ท้องผูก อึดอัด แน่นท้อง 'ยาระบาย' ช่วยได้จริงหรือ ?

ท้องผูก อึดอัด แน่นท้อง 'ยาระบาย' ช่วยได้จริงหรือ ?

เมื่อเกิดอาการท้องผูก ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายท้อง สิ่งที่หลายคนจะนึกถึง คือ 'ยาระบาย' เพื่อช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ยาระบาย จะแก้ท้องผูก ได้จริง แต่ต้องกินให้เหมาะกับตัวเอง และหากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์

KEY

POINTS

  • ท้องผูก อาการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากทางเดินอาหารได้ตามปกติ เกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน
  • อาการท้องผูก ส่งผลทำให้รู้สึกอืดแน่นท้อง ไม่สบายท้อง โรคริดสีดวง ความดันโลหิตสูงหรือความดันในลูกตาสูงเวลาเบ่งถ่าย และ ความดันในช่องท้องสูงเวลาเบ่งถ่ายทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อน 
  • ยาระบาย จึงเป็นทางออกที่หลายคนเลือกใช้ ซึ่งสามารถช่วยได้จริง แต่ในบางรายที่มีความเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

เมื่อเกิดอาการท้องผูก ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายท้อง สิ่งที่หลายคนจะนึกถึง คือ 'ยาระบาย' เพื่อช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ยาระบาย จะแก้ท้องผูก ได้จริง แต่ต้องกินให้เหมาะกับตัวเอง และหากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์

หลายคนเมื่อเกิด อาการท้องผูก อึดอัด แน่นท้อง สิ่งที่มักจะนึกถึง คือ การทานยาระบาย เพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย อย่างไรก็ตาม การทานยาระบาย ต้องใช้ให้ถูกต้อง และ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทาน เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดกับร่างกายได้

 

อาการท้องผูกเป็นอย่างไร

ท้องผูก คือ อาการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า ไม่สามารถกำจัดอุจจาระ ออกจากทางเดินอาหารได้ตามปกติ เกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน เมื่อร่างกายมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ลำบาก

 

สาเหตุของโรคท้องผูก

- การกินอาหารที่มีกากและเส้นใยน้อย

- ลักษณะนิสัยส่วนตัว เช่นการไม่ออกกำลังกาย การกลั้นอุจจาระจนเคยชินติดเป็นนิสัยหรือแม้แต่การเบ่งอุจจาระไม่ถูกวิธี

- ภาวะความเครียด หรือภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติก็ทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้

- ยาต่างๆ แคลเซียม ยาที่มีผลลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ยาแก้ไอที่มี่ส่วนผสมของโคดิอีน เป็นต้น

- มีโรคประจำตัว เช่น โรค พาร์กินสัน โรคเส้นเลือดในสมองตีบนอนติดเตียง

 

ท้องผูก ส่งผลต่อร่างกาย อย่างไร

- ทำให้รู้สึกอืดแน่นท้อง ไม่สบายท้อง

- โรคริดสีดวง

- ความดันโลหิตสูงหรือความดันในลูกตาสูงเวลาเบ่งถ่าย

- ความดันในช่องท้องสูงเวลาเบ่งถ่ายทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ยาระบาย แก้อาการท้องอืดได้ จริงหรือไม่

ข้อมูลจาก ผศ. นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า

ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริง เนื่องจากยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายที่ไม่สะดวกกลับมาเป็นปกติ

 

อาการท้องผูก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

- พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี

- ความผิดปกติของการทำงานในลำไส้

- ผลข้างเคียงของการรับประทานยาบางชนิด หรือแม้แต่การเกิดโรคต่าง ๆ

ดังนั้นหากกำลังเผชิญกับอาการท้องผูก ยาระบายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทุเลาอาการท้องผูกได้เบื้องต้นหรืออาจช่วยให้อาการท้องผูกหายได้

 

อาการแบบไหนที่ควรใช้ยาระบาย

ยาระบาย แก้ท้องผูก หรือถ่ายไม่ออก ควรจะใช้เมื่อมีอาการท้องผูกเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ให้สังเกตอาการ ดังนี้

- รู้สึกว่าขับถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระนานเกินไป

- อุจจาระเป็นก้อนแข็ง

- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

- ถ่ายอุจจาระได้ไม่สุดในทุกครั้ง

- รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันในทวารหนัก

 

รู้จัก ยาระบาย 5 กลุ่ม

1. ยาระบายที่ช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้

หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ไฟเบอร์ (fiber) การรับประทานในกลุ่มนี้คล้ายกับการรับประทานผักและผลไม้ที่มีเส้นกากใยอาหาร เหมาะกับคนที่ไม่ชอบรับประทานผัก สามารถใช้รับประทานได้ตามความเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นกลุ่มยาระบายที่มีการรับประทานมากที่สุด

 

2. ยาระบายที่เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่

สำหรับการทำงานของกลุ่มนี้คือการดึงน้ำเข้ามาในลำไส้ คล้ายกับเป็นสารหล่อลื่น ช่วยให้การขับถ่ายให้ง่ายกว่าเดิม

 

3. ยาระบายที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

เมื่อรับประทานเข้าไปลำไส้จะมีการบีบตัวต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการมวนท้องและรู้สึกอยากขับถ่าย

 

