โรคอุจจาระเต็มท้อง อันตรายที่คนชอบอั้นต้องระวัง !

โรคอุจจาระเต็มท้อง อันตรายที่คนชอบอั้นต้องระวัง !

อาการท้องผูก หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่หากเป็นอาการเรื้อรัง มักส่งผลการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจนำมาสู่ 'โรคอุจจาระเต็มท้อง' ได้ ซึ่งไม่เพียงแค่มีสาเหตุมาจากท้องผูก ลำไส้แปรปรวนเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตจากยาบางชนิด รวมถึงเนื้องอก หรือ มะเร็งในช่องท้อง

Key Point : 

  • โรคอุจจาระอุดตัน เป็นภาวะที่เจออุจจาระเต็มในช่องท้อง มักพบในคนไข้ที่มีปัญหาการขับถ่าย ท้องผูก เวลาขับถ่ายไม่ดีหรือท้องผูก
  • สาเหตุจากท้องผูกเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน การได้ยาบางชนิด และโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอก และมะเร็งในช่องท้อง รวมถึงพฤติกรรมการชอบอั้นจนติดเป็นนิสัย

  • การรักษาอาการท้องผูก มีตั้งแต่การทานยาระบาย ปรับพฤติกรรม เพิ่มการทานไฟเบอร์ ไปจนถึงการผ่าตัดตัดลำไส้ให้สั้นลง อีกทั้ง คนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป หากมีอาการท้องผูก อาจเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย

 

 

การถ่ายอุจจาระให้สม่ำเสมอ เป็นประโยชน์ต่อสภาพร่างกาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอุจจาระอุดตัน อาการท้องผูก ภาวะลำไส้อุดตัน โรคมะเร็งลำไส้ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความขับถ่าย โดยเฉพาะโรคอุจจาระอุดตัน จะส่งผลให้เกิดการท้องผูกอย่างรุนแรง ขณะที่หลายคนคิดว่าการใช้ยาระบายจะช่วยรักษาโรคอุจจาระอุดตันได้ แต่ความจริงแล้วอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า 

 

อ.พญ.ศุภมาส เชิญอักษร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้เรื่อง โรคอุจจาระเต็มท้อง ในรายการลัดคิวหมอรามาฯ ผ่านช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel ว่า โรคอุจจาระอุดตัน ไม่ใช่ชื่อทางการ เป็นภาวะที่เจออุจจาระเต็มในช่องท้อง ส่วนใหญ่จะพบในคนที่เอกซเรย์ธรรมดาในช่องท้องและพบอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่ มักพบในคนไข้ที่มีปัญหาการขับถ่าย ท้องผูก เวลาขับถ่ายไม่ดีหรือท้องผูก ส่วนมากจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ 
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

1. ไม่มีสาเหตุ เอาไปตรวจอะไรก็ปกติ ซึ่งมี 2 โรค คือ ท้องผูกเรื้อรัง และ ลำไส้แปรปรวน 

2. มีสาเหตุชัดเจน เช่น การได้ยาบางชนิดที่ทำให้ท้องผูก เช่น ผู้หญิงทานยาที่มีธาตุเหล็ก หรือ สูงวัยที่กระดูกพรุน กระดูกบาง แล้วต้องได้รับแคลเซียม หรือยารักษาโรคบางชนิดทำให้ท้องผูกได้ และ มะเร็งทำให้มีการอุดตันของลำไส้ อาจจะเป็นเนื้องอกในลำไส้ มะเร็งในช่องท้อง ทำให้ท้องผูก ถ่ายไม่ดี เบาหวาน ไทรอยด์ชนิดต่ำ ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง

 

หากเป็นแบบมีสาเหตุชัดเจน ก็ไปจัดการที่สาเหตุ เช่น รักษาเบาหวานให้ดี รักษาไทรอยด์ อาการท้องผูกก็จะดีขึ้น รักษาตามอาการของโรค แต่กลุ่มที่รักษายาก คือ กลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ และพบเยอะกว่า ทำให้คุณภาพชีวิตแย่แม้จะไม่ร้ายแรง แต่ไม่สุขสบาย ส่วนใหญ่โรคกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ จะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และเจอในคนอายุน้อยมากกว่า โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นเป็นตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อเป็นซ้ำไปมาทำให้ฮอร์โมนความเครียดหลั่ง ทำให้หลุดพ้นจากภาวะเหล่านี้ไม่ได้

 

อาการ

 

ทั้งนี้ คนไข้มักจะมีอาการ รู้สึกว่าตัวเองถ่ายผิดปกติ ถ่ายน้อย หรือต้องใช้อุปกรณ์ในการช่วย อาจจะต้องสวน ใช้นิ้วล้วง และสายชำระ มีอาการถ่ายไม่หมด ถ่ายทุกวันแต่แข็ง มีอาการปวดท้อง หรือบางคนต้องเบ่งมีเลือดออกได้

 

