“ติ๊กชีโร่” ศิลปินผู้รันวงการ NFT MUSIC ในประเทศไทย

“ติ๊กชีโร่” ศิลปินผู้รันวงการ NFT MUSIC ในประเทศไทย

เพิ่งออกผลงานเพลงใหม่ที่ชื่อว่า “หยุดเสียที” ออกมาให้ฟังกัน แต่ตัวของ “ติ๊กชีโร่” กลับไม่เคย “หยุด” ในเรื่องของการพัฒนาผลงาน ล่าสุดได้โดดเข้าไปรันวงการศิลปะ NFT จนได้ผลผลิตออกมาเป็น NFT MUSIC เพลงแรกๆ ของประเทศไทยออกมาให้ได้ฟังกัน

เป็นศิลปินที่อยู่ในวงการมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว แต่ “ติ๊กชีโร่” ไม่เคยห่างหายไปไหน ยังคงมีผลงานในรูปแบบต่างๆ ออกมาให้เราเห็นกันอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็นศิลปินที่ทันยุคสมัย ทันเหตุการณ์ตลอด

 

แล้วในยุคที่กระแสคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) กระแส NFT กระแส Metaverse มาแรงแบบในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่า “ติ๊กชีโร่” ย่อมไม่พลาดที่จะคงความนำสมัย ด้วยการเป็นศิลปินรายแรกๆ ของประเทศไทยที่ทำ NFT MUSIC ออกมาให้ได้สัมผัสกัน กับผลงานเพลงที่ชื่อว่า “หยุดเสียที” เพลงป๊อปที่มีกลิ่นอายของฟังกี้โซลนิดๆ แจ๊สหน่อยๆ ที่ไพเราะบาดลึก ด้วยลูกเอื้อนที่เป็นลายเซ็นของ “ติ๊กชีโร่”

  • ฝันให้ไกล...แล้วไปให้ถึง

หากจะเข้าใจความเป็น “ติ๊กชีโร่” ในปัจจุบัน คงต้องย้อนเวลากลับไปยังวัยเด็กที่เขาบอกว่าตัวเองเป็นคนมีความมุ่งมั่นแรงกล้าว่าโตขึ้นจะไปเป็นนักร้อง อยากทำดนตรีให้ดีที่สุด เป็นนักร้องที่ดีที่สุด และได้แต่งเพลงแรกในชีวิตเอาไว้ตั้งแต่ 13 ขวบ มีชื่อว่าเพลง Looking for the Sky

 

“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรฮะ เป็นเพียงฝันกลางวันของเด็กที่ได้เห็น คิว ซากาโมโต เอาเพลง Sukiyaki ขึ้นไปติดชาร์ตบิลบอร์ดได้ แล้วก็มีเพลง Anak (อานัก) ที่องค์การยูนิเซฟนำไปใช้เป็นตัวแทนของการมองย้อนกลับมาเห็นคุณค่าของครอบครัว ตรงนี้เรารู้สึกว่าน่าปลาบปลื้ม อยากจะทำแบบนั้นให้ได้บ้างเหมือนกัน”

 

“ติ๊กชีโร่” ศิลปินผู้รันวงการ NFT MUSIC ในประเทศไทย

Credit : ศุกร์ภมร เฮงประภากร / Nation Photo

เรียกได้ว่าแรงบันดาลใจของเด็กชาย “ติ๊ก ชีโร่” นั้นสูงมากถึงระดับมีเพลงติดชาร์ตบิลบอร์ด ฮอต ฮันเดรด และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศกันเลยทีเดียว ซึ่งเขาก็ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าภาคภูมิใจ เมื่อเพลง “ไชโย” เพลง “ออกมาเต้น” ถูกซื้อไปแปลงเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง เพื่อเป็นตัวแทนของการดูแลรักษาเกาะฮ่องกง และได้เผยแพร่ไปในหลายพื้นที่ทั่วโลกที่มีชาวจีนกวางตุ้งอาศัยอยู่

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเพลงของติ๊กชีโร่ที่ถูกญี่ปุ่นซื้อไป ขณะที่หลายประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของเรา ที่นำเพลงของเขาแทบทุกเพลงไปดัดแปลงเป็นภาษาของตัวเอง รวมไปถึงเรื่องที่ “ติ๊กชีโร่” ได้รับเกียรติให้ขับร้องเพลง SEA GAMES SFC ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ 2007 ครั้งที่ 24 ที่จังหวัดนครราชสีมา

