"เบาะไหว้เจ้า"หนึ่งเดียวในเมืองไทย "เฮงเสง"เย็บ ด้น ด้วยสองมือ

"เบาะไหว้เจ้า"หนึ่งเดียวในเมืองไทย "เฮงเสง"เย็บ ด้น ด้วยสองมือ

งานคราฟท์บ้านๆ ฝีมือระดับห้าง เฮงเสง "เบาะไหว้เจ้า" หนึ่งเดียวในเมืองไทย เย็บ ด้นด้วยสองมือ(ด้านในยัดนุ่น) คุณค่าที่ยังเหลืออยู่ในเมืองไทย

“ในยุคนี้ยังมีคนทำเบาะไหว้เจ้า เย็บด้วยมืออีกเหรอ”

........

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปไกลแค่ไหน ก็ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ เห็นคุณค่าสิ่งเล็กๆ ที่ทำด้วยมือ  สำหรับคนที่พบเห็นก็ได้แต่ชื่นชม เพราะต้องใช้ทั้งเวลา ความอดทน และความละเอียด 

เมื่อไม่เลือกที่จะทำ ก็ขอสนับสนุนงานคราฟท์เล็กๆ ของคนเล็กๆ เบาะรองนั่งไหว้เจ้า งานคราฟท์ในครอบครัวเล็กๆ เฮงเสง ย่านตลาดน้อย เจ้าสุดท้ายในเมืองไทย

 

ซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ข้างทางในตลาดน้อย สังเกตได้จากหมอนสีแดงๆ วางเรียงรายในตู้โบราณ ส่วนอีกมุมหนึ่งอาม่าวัย 80 กว่าๆ กำลังนั่งเย็บเบาะด้วยสองมือ เฉกเช่นทุกวัน 

จากอากงถึงอาหมวย

"สมัยก่อนมีมุ้งขายด้วย พอมีมุ้งลวดเข้ามาเมืองไทย มุ้งก็หายไป เราก็ทำเบาะสี่เหลี่ยมส่งขายวันละร้อยกว่าลูก และหมอนยัดนุ่นส่งตามโรงแรมของเยาวราช” วิมล เหลืองอรุณ ทายาทรุ่น 3 เฮงเสง ร้านเล็กๆ ที่ทำและจำหน่ายเบาะไหว้เจ้า หมอนยัดนุ่น เล่า

ก่อนหน้านี้ กิจการเล็กของพวกเขา ทั้งทำและขายตั้งแต่ที่นอน หมอน มุ้ง ผลิตด้วยมือ ใช้วัสดุธรรมชาติยัดนุ่น อากงเอี่ยวฮุย แซ่อิ่ว ที่มาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ริเริ่มกิจการ

\"เบาะไหว้เจ้า\"หนึ่งเดียวในเมืองไทย \"เฮงเสง\"เย็บ ด้น ด้วยสองมือ (วิมล เหลืองอรุณ ทายาทรุ่น3 เฮงเสง งานทำมือเบาะไหว้เจ้า  ตลาดน้อย)

วิมล เล่าว่า ช่วงอากงมีชีวิตอยู่ ตอนสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐไม่ให้ซื้อขายผ้า บ้านเราต้องถือตะกร้าเดินแอบไปซื้อผ้า เวลาเย็บผ้าในบ้าน ต้องเปิดเพลงดัง ๆ เพื่อกลบเสียงจักรเย็บผ้า

จากอากง ผู้บุกเบิกกิจการทำหมอน มุ้ง ที่นอนยัดนุ่น มาถึงรุ่นอาม่าจินดารัตน์ อุครกูล ทายาทรุ่นที่ 2 ลูกหลานเล่าว่า คนสมัยก่อนนิยมใช้มุ้ง แม้กระทั่งจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นก็มาสั่งทำมุ้งที่นี่ นางสาวไทยรุ่นที่ 1 ก็เป็นลูกค้าที่ร้าน และครอบครัวดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านเป็นคนตลาดน้อย ก็สั่งที่นอน หมอน มุ้งจากร้านเฮงเสง

\"เบาะไหว้เจ้า\"หนึ่งเดียวในเมืองไทย \"เฮงเสง\"เย็บ ด้น ด้วยสองมือ

(ที่ร้านเฮงเสง ตลาดน้อย ออกแบบประยุกต์เป็นเบาะรองนั่งได้ทุกทีทุกเวลา)

เบาะไหว้เจ้าหนึ่งเดียวในเมืองไทย

พอมาถึงรุ่นแม่วิมล เมื่อมุ้งไม่เป็นที่นิยม จึงหันมาทำเบาะไหว้เจ้าแบบกลม  เลือกผ้าลายดอกโบตั๋น ดอกไม้มงคลของคนจีน สัญลักษณ์ความโชคดี มั่งมีศรีสุข มาทำเป็นปลอกเบาะ จนเป็นที่รู้จัก

ปลอกเบาะกลม ถูกแบ่งสีตามงานที่ใช้ ถ้าเป็นสีแดงใช้ในงานมงคลสมรส ส่วนสีเหลืองใช้ในเทศกาลกินเจ และสีน้ำเงินใช้ในงานพิธีสวดกงเต็ก

เมื่อทายาทรุ่นสามมารับช่วงจัดการธุรกิจเล็กๆ ในครอบครัว จึงได้พัฒนาสินค้าให้มีสีสันมากขึ้น โดยร่วมกับคนรุ่นใหม่ ทีมออกแบบศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC โดยปีแรกและปีที่สอง มีนักออกแบบมาช่วยออกแบบให้มีสีสันมากขึ้น เพราะเห็นว่ารูปแบบเบาะมีปริมาณน้อย คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้

"ทำให้ร้านเรามีรูปทรงดอกไม้ ดอกโบตั๋น คนออกแบบช่วยให้มีสีสันหลากหลายมากขึ้น ปรากฎว่าถูกใจลูกค้า ขายดีมาก ตอนนี้มีวางขายไอคอนสยาม สยามดิสคัฟเวอรี่ ด้วย และมีสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ด้วย "

ร้านเฮงเสง รับทำและจำหน่ายทั้งเบาะไหว้เจ้า หมอน หมอนข้าง หุ้มพลาสติกชุดผ้างานต่างๆ ทำมือทั้งหมดและทำไม่ค่อยทันความต้องการของลูกค้า เพราะร้านแบบนี้มีอยู่ร้านเดียว เบอร์ติดต่อ 082 456 6516

\"เบาะไหว้เจ้า\"หนึ่งเดียวในเมืองไทย \"เฮงเสง\"เย็บ ด้น ด้วยสองมือ (ทำเบาะไหว้เจ้าและหมอนยัดนุ่น ในร้านเล็กๆ ในซอยตลาดน้อย)

...................

หมายเหตุ : จากการร่วมกิจกรรมทริป หลากหลายเรื่องลับ ฉบับไชน่าทาวน์ ของ KTC PR Press Club บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 65