'ชวนบริจาคอวัยวะ' ระบุผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรอปลูกถ่ายอวัยวะกว่า 6,000 คน

'ชวนบริจาคอวัยวะ' ระบุผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรอปลูกถ่ายอวัยวะกว่า 6,000 คน

จากสถิติข้อมูลพบว่าคนไทยปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ "ไต" ที่มีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายมากที่สุดกว่า 6,000 -7,000 รายต่อปี

KEY

POINTS

  • ผู้ป่วยโรคไตที่มาฟอกไต  40% เป็นกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง  40% โรคเบาหวาน และ 20% จากสาเหตุอื่นๆ ดังนั้น การตรวจพบให้เร็ว รักษา ป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้นดีที่สุด 
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรอปลูกถ่ายไตกว่า 6,000-7,000 คน โดยจะมีผู้เสียชีวิตจากการรอปลูกถ่ายไต ประมาณ 10-15% 
  • หลักโภชนาการบำบัดผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้อง หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่เคยรับประทาน หรือไม่รู้จัก รับประทานอาหารให้เพียงพอ และหลากหลาย และควบคุมปริมาณการดื่มน้ำให้เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตรต่อวัน

จากสถิติข้อมูลพบว่าคนไทยปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ "ไต" ที่มีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายมากที่สุดกว่า 6,000 -7,000 รายต่อปี

จากสถิติข้อมูลพบว่าคนไทยปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ "ไต" ที่มีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายมากที่สุดกว่า 6,000 -7,000 รายต่อปี และระหว่างเสียชีวิต 10-15% ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้องรอการฟอกไต กว่า 2 แสนคน 

งานปลูกถ่ายอวัยวะ ศูนย์โรคไตโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับสภากาชาดไทย จึงได้เชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมบริจาคอวัยวะเนื่องในวันไตโลก

วันนี้ (7 มี.ค.2567) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ได้ร่วมรณรงค์จัดกิจกรรม “KIDNEY Health for All สุขภาพไตดีสำหรับทุกคน” ภายใต้คำขวัญรณรงค์เนื่องในวันไตโลกประจำปี 2567 “ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา” เพื่อมุ่งเน้นบริการวิชาการและวิชาชีพ สร้างการตระหนักรู้เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงบริการดูแลรักษาโรคไตในประเทศไทยที่ก้าวหน้า เท่าเทียม และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตที่เหมาะสมครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ปลูกถ่ายไต' เพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

ไตวายป้องกันได้! ด้วยตนเอง มข.คิดค้นแถบตรวจคัดกรองความผิดปกติไต

KIDNEY Health for All  สุขภาพไตดีสำหรับทุกคน

รศ.พญ.ชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่าตลอดเดือนมีนาคม ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จะจัดรณรงค์โรคไต เนื่องจากวันไตโลก และสถานการณ์โรคไตวายเรื้อรังในปัจจุบันมีอุบัติการณ์และความชุกมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และมีแนวโน้มของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตรายใหม่ที่มีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ

การจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพไตที่ดีให้แก่ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ ภายใต้ในหัวข้อ KIDNEY Health for All  สุขภาพไตดีสำหรับทุกคน จะเป็นการนำเสนอแนวคิดครอบคลุมพิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา สร้างความตระหนักรู้ การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตที่เหมาะสม  โดยในงานจะมีการจัดบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น  ซึ่งจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา คำแนะนำที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

รวมถึงเป็นการให้ความรู้ด้านการแพทย์ การดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันโรคไต เพื่อให้ทุกท่านมีสุขภาพไตที่ดี โดยมุ่งหวังว่าประชาชนจะสามารถทราบระดับความเสี่ยงของตนเอง รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะกับสภากาชาดไทยส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุนให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ความดันโลหิต เบาหวาน สาเหตุทำไตเสื่อม

“โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มุ่งหวังให้ประชาชนทราบระดับความเสี่ยง หันมาดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันการเกิดโรคและชะลอการเสื่อมของไต พร้อมการได้รับคำปรึกษาแนะนำที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์นายกสภาและประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางสุขภาพให้กับประชาชนทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความเข้มแข็งเพื่อให้ประชาชนไทยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

นพ.ศุภณัฐ วรวิชชวงษ์  แพทย์เฉพาะทางโรคไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 17% หรือหากมีคนนั่งอยู่ในห้อง 100 คน จะพบป่วยโรคไตเรื้อรัง  17คน และแนวโน้มคนไข้ระดับ 5 ระดับฟอกไต มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 2 แสนคน

