60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

คุยกับ “พันฤทธิ์ เตชะธาดา”นักการเงิน และผู้สืบทอดสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น สำนักพิมพ์เก่าแก่ที่อยู่คู่สังคมการอ่านการเขียนของไทยมากว่า 60 ปี และภารกิจใหม่ในการเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อหา New S-Curve ใหม่ที่มากกว่าธุรกิจสื่อ

ท่ามกลางบรรยากาศของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อปลายมีนาคมที่ผ่านมา  มีความเคลื่อนไหวในแวดวงการอ่านการเขียนที่น่าสนใจคือการจัดงานครบรอบ 60 ปี สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

สำหรับนักอ่าน ทั้งเบบี้บูมเบอร์ เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ และเจนฯ วาย ชื่อของ “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” น่าจะเป็นชื่อสำนักพิมพ์ที่หลายคนน่าจะผ่านหูผ่านตามาสักครั้ง นั่นเพราะตลอด 60 ปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์แห่งนี้ผลิตผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพ็อกเก็ตบุ๊ค นิยายจีนกำลังภายใน พงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก หนังสือชุดสามเกลอ แถมยังเป็นที่รวมตัวของนักเขียนชั้นนำในอดีตมากมาย  เช่น อุษณา เพลิงธรรม, อาจินต์ ปัญจพรรค์,ว.ณ เมืองลุง ,ณรงค์ จันทร์เรือง, รงค์ วงษ์สวรรค์, นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ฯลฯ

เมื่อที่ทางของการอ่านเคลื่อนสู่ออนไลน์ประพันธ์สาส์น น่าจะเป็นสำนักพิมพ์แรกๆ ที่เปิด praphansarn.com ให้ผู้อ่านอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นแหล่งชุมชนของนักอ่านนักเขียนเพื่อต่อยอดสู่กิจกรรม On Ground ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศรางวัลชมนาด, โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์, โครงการมอบหนังสือเพื่อน้อง

ประพันธ์สาส์น อยู่คู่กับสังคมการอ่านการเขียนอย่างไม่ต้องสงสัย และในโอกาสแซยิดครบรอบ 60 ปีที่ผ่านมา อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ผู้บริหารปัจจุบัน ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะส่งไม้ต่อให้กับ “พันฤทธิ์ เตชะธาดา” ในนามของผู้บริหารเจนฯ ใหม่ รุ่นที่ 4

การสานต่อธุรกิจเก่าแก่ของผู้มาใหม่ กลยุทธ์รับมือในช่วงที่วงจรอุตสาหกรรมถูกดิสรัปชั่น และมุมมองชีวิต เป็นอย่างไร “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ทำความรู้จักผ่านบทสนทนานี้

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4 กิจกรรมของประพันธ์สาสน์ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา

  • ความทรงจำของคุณที่มีต่อสำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์เป็นอย่างไร?

ชื่อประพันธ์สาส์น คือชื่อที่คนทั่วไปจำได้ แต่ในความทรงจำผม ผมต้องย้อนไปในสมัยอากง (ปู่)  ตอนนั้นเป็น  "ผดุงศึกษา" เป็นร้านขายหนังสือ ผมจำได้ตอนไปเยี่ยมอากง หรือไปเยี่ยมญาติก็จะเห็นหนังสือวางเป็นตั้งๆ มีหนังสือวางไว้เต็มไปหมด บางวันก็มีลูกค้าเยอะ บางวันก็จะเงียบๆ ตอนเราเป็นเด็กพอมาเยี่ยมญาติก็เดินดูโน่นดูนี่ไปเรื่อยๆ

พอมาเป็นประพันธ์สาส์น มีคุณอาทร เตชะธาดา เป็นผู้บริหาร ซึ่งคุณพ่อของคุณอาทร (สุพล เตชะธาดา) หรือ “เฮียชิว” ที่นักอ่านนักเขียนรู้จัก กับคุณพ่อของผมเป็นพี่น้องกัน ผมกับคุณอาทรก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แม้อายุเขาจะห่างกับผมแบบเป็นพ่อลูกกันได้ก็ตาม (หัวเราะ) ก็ถือว่าแวะเวียนมาบ้างครับ แต่ผมมาคลุกคลีจริงๆ ในช่วง 6-7 ปีที่แล้ว ก็คุยกันมาเรื่อยๆ ว่าความเป็น ประพันธ์สาสน์ จะเติบโตไปในแนวทางไหนต่อ

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4 อาทร เตะชาธาดา ผู้บริหารสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น รุ่นก่อนหน้า

  • คุณคุยอะไรกับคุณอาทร ผู้บริหารก่อนหน้า?

คุยเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม การทำซีเอสอาร์ของบริษัทจดทะเบียน องค์กรธุรกิจ และที่ผ่านมาผมก็มีโอกาสมาร่วมในการมอบรางวัลชมนาด ที่เป็นการมอบให้นักเขียนหญิงที่มีผลงานโดดเด่น เปิดโอกาสให้นักเขียนหญิงที่รักในงานประพันธ์มาประชันฝีมือกัน

 ผมเองทำงานด้านสายการเงินการลงทุน เคยศึกษาธุรกิจมีเดียที่เข้าตลาดหลักทรัพย์มาบ้าง เราก็คุยกันว่า ธุรกิจมีเดียมีการเปลี่ยนแปลง หรือการปรับตัวไปอย่างไร ซึ่งเราก็เห็นตรงกันว่ามูลค่าของกลุ่มธุรกิจมีเดีย หรือกลุ่มพวกพับลิชชิ่ง (Publishing) มูลค่าในตลาดลงค่อนข้างเยอะซึ่งเป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมถูกดิสรัปชั่น (Disruption) แต่ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจมีเดียซึ่งเติบโตได้ด้วยการมีคอนเทนต์และเห็นโอกาส เช่น บริษัทเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ที่เติบโตในวงจรนี้

ในประสบการณ์สายการเงิน งานส่วนหนึ่งผมมีหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์การลงทุนผ่านการซื้อขายกิจการ พอมีความรู้ด้านประเมินมูลค่าและคิดว่าแนวโน้มธุรกิจควรจะมีมูลค่าเท่าไร ที่มูลค่าควรจะซื้อ ซึ่งการแลกเปลี่ยน พูดคุยข้อมูลชุดนี้กันมาตลอด ทำให้ผมคิดว่าอยากจะกลับมาช่วย และตัดสินใจที่จะรับช่วงต่อที่ประพันธ์สาส์น

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4 พันฤทธิ์ เตชะธาดา

  • จากนี้ไปคุณจะทำอะไรกับประพันธ์สาส์น?

ก่อนหน้านี้ ผมทำมาสักระยะแล้ว ในการจัดอีเวนท์ ในการพูดคุยและสร้างเครือข่ายในกลุ่มลูกค้าแบบ B2B ตอนนี้ประพันธ์สาสน์อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างองค์กร และเตรียมการเพิ่มทุน อย่างแรกเราจะปรับองค์กรไปสู่การเป็น Holding company ที่พร้อมรองรับในการรับธุรกิจอื่นๆ อย่างที่สองเราจะเน้นดูในเรื่องโอกาสในการเติบโต ทั้งในสิ่งที่ประพันธ์สาส์นมีจุดแข็ง ทำรายได้ ย้อนกลับทั้งในช่วงก่อนโควิด-19 ว่าอะไรที่ทำให้เราต่อยอดได้บ้าง แต่แน่นอนว่าคงไม่ได้กลับไปทำธุรกิจสำนักพิมพ์เพียงอย่างเดียว เพราะตัวเลขของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็มีรายงานที่ชี้ชัดว่าสำนักพิมพ์ในปัจจุบันมีทิศทางที่ลดเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ในประเทศไทยเหลือประมาณ 300 สำนักพิมพ์ ถ้าถามว่าผมจะทำอะไรก่อน ก็ต้องบอกว่าทำอยู่ ตอนนี้เราปรับโครงสร้างเพื่อรองรับ Business model ใหม่ๆ

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

  • ตอนนี้ธุรกิจแบบไหนที่สร้างรายได้ให้กับประพันธ์สาสน์บ้าง?

