เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ปรับการใช้ชีวิต ป้องกัน 'โรคระบบทางเดินอาหาร'

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ปรับการใช้ชีวิต ป้องกัน 'โรคระบบทางเดินอาหาร'

ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในคนไทยและคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะ โรคลำไส้แปรปรวน ท้องผูก โรคกรดไหลย้อน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ จะช่วยเลี่ยงการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้

KEY

POINTS

  • ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยมากในคนไทยและคนทั่วโลก ซึ่งมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อาทิ โรคกระเพาะ ลำไส้แปรปรวน ท้องผูกเรื้อรัง โรคกรดไหลย้อน
  • การป้องกันโรคดังล่าว สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรม เช่น โรคกระเพาะ ควรกินอาหารให้ตรงเวลา , กรดไหลย้อน ไม่ควรดื่มกาแฟเยอะ ไม่กินแล้วนอน ไม่สูบบุหรี่ และ ท้องผูกเรื้อรัง ให้กินอาหารที่มีไฟเบอร์ ออกกำลังกาย ฝึกให้ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา
  • ล่าสุด รพ.บำรุงราษฎร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร FNM 2024

โรคระบบทางเดินอาหารและตับ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เนื่องจากพฤติกรรมการทานอาหาร สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พบผู้ที่มีอาการผิดปกติหรือเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารและตับมากขึ้นทุกปี เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน โรคตับ โรคตับอ่อน เป็นต้น

 

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 ภายในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร The Federation of Neurogastroenterology and Motility Meeting (FNM) 2024

 

พฤติกรรม ส่งผลต่อสุขภาพ

“ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์” ประธานจัดงาน FNM 2024 หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยว่า ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยมากในคนไทยและคนทั่วโลก ซึ่งมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อาทิ อาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะ โรคลำไส้แปรปรวน ท้องผูกเรื้อรัง โรคกรดไหลย้อน ฯลฯ

 

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ปรับการใช้ชีวิต ป้องกัน \'โรคระบบทางเดินอาหาร\'

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ประชากรกว่า 1 ใน 4 ต่างมีประสบการณ์การเป็นโรคระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ โดยอาการอันดับต้นๆ ที่พบ ได้แก่ ลำไส้แปรรวน ท้องผูก กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะ พฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยง อาทิ โรคท้องผูก ถ่ายไม่ได้ มาจากการไม่ออกกำลังกาย ไม่ทานผัก

 

“ถัดมา คือ อาการท้องอืดแน่นท้อง การทานอาหารที่มีกากเยอะก็ทำให้ท้องอืด แน่นท้องได้ , กรดไหลย้อน มาจากภาวะอ้วน ทานเยอะ ทานอาหารที่มีแป้งสาลี ผักผลไม้บางอย่างที่ทำให้แน่นท้อง หรืออาหารไขมันสูง ในแต่ละโรคมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ดังนั้น ต้องวินิจฉัยและดูพฤติกรรม มีขั้นตอนการรักษา และปรับพฤติกรรม”

 

ศ.นพ.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนใหญ่ที่เจอโรคระบบทางเดินอาหารและตับ คนไข้จะมีความสุดโต่งอยู่เยอะ เช่น การทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งเยอะๆ ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย การกินแป้งสาลีเยอะก็จะทำให้มีปัญหา หรือทานอาหารเสริมบางอย่างจนตับอักเสบ เป็นพฤติกรรมทำร้ายตัวเองโดยที่ไม่ทราบ ดังนั้น ต้องรู้ว่าเรามีโรคประจำตัวอะไร อาหารบางอย่าง พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสำหรับเรา ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