 

(หมายเหตุ : เพลง Sukiyaki ของ Kyu Sakamoto นักร้องชาวญี่ปุ่น เป็นเพลงของศิลปินเอเชียรายแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถติดอันดับ 1 ชาร์ต Billboard Hot 100 ของอเมริกา ได้ในปี ค.ศ. 1963 ก่อนที่จะทิ้งช่วงไปนานถึง 57 ปี จึงมีเพลง Dynamite ของวงบีทีเอส (BTS) ขึ้นไปครองอันดับ 1 ของชาร์ตนี้ได้อีกครั้ง

ส่วน Anak เป็นเพลงภาษาตากาล็อกของ เฟรดดี้ อากีลาร์ ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ ที่ปล่อยออกมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1978 และได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถูกนำไปดัดแปลงหลายภาษา ในบ้านเราถูกวงคาราบาวนำมาแปลงเป็นเพลง “ลุงขี้เมา”)

 

“ติ๊กชีโร่” ศิลปินผู้รันวงการ NFT MUSIC ในประเทศไทย

Credit : ศุกร์ภมร เฮงประภากร / Nation Photo

 

สำหรับคำถามที่ว่าทำไมถึงอยู่ในวงการได้อย่างมั่นคงยาวนานโดยไม่ห่างหายไปไหนเลย ติ๊กชีโร่มองว่าเป็นเพราะเขาทำงานหลายอย่าง อยู่ในหลายส่วนของวงการบันเทิง

 

“ผมเป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน เป็นจิตรกร เป็นอาร์ติส โปรดิวเซอร์ แดนเซอร์ ดีไซเนอร์ สปีคเกอร์ นักแสดง นักพากย์หนัง นักเขียน ดังนั้น เวลามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ติ๊กชีโร่ ก็สามารถไปปรากฎอยู่ในนั้นด้วยบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสถานการณ์ครับ

 

“หลายๆ อย่างที่เกิดในชีวิตของ ติ๊กชีโร่ ทำให้เราสามารถหยิบจับมาใช้ในช่วงเวลา และโอกาสที่สามารถจะอำนวยได้”

 

  • ผู้บุกเบิก NFT MUSIC ประเทศไทย

แล้วพอมาถึงในปี ค.ศ. 2022 นี้ “ติ๊กชีโร่” ก็กลายเป็นศิลปินคนแรกๆ ในบ้านเราที่นำงานศิลปะมาขายในรูปแบบของ NFT จนทำให้เพื่อนๆ ในวงการ ไม่ว่าจะเป็น ปาล์ม วง Instinct, วงบิ๊กแอส, เปิ้ล นาคร ต่างสนใจโทรมาถามไถ่กันมากมาย

 

(หมายเหตุ: NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token เป็นชื่อเรียกของ Cryptocurrency ประเภทหนึ่ง เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้)

 

“ผมเอาเนื้อเพลง “รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” มาแปลงเป็นไฟล์ในรูปแบบที่เข้า NFT ได้ ซึ่งก็ปรากฎว่ามีคนเข้ามาซื้อไปในราคาเกือบ 2 แสนบาท สำหรับเสน่ห์ของ NFT คือความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของชิ้นงานขึ้นไปได้อีก นอกจากนี้ NFT ยังเป็นตลาดที่ไม่มีตัวกลาง ไม่ต้องขายผ่านอาร์ตแกลอรี หรือนายหน้าค้างานศิลปะ เราสามารถเข้าไปขายงานของตัวเองได้ใน Opensea (อเพนซี)

 

ถ้าใครอยากติดตามผลงานในรูปแบบ NFT ของผม เข้าไปที่ Tik Shiro Opensea ได้เลยครับ ลายมือเพลง “รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ก็อยู่ในนั้นเช่นกัน”

 