การขายหนังสือ อีบุ๊คยังมีอยู่ และถึงวันนี้ก็อยู่ในสัดส่วนที่ไม่ต่างกัน เราเน้นธุรกิจแบบ B2B จัดงานอีเวนท์ สัมมนา และเรามองหาคอนเทนต์ดีๆ ที่มีประโยชน์กับเยาวชนให้กับเด็กในการรักการอ่าน ขณะเดียวกันเราหาเน็ตเวิร์คที่เรามี ในกลุ่มเครือข่าย และประพันธ์สาส์นยังมีบริษัท อีลีท ครีเอทีฟ จำกัด (Elite Creative Company Limited) ซึ่งมีเครือข่ายของบริษัทจดทะเบียน ที่เห็นคุณค่าของเนื้อหา คุณค่าของการศึกษา ที่จะจัดกิจกรรมร่วมกัน

เราเป็น Content Provider ซึ่งทำในรูปแบบ Content On Ground ทำโครงการที่เกี่ยวกับการปลูกฝังการรักการอ่าน การรู้จักคิด ให้การศึกษาที่เป็นการเสริมการศึกษานอกห้องเรียน เช่น โครงการมอบหนังสือดี 8 ล้านบาท สู่ห้องสมุด สื่อสารว่าการสอนในห้องเรียนต้องทำควบคู่กับการเข้าไปค้นคว้าในห้องสมุด

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

สิ่งที่ประพันธ์สาส์น ยังทำอยู่เหนียวแน่นคือ การปลูกฝังการอ่าน การวิจารณ์วรรณกรรม การส่งเสริมนักเขียนหญิง หรือการหาคอนเทนท์ดี หรือสื่อที่ดี บริจาคให้โรงเรียนหรือหน่วยงานที่ต้องการ ซึ่งองค์กรที่มาร่วมกับเราผลลัพธ์ที่เขาได้อาจไม่ใช่เรื่องเงิน แต่ได้คุณค่าในเชิงสังคม เราได้รับการสนับสนุนตรงนี้มาตลอด

คอนเทนต์ และการจัดอีเวนต์ คือจุดแข็งของประพันธ์สาส์น ซึ่งเอื้อกับดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ เช่น บริษัทจดทะเบียน มีแนวทางสนับสนุนเรื่องการศึกษา โดยให้ประพันธ์สาส์นหาหนังสือดีๆ เข้าห้องสมุดในโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลนหนังสืออย่างธุรกิจพลังงานที่ต้องการสื่อสารคอนเทนต์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่คืนกลับสังคมบ้าง

จุดเด่นของประพันธ์สาส์น คือ การหาลูกค้า หาลิขสิทธิ์เนื้อหาที่ดี เราเป็น Literature Agency หรือเป็นนายหน้าในการซื้อขายลิขสิทธิ์ ซึ่งมีเนื้อหาจำนวนมาก เรามองถึงการมีแพลตฟอร์มหรือตลาดกลางการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ และผลักดันให้เกิดการค้าขายถึงทรัพย์สินด้านนี้ที่เป็นธรรมขึ้นด้วย ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่เนื้อหาที่มาจากหนังสือ เพราะเนื้อหาสามารถต่อยอดพัฒนาจากหนังสือมาเป็นภาพยนตร์ ละคร

ปัจจุบันนี้ เราคงไม่เสี่ยงกับการซื้อลิขสิทธิ์เพื่อพิมพ์จำหน่ายแต่สินค้ายังค้างสต็อค แต่เราจะเริ่มจากการหาลูกค้า สร้างชุมชน และแสวงหาเนื้อหาดีๆที่ตอบโจทย์พาร์ทเนอร์เหล่านั้น

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4 โครงการอ่านเขียนเรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ที่ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

  • เป้าหมายในการปรับโครงสร้างขององค์กรจะนำไปสู่อะไร?

เมื่อปรับโครงสร้างองค์กรเสร็จ ก็จะโฟกัสเรื่องแผนธุรกิจ ธุรกิจแบบเดิมเราก็ยังทำอยู่ แต่เราเชื่อว่าโครงสร้างองค์กรใหม่ มันจะเป็น New S Curve ที่ผ่านมาเราทำมาแล้วสักระยะ และในระหว่างที่ยอดการขายหนังสือลดลง แต่ถ้าดูยอด Subscription มันขึ้นมาแทบจะทดแทน และเราเชื่อว่ามันเป็นการ Transition (การเปลี่ยนแปลง) เราจึงลงทุนกับเรื่องนี้ เพื่อจะเก็บรายได้ในอนาคต ถึงวันนี้เรายอมรับว่าธุรกิจแบบดั้งเดิมมันอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มันเกิดมาจากเรายอมรับความจริงและปรับให้มันอยู่ได้

  • ถ้าการปรับโครงสร้างเรียบร้อย ประพันธ์สาส์นจะอยู่ในจุดไหนของธุรกิจ?