อ.พญ.ศุภมาส อธิบายต่อไปว่า เมื่อดูคนไข้ที่เป็นท้องผูกเรื้อรัง จะพบว่า อาจจะเป็นลำไส้เฉื่อย เคลื่อนตัวช้า กลุ่มนี้การกระตุ้น การรับความรู้สึกของลำไส้อาจจะน้อยกว่าคนอื่น ราว 3-4 วันอาจจะปวดหนึ่งครั้ง เคยเจอ 2-3 สัปดาห์ไม่ถ่ายเลย หรือ 1 เดือนถ่ายครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่อาจจะช้า อาจรวมไปถึงลำไส้เล็ก และความผิดปกติอื่นๆ ของทางเดินอาหารด้วย แม้จะทานอาหารปกติ

 

 

หรือ อาจจะมีพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เช่น ปวดแต่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะกับการเข้าห้องน้ำ ต้องอั้นไว ความที่อั้นอยู่เรื่อยๆ ร่างกายก็จะเรียนรู้ที่จะเก็บไว้ ดังนั้น กว่าจะปวดอีกทีก็อาจจะ 3 วัน บางคนไม่ชอบเข้าห้องน้ำข้างนอก หรือระหว่างเดินทาง รถติด ทำให้ร่างกายคุ้นชิน 

 

ไม่ถ่ายกี่วัน จึงถือว่าผิดปกติ

 

อ.พญ.ศุภมาส  อธิบายว่า ความจริงเราไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวันก็ได้ ปกติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เมื่อไรที่เราคิดว่าเราผิดปกติ และรบกวนคุณภาพชีวิต ต้องปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ คนเราสามารถถ่ายได้ตั้งแต่ 3 – 21 ครั้งต่อสัปดาห์ น้อยที่สุดที่อนุญาต คือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม จำนวนครั้งที่น้อยเพียงอย่างเดียวไม่ได้บอกว่าเรามีปัญหาเรื่องการขับถ่าย บางคนถ่ายทุกวันแต่ต้องใช้ความพยายามในการเข้าห้องน้ำนานมาก หรือออกทุกวันแต่ไม่เยอะ นี่ก็เรียกว่ามีปัญหาในการขับถ่ายเช่นกัน

 

"หากไม่ถ่ายเป็นระยะเวลานาน โดยส่วนใหญ่คนที่มีอุจจาระสุดท้ายก็จะถูกไล่ออกมาและไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่จะเกิด ในกรณีที่เป็นชนิดที่ไม่มีสาเหตุ คือ เมื่อสูงวัยมากขึ้น อาจส่งผลให้ลำไส้อุดตัน หรือ การกดทับทำให้เกิดแผล ลำไส้ทะลุได้ แต่เกิดไม่เยอะ แต่หากเกิดจากเนื้องอก จะมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเลือดออก ลำไส้อุดตัน" 

 

ร่างกายจะดูดของเสียกลับไปจริงหรือไม่ เมื่อไม่ถ่ายนานๆ 

 

ทั้งนี้ ความเข้าใจที่ว่าหากอั้นอุจจาระนานๆ จะทำให้ร่างกายดูดซึมของเสียบางอย่างกลับเข้าไป อ.พญ.ศุภมาส อธิบายว่า ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอย่างนั้น อุจจาระเมื่อตกถึงลำไส้ใหญ่ คุณสมบัติของลำไส้ใหญ่ คือ การดูดน้ำกลับ มีความสามารถดูดน้ำกลับเยอะ แต่ไม่สามารถดูดของเสียต่างๆ กลับไปได้นอกจากน้ำ แต่การที่ค้างอยู่นาน สิ่งที่จะเป็นปัญหา คือ ทำให้อุจจาระแข็งขึ้น ออกยากขึ้น และยิ่งผูกมากขึ้น

 

แต่ก็อาจจะมีข้อมูลเล็กน้อยว่า คนที่ท้องผูกนานๆ อาจจะทำโอกาสในการติดเชื้อ แต่ข้อมูลนี้ยังไม่ชัดเจนเป็นเพียงข้อสังเกต รวมถึงหลายคนที่บอกว่าท้องผูกนานๆ ทำให้สิวขึ้น ข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ชัดเจน เป็นเพียงข้อสังเกต

 

ท้องผูกบ่อยๆ รักษาอย่างไร

 

อ.พญ.ศุภมาส อธิบายว่า ต้องสังเกตว่าอาการท้องผูก สัมพันธ์กับพฤติกรรมหรือไม่ การปรับพฤติกรรมจะช่วยได้ในคนไข้บางราย เช่น รับประทานอาหารที่กากใยน้อย บางคนทานผักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยก็สามารถถ่ายได้ปกติ แต่หลายคนที่ทานผักเยอะก็ยังไม่ออก สามารถเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ตามธรรมชาติหรือเป็นซองก็ได้และต้องทานน้ำเยอะๆ อีกทั้ง ต้องมีพฤติกรรมการขับถ่ายที่ถูกต้อง อาจจะต้องฝึกใหม่ ตอบสนองต่อการปวดการขับถ่ายอย่างทันท่วงที เพิ่มการออกกำลังกาย เช่น แอโรบิค โยคะ ก็ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น บางคนปรับพฤติกรรมอย่างเดียวก็เพียงพอ