ติ๊กชีโร่ ผู้ที่ลงไปคลุกคลีกับตลาดนี้ด้วยตัวเองยังเล่าให้ฟังอีกว่า ความน่าสนใจอีกอย่างของ NFT คือ เมื่อเจ้าของขายผลงานไปให้คนที่ 1 แล้ว พอคนที่ 2 ซื้อต่อไป ผู้ผลิตงานก็ยังจะได้รับส่วนแบ่งอีกด้วยเช่นกัน เรียกว่าเป็น smart contract ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะซื้อขายไปกี่ขั้นตอน กี่ครั้ง จนกัลปาวสาน เงินของลูกค้าคนที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก ก็จะกลับคืนมายังผู้ผลิตผลงานมาตลอด

 

“ติ๊กชีโร่” ศิลปินผู้รันวงการ NFT MUSIC ในประเทศไทย

Credit : ศุกร์ภมร เฮงประภากร / Nation Photo

 

  • “หยุดเสียที” NFT MUSIC ที่ไม่ได้หยุดนิ่งเหมือนชื่อ

หลังจากที่ลองชิมลางโลกของ NFT ด้วยการขายงานศิลปะแล้ว แน่นอนว่า นักร้อง ก็ต้องอยากขายเพลงในรูปแบบของ NFT ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เปิดมาต้นปี 2022 ติ๊กชีโร่ จึงปล่อยเพลง “หยุดเสียที” ที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น NFT MUSIC ออกมาให้ฟังกัน ผ่านค่ายเพลง LOMABin Entertainment (อ่านว่า โลมาบิน) ที่เขาร่วมกับ เป็ก วงซีล (ปราชญ์ พงษ์ไชย) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564

 

 

“วันนี้อยากจะให้ทุกคนได้รับรู้ว่าบริษัทโลมาบิน พวกเราตั้งใจจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับความทันสมัย ก้าวเดินต่อไปในโลกดิจิทัล เป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ที่ทุกคนจะต้องเจอ”

 

แล้วเพลงเอ็นเอฟที (NFT Music) ให้อะไรกับคนฟังบ้าง?

 

เพลง “หยุดเสียที” ในรูปแบบ NFT MUSIC จะถูกผลิตออกมาเพียง 22 ชิ้นในโลก คนที่ซื้อไปจะได้สิทธิพิเศษดังนี้

 

1.มีชื่อปรากฎอยู่ตอนท้ายมิวสิควีดิโอเพลงนี้ ซึ่งการได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในชิ้นงานของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบถือเป็นความพิเศษที่หาได้ยากยิ่ง

2.ได้รับเสื้อยืดที่ผลิตออกมาเพียง 22 ตัว ซึ่งความพิเศษอยู่ตรงที่นอกจากจะมีชื่อของตัวเองติดอยู่แล้ว ยังมีการรันเลขที่เอาไว้ ซึ่งเสื้อแต่ละตัวจะมีราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเลขไหนได้รับความสนใจมากกว่ากัน เช่น เสื้อยืดเลข 1/22 อาจจะมีราคาแพงกว่าตัวอื่น หรือเลข 9 ที่คนไทยชอบ เลข 22/22 ที่ตรงกับปี ค.ศ. ที่ปล่อยเพลง ก็อาจจะมีราคาแพงด้วยเช่นกัน

 

ทั้งสองอย่างนี้เป็นความพิเศษที่มีเฉพาะในงานประเภท NFT ซึ่งต่อมาวันหนึ่งคนที่ซื้อเพลง “หยุดเสียที” ในรูปของ NFT ไปในราคา 0.1 อีเธอเรียม (Ethereum) ก็อาจจะนำไปประกาศในราคาเป็น 100 อีเธอเรียม ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับดีมานด์ และซัพพลาย

 

“NFT เป็นโลกยุคใหม่ที่มีความทันสมัย ทำให้คนได้มีโอกาสสานฝันของตัวเองในแบบที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร มีทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียงมาก หรืออาจไม่มีใครรู้จักเลย ผมเชื่อเหลือเกินว่ามันจะเป็นจุดกำเนิด เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของคนที่ทำงานศิลปะ” ติ๊กชีโร่กล่าว

 

เข้าไปรับฟังเพลง “หยุดเสียที” ของติ๊กชีโร่ได้ทาง LOMABin official พร้อมเตรียมรอความสนุกอีกหลายอย่างที่จะตามออกมาในปีนี้

 

“ติ๊กชีโร่” ศิลปินผู้รันวงการ NFT MUSIC ในประเทศไทย

Credit : ศุกร์ภมร เฮงประภากร / Nation Photo