เมื่อไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน เรามองโมเดลและผสมผสานส่วนที่เป็น Publisher ที่ประสบความสำเร็จ เช่น GoodReads ซึ่งเป็นชุมชนการอ่าน แต่เมื่อทุกคนเร่งรีบ เวลาในการอ่านจำเป็นต้องรวดเร็ว แต่ก็จะมีฟังก์ชั่นของการสรุปในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ เหมือนกับรายการของพอดแคสท์ที่สรุปในเรื่องที่จำเป็นต้องรู้  

หลังปรับโครงสร้าง มองเป็นสองส่วน อยากแรกคือ  ในเรื่องเน็ตเวิร์คอีลิท ที่เรามี และมองว่าโอกาสที่จะลงทุนให้เกิดธุรกิจใหม่ ส่วนที่สองคือคอนเทนต์ ที่เรามีในปัจจุบัน เรามองในเรื่องของการเป็นแพลตฟอร์ม อีบุ๊ค และสุดท้ายแล้ว เราเห็นโอกาสที่เด็กเจนฯ ใหม่ ที่คลุกคลีกับอีบุ๊ค เราก็จะจับในส่วนคอนเทนต์อีบุ๊คให้เด็กรุ่นใหม่

เราไม่ใช่สำนักพิมพ์แบบดั้งเดิม แต่จะเป็นแพลตฟอร์มเอาคนมาเจอกับงานวรรณกรรม และจะมีเนื้อหาทั้งที่ฟรีและที่เป็น Subscription Per Page คือไม่ต้องจ่ายทั้งหมดแต่จ่ายเท่าที่อยากอ่าน

ขณะเดียวกันเราก็จะสร้างความแข็งแกร่งในด้านเน็ตเวิร์ค ซึ่งคือต้นทุนที่ผู้บริหารในยุคก่อนวางรากฐานไว้ดีมาก และเราเชื่อว่าต้นทุนเหล่านี้ ความน่าเชื่อถือ สัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหมด สมาคมหนังสือ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนทั้งเวียดนาม อินโด ฟิลิปปินส์ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะรวบรวม เป็น Data ที่เป็นสินทรัพย์ของเรา

ถึงตรงนี้การ Position ให้คนรู้จัก แน่นอนว่า ความเป็นสำนักพิมพ์จะลดน้อยลง ผมอยากให้เขามองเราเป็นคอนเทนต์มากขึ้น หรือมองประพันธ์สาส์น เป็นบริษัทที่สร้างนักเขียนกับนักอ่านในอดีต และก็พร้อมจะร่วงลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาส

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

  • เนื้อหาแบบไหนที่ประพันธ์สาส์นจะเน้นเป็นพิเศษ?

ทุกแนว แต่ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการสิ่งไหน ยกตัวอย่างว่าถ้าลูกค้าต้องการเนื้อหาในเชิงพัฒนาตัวเอง เราก็จะมองหาเนื้อหาเช่นนั้น พร้อมจะพิจารณาดูว่าบริษัทไหนหรือที่ใดมีโค้ชชิ่งเก่งๆ  เป็นที่รู้จัก เราพร้อมจะเป็นพาร์ทเนอร์ และร่วมจะเป็นโค้ชชิ่งให้กับองค์กร

เราพร้อมจะมาร่วมมือในการหาเน็ตเวิร์ค ทำการตลาด และถ้าร่วมกันแล้ว มีโอกาสเราก็พร้อมจะลงทุน สำหรับผมคอนเทนต์ คือมันมีแก่นแล้วก็คอนเซปต์ของตัวเอง เมื่อไม่นานมานี้เราทำเรื่อง Wellness เราจัดงาน แล้วเชิญคุณหมอสันต์มา (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ MD, CEO & Director, Wellness We Care Center)  เราสร้างคอนเซปต์ให้กับเนื้อหาทำให้มันมีมูลค่าเพิ่ม และถ้ามีโอกาสเช่นนี้อีก เราก็พร้อมจะลงทุน กรณีเดียวกันถ้าคุณหมอต้องการเปิดตลาดในต่างประเทศ ต้องการไปอยู่ในงานบุ๊คแฟร์ในต่างประเทศ เราก็สามารถพาไปได้ สำคัญคือเราต้องมี Quality Content ก่อน การมีสำนักพิมพ์เป็นเพียงซับเซ็ตหนึ่งที่จะพัฒนาเนื้อหาในส่วนนั้น

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

  • ประพันธ์สาส์นมีคอนเนคชั่นที่แข็งแรงมากๆ จะสานต่ออย่างไร?

