่อม ไลน์เครื่องจักร ถ้าเขาผ่านการใช้งานด้วยเครื่องสล็อตเหล็กยี่ห้อนี้ ค่าตัวเขาแพงแน่

ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยสื่อสาร  “คืนคนดีสู่สังคม”

ตอนนี้น้องสองคนในภาพนี้ได้ไปอยู่โรงงานอื่นแล้ว ได้ค่าแรงวันละ 850 บาท และยังมีอีกหลายอาชีพที่เราได้ทำ ผมไปสร้างอาชีพ คอลเซ็นเตอร์ ในเรือนจำด้วย

นักโทษ 30-40 เปอร์เซ็นต์ต้องย้อนกลับเข้าไปในเรือนจำ เพราะคนรอบตัวไม่ยอมรับ เราต้องทำให้คนยอมรับเขา ด้วยการให้ความรู้ ให้อาชีพที่ตลาดต้องการ

การคืนคนดีสู่สังคมจะไปโทษที่ตัวนักโทษอย่างเดียวไม่ได้ มันเป็นเรื่องของกระบวนการต่างๆ ด้วย อย่างงาน แกะสลัก เขียนรูป ที่ให้ทำมันก็เป็นเรื่องดี แต่มันสร้างรายได้ไม่ได้”

ใช้ “ภาพถ่าย” ช่วยสื่อสาร  “คืนคนดีสู่สังคม”

นิทรรศการ “สามกรุงสำแดงภาพ” ครั้งที่ 3 ตอน : ร่วมทาง จัดแสดง 4 โซน บริเวณโถงชั้น 1, ผนังโค้งชั้น 3, ชั้น 4,  ชั้น 5 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 มิถุนายน 2565 (เว้นวันจันทร์)