 

แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่เพียงพอ ถัดมา คือ การใช้ยาระบาย ที่อาจจะช่วยได้ ซึ่งมีหลายกลุ่ม แต่ละคนก็อาจจะเหมาะกับยาบางกลุ่ม และมีข้อควรระวังในคนไข้บางกลุ่ม แต่หากยาระบายยังไม่ได้ผล อาจจะต้องเป็นยาที่ออกฤทธิ์ดีกว่ายาระบาย แต่หากไม่ดีต้องตรวจเพิ่มเติม หากเป็นลำไส้เฉื่อย ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา อาจจะต้องตัดลำไส้ใหญ่ทิ้งให้สั้นลง เป็นการรักษาสุดท้าย ต้องตรวจประเมินเพิ่มเติม ว่าคนไข้เหมาะที่จะเอาลำไส้ทั้งอันออกหรือไม่ เพื่อให้ลำไส้สั้นลง

 

“คนที่ลำไส้เฉื่อย เพราะลำไส้มีลักษณะยาว กว่าจะขยับไปถึงข้างล่างทำให้ถ่ายยาก แต่ต้องตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุอื่น และไม่เป็นคนที่มีการเบ่งถ่ายที่ผิดปกติ ไม่เป็นคนที่อั้น หากเป็นคนที่ชอบอั้น แม้จะเอาลำไส้ออกแต่เบ่งไม่ถูกอย่างไรก็ถ่ายไม่ออก เพราะฉะนั้น โดยส่วนใหญ่หากไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา ไม่ว่าจะยาระบายเบื้องต้นหรือยาที่เป็นกลไกพิเศษ มักจะต้องตรวจการทำงานของลำไส้ใหญ่ว่าผิดปกติตรงไหน ควรแก้โดยการฝึกสอนการขับถ่ายใหม่ว่าต้องถ่ายอย่างไร แต่หากไม่มีปัญหาตรงนี้ มีแค่ปัญหาลำไส้เฉื่อยและไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาค่อยพิจารณาเรื่องการตัดลำไส้ทิ้ง”

 

ยาเหน็บ การสวน ทำบ่อยๆ ได้หรือไม่ 

 

ขณะเดียวกัน ยาที่ใช้เหน็บหรือสวนแนะนำให้ใช้ชั่วคราว เพราะออกฤทธิ์แค่ลำไส้ส่วนปลาย แต่พฤติกรรมที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการช่วย เช่น นิ้วล้วง สายชำระ ดีท็อกซ์ แปลว่าคนไข้มีปัญหาเรื่องการควบคุมการเบ่งถ่าย ต้องมาตรวจ และการที่ทำซ้ำเรื่อยๆ โอกาสเกิดแผลในลำไส้ใหญ่ เลือดออกได้

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าไฟเบอร์ ทานแล้วถ่ายปริมาณมาก ส่วนใหญ่จะไม่ใช่ไฟเบอร์อย่างเดียว เพราะโดยปกติของไฟเบอร์ธรรมชาติหรือเป็นผงไม่ได้มีฤทธิ์ของยาระบาย โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มมวลอุจจาระและต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อให้ถ่ายได้มากขึ้น บางครั้งคนที่ทานไฟเบอร์อย่างเดียวไม่ถ่ายก็มี ดังนั้น ส่วนใหญ่มักจะผสมยาระบายที่มีฤทธิ์กระตุ้น ต้องดูส่วนผสมให้ดี

 

สูงวัยต้องระวัง หมั่นเช็กสัญญาณเตือน

 

ทั้งนี้ เริ่มแรกคนส่วนใหญ่มักจะหาตัวช่วยมาก่อน หากเป็นๆ หายๆ แล้วซื้อยากินได้ผลก็ไม่เป็นข้อห้าม แต่กรณีที่ไม่ควรไปซื้อยากิน คือ เป็นตอนอายุมาก และไม่เคยตรวจลำไส้ เนื่องจากประชากรทั่วไป เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แนะนำให้ตรวจ ว่ามีปัญหามะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ เช่น ตรวจอุจจาระ หรือ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่

 

ถัดมา คือ สัญญาณเตือน เช่น ถ่ายเป็นเลือด (ซึ่งถ่ายเป็นเลือดก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งทั้งหมด หากเป็นเลือดสดอาจจะเป็นริดสีดวงทวาร หรือ หูรูดทวารหนักฉีกขาดจากการเบ่งแรง) นอกจากนี้ คือ อาการปวดท้องขณะนอนหลับจนต้องตื่น คลำเจอก้อน น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต้องระวัง

 

การป้องกัน

 

  • ฝึกขับถ่ายเป็นเวลา
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • กินอาหารที่มีกากใย
  • งดแป้ง น้ำมัน และไขมัน
  • ออกกำลังกาย
  • เลี่ยงการอั้นอุจจาระ

 

 

 

โรคอุจจาระเต็มท้อง อันตรายที่คนชอบอั้นต้องระวัง !