ถือเป็นความโชคดีที่มีบริษัทจดทะเบียน มีสถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารรุ่นก่อนๆทำไว้ ผมโชคดีที่ได้ซึมซับตรงนี้และใช้ฐานที่มีอยู่ แต่ไลฟ์สไตล์ปัจจุบันก็อาจจะต่างออกไปจากอดีต สำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์เจนเนอเรชั่นใหม่อาจจะมีไลฟ์สไตล์ที่ต่างจากนักเขียน นักแปลในอดีต แต่สิ่งที่เราและเครือข่ายต้องมองหาร่วมกัน คือการหาค่านิยมและสิ่งที่เชื่อเหมือนกัน

นักเขียนในอดีตกับสิ่งที่ผู้บริหารทำนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดในยุคนั้น คุณอาทรเป็นคนมีเพื่อนมาก และมีเครือข่ายกับนักเขียนที่ผมเชื่อว่าเขาเองก็ให้ความไว้วางใจในประพันธ์สาส์น   และเมื่อถึงยุคของผม ผมก็ต้องหาจุดที่ดีที่สุดที่เราสามารถจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเหล่านั้นได้ และพัฒนาไป 

60 ปี ‘ประพันธ์สาส์น’ ปีแรก ‘พันฤทธิ์ เตชะธาดา’ ในนามผู้บริหารรุ่น 4

  • อยากให้ช่วยพูดถึงการจัดการลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ ตรงนี้คุณมองอย่างไร?

ปัจจุบันลิขสิทธิ์ในตลาดเยอะมาก และเราก็มีเครือข่ายที่พร้อมซื้อเมื่อไรก็ได้ แต่การซื้อแล้วจะขายใครเราก็คงจำเป็นต้องหาตลาด ในเบื้องต้นเราอยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูล เรามีคุยกับเครือข่ายในแถบอาเซียนเพื่อดูว่าเรามองภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้นเหมือนกันไหม ซึ่งคำตอบพบว่าหลายๆประเทศมองคล้ายๆกัน เรามองว่าวงจรธุรกิจอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน คนที่เคยซื้อขายลิขสิทธิ์ ไม่ได้จำกัดที่หนังสือเล่ม แต่เป็นลิขสิทธิ์ในหลายรูปแบบทั้ง E-book, Audio book หรือจะเป็นลิขสิทธิ์บทภาพยนตร์ ลิขสิทธิ์ตรงนี้มันข้ามแพลตฟอร์มไปที่อื่นๆ เราอยู่ในช่วงทดลองตลาด เพื่อหาว่าผู้ซื้อจะไปอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่บรรณาธิการในปัจจุบันควรจะมีคือ ทักษะของการทำ Data Analytic วิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าจากฐานข้อมูล และสู้กันที่คอนเทนต์ของผู้ผลิตสื่อ ซึ่งเป็นทักษะที่ทางประพันธ์สาส์นจะต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีความรู้ตรงนี้มากขึ้น อยู่กับผู้อ่านมากขึ้น เพราะการทำหนังสือแต่ละเล่มมีต้นทุนสูงมาก

  • ถึงตรงนี้คุณรู้สึกอย่างไร เคยคิดมาก่อนไหมว่าจะมารับช่วงต่อในธุรกิจที่จะเรียกว่าครอบครัวก็ได้เพราะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น?

(หัวเราะ) ก็ไม่เชิงว่าขนาดนั้นครับ แบ๊คกราวน์ของผมอยู่ตลาดทุน และเราเห็นหลายบริษัทแสดงวิสัยทัศน์ได้ดีมาก แต่ในแง่ผลประกอบการมันไม่เป็นดังหวัง เราก็ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรแน่นอน แม้กระทั่งธุรกิจใหญ่ๆ ก็ไม่ได้การันตีว่ารูปแบบธุรกิจเดิม จะไปต่อได้อยู่ในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ ถ้าถามผม ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ ในสิ่งที่ประพันธ์สาส์นมี และสำนักพิมพ์อื่นๆ อาจ ไม่มี

แนวทางของประพันธ์สาส์น สิ่งที่คนรุ่นเดิมทำอยู่แล้วมันมีคุณค่าต่อสังคม แต่เราต้องทำให้ผู้สนับสนุนเห็นประโยชน์ตรงนี้ พวกนี้คงไม่ได้วัด KPI ในระยะอันสั้น แต่เราต้องทำให้คุณภาพและจุดแข็งแปรรูปเป็นธุรกิจให้ได้ อันนี้คือความท้าทาย