4. ยาระบายที่ทำให้อุจจาระนิ่ม

ออกฤทธิ์คล้ายกับยาระบายในกลุ่มที่สอง แต่จะเป็นการดูดซึมน้ำเข้าไปในอุจจาระโดยตรง ทำให้อุจจาระนิ่ม สามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

 

5. ยาระบายชนิดน้ำมันหล่อลื่น

เมื่อรับประทานเข้าไปจะไม่มีการดูดซึม แต่จะลงไปบริเวณลำไส้ใหญ่โดยตรง ช่วยให้อุจจาระลื่นและขับถ่ายออกมาได้ง่าย

 

ทั้งนี้ ยาระบาย ออกฤทธิ์เร็วสุดในระยะเวลาประมาณ 2 ถึง 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประเภทของกลุ่มยาที่เลือกรับประทานเข้าไป หากต้องการผลที่รวดเร็วให้สังเกตอาการของตัวเองรวมถึงประเมินว่าเหมาะกับการรับประทานยาในกลุ่มไหน เพื่อเป็นส่วนช่วยให้เห็นผลได้มากที่สุด เนื่องจากสภาพร่างกายและอาการของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป

 

กินยาระบายบ่อย ดีหรือไม่

หากรับประทานยาในปริมาณที่มากหรือบ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ โดยผลเสียและผลข้างเคียงต่าง ๆ จะแบ่งตามลักษณะประเภทของกลุ่มยาระบายในแต่ละชนิด ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ช่วยเพิ่มกากใยในอาหาร

หากดื่มน้ำน้อยจะทำให้มีอาการท้องอืดและแน่นท้องตามมา ดังนั้นหากรับประทานยาในกลุ่มนี้แล้ว ควรดื่มน้ำตามในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวที่อาจเกิดตามมา

 

กลุ่มที่ 2 เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่

จะมีผลข้างเคียงกับคนที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคไตหรือโรคหัวใจ ควรรับประทานในปริมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

 

กลุ่มที่ 3 กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

กลุ่มประเภทยามะขามแขก ซึ่งเป็นยาระบายสมุนไพร หากรับประทานบ่อยจนเกินไปจะทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลงจนเกิดเป็นอาการลำไส้ขี้เกียจ ดังนั้นไม่ควรที่จะรับประทานต่อเนื่องอย่างเด็ดขาด

 

กลุ่มที่ 4 ทำให้อุจจาระนิ่ม และ กลุ่มที่ 5 ชนิดน้ำมันหล่อลื่น

จะมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มที่สองคือไม่เหมาะกับคนที่มีโรคประจำตัวบางโรค ควรระมัดระวังหากจะรับประทานในแต่ละครั้ง

 

กลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรใช้ ยาระบาย

การรับประทานยาชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน

ควรหาสาเหตุหลักของการเกิดอย่างละเอียด ก่อนที่จะซื้อยาระบายมารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ลำไส้ส่วนก่อนถึงจุดที่มีการอุดตันเกิดการพองตัวขึ้นและสามารถแตกได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

 

การรับประทานยาควรรับประทานเมื่อจำเป็นเท่านั้น

ให้รับประทานเมื่อไม่มีการขับถ่ายเป็นเวลานาน หากสามารถขับถ่ายได้ปกติก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานหรือทางที่ดีที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการท้องผูกตั้งแต่แรก เช่น หากเป็นคนที่ดื่มน้ำน้อย ให้ดื่มน้ำให้มากขึ้นในแต่ละวัน ขับถ่ายให้เป็นเวลาไม่ควรอั้นการขับถ่ายเป็นเวลานาน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก และหากมีอาการท้องผูกในระยะเวลาที่นานเกินไป ใช้ยารักษาแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา

 

การปรับพฤติกรรม ป้องกันท้องผูก

- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยใยอาหารได้ จึงยังอยู่ในลำไส้และอุ้มน้ำเอาไว้ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น

- ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป ร่างกายจึงขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น

- ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน เพราะหากทำเป็นประจำจะทำให้ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายมีประสิทธิภาพลดลงจนเกิดอาการท้องผูกได้

- อย่ากลั้นอุจจาระ หรือรีบร้อนในการขับถ่าย เพราะอาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้

 

การรักษาท้องผูกด้วยยา

- เมื่อปรับพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น สามารถใช้ยาได้ ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยระบาย หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์

- ท่านั่งที่ดี ก็ช่วยให้การขับถ่ายทำได้ง่ายยิ่งขึ้นเช่นกัน ซึ่งท่าที่เหมาะที่สุดคือท่านั่งยอง ๆ เนื่องจากเป็นท่าที่ลำไส้ทำมุมตรงกับการขับถ่าย แต่หากใช้ชักโครกแบบนั่ง ก็สามารถปรับเปลี่ยนด้วยการงอเข่าเข้าหาลำตัว หรือหาเก้าอี้เล็ก ๆ มาวางไว้เพื่อช่วยยกขาให้สูงขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน

- การถ่ายอุจจาระขึ้นอยู่กับสุขภาพและลักษณะร่างกายของแต่ละคน หากสามารถขับถ่ายได้อย่างปกติ ไม่มีอาการเจ็บปวด แม้จะไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน ก็ยังไม่ถือว่ามีอาการท้องผูก แต่หากมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น ถ่ายเหลว ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม มีก้อนเล็กลง หรือมีเลือดปน ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง

 

 

 

 

อ้างอิง : รามาแชนแนล Rama Channelคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลนวเวช