'ทีเซลส์' เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยา ดัน ATMPs ด้วยวิจัยต่อยอดร่วมAI

'ทีเซลส์' เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยา  ดัน ATMPs ด้วยวิจัยต่อยอดร่วมAI

“อุตสาหกรรมยา” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ย GDP ของประเทศ คาดว่าปี 2568-2570 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศจะขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี

KEY

POINTS

  • ทีเซลส์ มีบทบาทส่งเสริมการผลิตATMPs  ไม่ว่าจะเป็น ยา  และชีววัตถุที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และสร้างระบบนิเวศในการวิจัยและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ยาให้เข็มแข็ง
  • ความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในการสร้างความมั่นคงทางยามี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การพึ่งพาการนำเข้าสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม(API) และความสามารถของผู้ประกอบการ
  • การผลิตและพัฒนายา ไม่จำเป็นต้องไปยึดติดวิจัยเริ่มต้น แต่สามารถนำงานวิจัยมาต่อยอดให้เกิดยาตัวใหม่ๆ และบูรณาการ AI เข้าร่วม

อุตสาหกรรมยา” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ย GDP ของประเทศ คาดว่าปี 2568-2570 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศจะขยายตัวเฉลี่ย 6.0-7.0% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนมาจากจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง) ทำให้ผู้เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้สะดวกขึ้น

ขณะเดียวกัน “ยาและเวชภัณฑ์”เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงในการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและตัวยาใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานการผลิตยาและเวชภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะยาจดสิทธิบัตรหรือยาต้นแบบ กระจุกตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ และยุโรปส่วนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงผู้นำเข้ายาต้นตำรับ/ต้นแบบซึ่งมีราคาสูง

ทั้งนี้ ยาที่ผลิตในประเทศประมาณ 90% ถูกใช้เพื่อบริโภคในประเทศ และอีก 10% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศคิดเป็นสัดส่วน 29.0% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ครอบคลุมประชากรถึง 99.64% ของผู้มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพของประเทศ ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รง.ผลิตสารตั้งต้นยา(API) ลดนำเข้า-ความมั่นคงทางยาไทย

อุตสาหกรรมยาเติบโตสูง คนไทยป่วยเบาหวาน 5.2 ล้านคน

ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยา ATMPS

“ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(ทีเซลส์)” ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงบทบาทของทีเซลส์ในการส่งเสริมความมั่นคงทางยาของประเทศว่า ทีเซลส์ เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยในสิ่งที่ประเทศต้องการ ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมยาจะเป็นการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) ไม่ว่าจะเป็น ยา ATMPs และชีววัตถุที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และสร้างระบบนิเวศในการวิจัยและพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ยาให้เข็มแข็ง

“คณะกรรมการอาหารและยาได้จัดให้ยา ATMPs ว่าเป็นยาที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายได้กำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เพื่อทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะยาที่มีคุณภาพสูง และเครื่องมือแพทย์ อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่าง ดิจิทัลเฮลท์ เช่น การเอกซเรย์ การใช้ ct scan และการนำ AI มาใช้ทางการแพทย์ เพื่อป้องกัน ดูแลรักษาคนไข้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนการผลิตยาสามัญใหม่ในประเทศส่งเสริมวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยา เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งเสริมการทดสอบ Pre-clinic/Clinical trial รวมถึง สนับสนุนการ Upskill & Reskill บุคลากรในอุตสาหกรรมยา นโยบายส่งเสริมนโยบาย Tax incentive และสนับสนุนด้าน Logistics and Supply Chain เพิ่มศักยภาพการส่งออกยาที่ผลิตในประเทศ เพื่อจำหน่ายต่างประเทศ เช่น road show, business matching เป็นต้น

\'ทีเซลส์\' เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยา  ดัน ATMPs ด้วยวิจัยต่อยอดร่วมAI

ความท้าทายของอุตสาหกรรมยาในไทย

ดร.จิตติ์พร อธิบายว่าหากมองความมั่นคงทางยาของไทย ปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและใช้ยาสมเหตุผล อีกทั้งมีนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ และสร้างระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสถานพยาบาลและชุมชน รวมทั้งการสร้างมาตรการเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเข้าถึงยาและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ดร.จิตต์พร กล่าวต่อว่าความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญในการสร้างความมั่นคงทางยามี 2 ประเด็นหลัก คือ

1.การพึ่งพาการนำเข้าสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม(API) ซึ่งไทยยังผลิต API ได้น้อยมาก และต้องพึ่งพาการนำเข้า API สูงถึง 90–95% โดยประเทศที่นำเข้าหลัก ได้แก่จีน และอินเดีย ขณะที่จำนวน API ที่ผลิตได้ในประเทศยังจำกัด มีเพียงประมาณ 17 รายการที่สามารถผลิตได้ในประเทศ เช่น aspirin ขณะที่มีการนำเข้า API มากกว่า 800 รายการ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและต้นทุน การผลิตยาที่ซับซ้อนหรือใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงต้นทุนในการปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานสากลยังสูง

2.ความสามารถของผู้ประกอบการ ซึ่งตามหลักสากลแล้วการขึ้นทะเบียนยาและการอนุมัติผลิตภัณฑ์ มีขั้นตอนต้องปฎิบัติ ตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จึงควรส่งเสริมความรู้ความเข้าใจผู้ประกอบการใหม่ แนวทางการขึ้นทะเบียนยา เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะกระบวนการนี้มีความซับซ้อนและเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการนำผลิตภัณฑ์ยาออกสู่ตลาดได้อย่างถูกกฎหมาย

\'ทีเซลส์\' เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยา  ดัน ATMPs ด้วยวิจัยต่อยอดร่วมAI

ยกระดับการผลิตยาสามัญและยาATMPs

“ทีเซลส์ ได้ส่งเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการใหม่ โดยการอบรมเชิงวิชาการในด้าน Regulatory Sciences การฝึกอบรมบุคลากรด้านการควบคุมคุณภาพและการขึ้นทะเบียนยา ที่เกี่ยวกับขั้นตอนเอกสารการขึ้นทะเบียนยา (Common Technical Document ,CTD) และสนับสนุนหลักสูตรต่างๆ เช่น การพัฒนาหลักสูตรอบรมระหว่างประเทศ การอบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย และการพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าสู่โลกธุรกิจได้ 100% เข้าใจการPitching การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และการหาทุนว่าสามารถขอทุนจากหน่วยงานไหนได้บ้าง เป็นต้น"

ดร.จิตต์พร กล่าวอีกว่าทีเซลส์มีความพร้อมในการสนับสนุนและเสริมสร้างความมั่นคงทางยา ทั้งการผลิตยาและการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในประเทศ โดยการสร้างเครือข่ายและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง หน่วยงานรัฐ และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างความมั่นคงทางยาให้เกิดขึ้นจริง ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนยาและวัตถุดิบที่จำเป็น ที่สำคัญลดต้นทุนของประเทศ เพราะการนำเข้ายาและวัตถุดิบจากต่างประเทศมักมีต้นทุนสูงกว่าการผลิตในประเทศ ที่ทำให้ส่งผลต่อราคายาในประเทศสูงขึ้น และเกิดผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของผู้คน

“ทีเซลส์ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ต้องทำงานร่วมกับหลายๆ องค์กร ทั้งสำนักงบประมาณในการสนับสนุนงบ อย. โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการ ในการมีสมรรถนะ และการผลิตและพัฒนายา ไม่จำเป็นต้องไปยึดติดวิจัยเริ่มต้น แต่สามารถนำงานวิจัยมาต่อยอดให้เกิดยาตัวใหม่ๆ และบูรณาการต้องพึ่งพา AI ได้มากขึ้น ซึ่งทีเซลส์มีแพลตฟอร์ม มีเครื่องมือและมีทุนพร้อมส่งเสริมให้ไทยมีความมั่นคงทางยามากขึ้น และทำให้คนไทยมีสิทธิใช้ยาคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” ดร.จิตต์พร กล่าว

\'ทีเซลส์\' เสริมแกร่งอุตสาหกรรมยา  ดัน ATMPs ด้วยวิจัยต่อยอดร่วมAI