คนไข้ 50% กรดไหลย้อน ท้องผูก

“ผศ.นพ.ยุทธนา ศตวรรษธำรง” หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประชากรอยู่ในภาวะเครียดจากการทำงาน ภาวะแวดล้อม สงคราม การงาน ตื่นเช้า รถติด กว่าจะถึงบ้านดึก กินข้าวดึก กินแล้วนอน ทำให้เป็นกรดไหลย้อน รวมถึงไม่ค่อยมีการออกกำลังกาย ทำให้ท้องผูก โดยกว่า 50% ของคนไข้ ที่มาที่ศูนย์ฯ มาด้วยอาการ กรดไหลย้อน และ ท้องผูก

 

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ปรับการใช้ชีวิต ป้องกัน \'โรคระบบทางเดินอาหาร\'

 

“กรดไหลย้อน ต้องรักษาให้หาย หากกรดไหลย้อนนานๆ จะสร้างความระคายเคืองหลอดอาหาร เกิดแผล กลืนเจ็บ หลอดอาหารตีบ กลืนไม่ลง เป็นเซลล์มะเร็ง ดังนั้น หากเป็นกรดไหลย้อนต้องไปพบแพทย์ และอีกโรคที่เป็นบ่อย คือ ท้องผูกเรื้อรัง อุจจาระแห้งลง ถ่ายลำบาก ขณะที่อุจจาระเป็นของเสีย อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งในอนาคต ทั้งสองโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและการทำงานของระบบทางเดินอาหาร”

 

ผศ.นพ.ยุทธนา แนะว่า โรคกระเพาะ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กินอาหารให้ตรงเวลา กินน้อยๆ แต่บ่อยๆ ส่วน กรดไหลย้อน ไม่ควรดื่มกาแฟเยอะ ไม่กินแล้วนอน ไม่สูบบุหรี่ และ ท้องผูกเรื้อรัง ให้กินอาหารที่มีไฟเบอร์ ออกกำลังกาย ถ่ายอุจจาระทุกวัน ฝึกให้ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา

 

ส่องกล้องระบบ AI

ปัจจุบัน มีวิวัฒนาการใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการวินิจฉัยรักษาได้ดีขึ้น เช่น การให้บริการตรวจคัดกรองโรคในทางเดินอาหารด้วยการส่องกล้องพร้อมระบบ AI detection ซึ่งช่วยให้สามารถเจอติ่งเนื้อได้มากขึ้นถึง 54% เมื่อเจอติ่งเนื้อในลำไส้หรือกระเพาะอาหาร แพทย์จะสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุได้ในทันที โดยการส่องกล้องไม่ต้องผ่าเปิดหน้าท้อง เนื่องจาก ความละเอียดของตามนุษย์มีขีดจำกัด ระบบ AI สามารถหาจุดที่ผิดปกติ โดยใส่บิ๊กดาต้าเข้าไปว่าติ่งเนื้อในลำไส้ต้องมีหน้าตาอย่างไร สามารถเตือนว่ามีติ่งเนื้อ กำหนดตำแหน่ง และตัดได้

 

เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ปรับการใช้ชีวิต ป้องกัน \'โรคระบบทางเดินอาหาร\'

 

FNM 2024 แลกเปลี่ยนความรู้จากแพทย์ทั่วโลก

สำหรับ FNM 2024 เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่าย โดยการนำนักวิจัยและแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติกว่า 1,000 คน จากทั่วโลกมารวมตัวกัน

 

ศ.นพ.สุเทพ กล่าวว่า องค์ความรู้ในการรักษาสำคัญมาก ไม่ว่าจะทักษะ ความรู้ แนวทางการรักษา จะพัฒนาไม่ได้หากไม่มีการวิจัย ค้นคว้า แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแพทย์ทั่วโลก รวมถึง การประชุมที่เชื่อมต่อความรู้ งานวิจัย นำไปสู่การรักษา ดังนั้น การประชุมดังกล่าว มุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงที่ซับซ้อนระหว่างระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร

 

เพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่เกิดจากทางเดินอาหารทำงานผิดปกติที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่ โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร ภาวะกระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้า โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น

 

การประชุม FNM 2024 ในปีนี้ จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ในวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์