โดยสาเหตุที่เป็นโรคไต มาจากโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งคนไทยต้องฟอกไต  40% มาจากความดันโลหิตสูง  40% โรคเบาหวาน และ 20% จากสาเหตุอื่นๆ การตรวจพบให้เร็ว และมีการรักษา ป้องกันระยะต้นไม่ให้เข้าสู่โรคไตระยะ 5 ซึ่งสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นโรคไต ไม่ได้แตกต่างกัน

โรคไตเรื้อรัง เกิดจากกรรมพันธุ์ ได้ แต่โดยส่วนใหญ่ที่พ่อแม่ให้มรดกเรามา คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เมื่อพ่อแม่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  ลูกมักจะมีโอกาสเป็น และเมื่อคนเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  และไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงไตพัง ชวนดูแลสุขภาพไต

ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงโรคไต โดยเฉพาะผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงจะเป็นโรคไตมากขึ้น แต่โรคไต สามารถเกิดขึ้นในเด็กได้ โดยเด็กที่เป็นโรคไต จะเป็นกลุ่มโรคไตที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ไตอักเสบ

ธรรมชาติของร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็จะเสื่อมลง เช่นเดียวกับไต เมื่ออายุมากขึ้น ไตจะมีความเสื่อมลง ทำงานลดลง ดังนั้น เมื่อเราตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดการป้องกัน ดูแลโรคเบาหวาน นอกจากนั้น การรับประทานยาโดยไม่ทราบผลข้างเคียง ทั้งในยาแผนปัจจุบัน และยาสมุนไพร ล้วนมีผลต่อไตทั้งสิ้น เช่น ยาแก้ปวดจะมีผลมาก หรือยาสมุนไพรบางชนิดที่อาจจะมีสารปนเปื้อน ดังนั้น การรับประทานยา

ผู้ป่วยโรคไตรอการปลูกถ่ายอวัยวะ 6,000-7,000 คนต่อปี

นพ.ปรัชญา พุมอุทัยวิรัตน์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคไต  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะไต ในปัจจุบันได้มีการปลูกถ่ายมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอกับการรอจัดสรรอวัยวะ แต่ละปี มีการผู้ลงทะเบียนการรอปลูกถ่ายไตประมาณ 6,000-7,000 คน ซึ่งสถาบันที่ปลูกถ่ายไตได้ในแต่ละปี ประมาณ 600-700 คน  ฉะนั้น แสดงว่าอีก 90% ต้องรอการจัดสรรอวัยวะ  และต้องเข้ารับการบำบัดรักษาไตโดยวิธีอื่นๆ เช่น ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือ การล้างไตทางช่องท้อง  เป็นการเสียโอกาสที่คนไข้จะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

"ในส่วนของคนไข้ที่รอปลูกถ่ายอวัยวะ กว่า 6,000-7,000 ต่อปีนั้น จะได้ทำการรักษาโดยการฟอกเลือดจากไตเทียม หรือการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งประสิทธิภาพของการรักษาดังกล่าวไม่สามารถที่จะสู้กับการปลูกถ่ายไตได้ พบว่า ในแต่ละปี จะมีผู้เสียชีวิตจากการรอปลูกถ่ายไต ประมาณ 10-15%  ถือเป็นตัวเลขที่เยอะเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตในแต่ละปี 200,000 คน"

การมีเรื่องการรับบริจาค หรือการทำแคมเปณให้คนมาบริจาคอวัยวะมากขึ้น ก็จะเป็นการลดการรอของผู้ป่วย  ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยรอคิวนาน นอกจากการรออวัยวะแล้ว จะมีเรื่องการตรวจความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อของผู้บริจาค และผู้รับบริจาค ดังนั้น ถ้าเกิดว่าตรวจแล้วเข้ากันไม่ได้ การปลูกถ่ายอวัยวะก็จะไม่เกิดขึ้น  แต่ถ้าตรวจแล้วมีความเข้ากันได้ ก็ต้องไปประเมินสุขภาพของคนไข้ว่าจะสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายได้หรือไม่ เพราะว่าอายุมากเกินไป  มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถทำให้เกิดการผ่าตัดได้ หรือเกิดการต่อต้านเนื้อเยื่อมากขึ้น อาจจะทำให้เป็นข้อจำกัด

ตรวจคัดกรอง ป้องกันไตวายเรื้อรัง

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย จะเป็นหน่วยงานกลางที่รับบริจาคอวัยวะและจัดสรรในเรื่องนี้ ร่วมกับโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการปลูกถ่ายอวัยวะ  จะมีการร่วมประชาสัมพันธ์การเข้าถึง การรับบริจาคอวัยวะ มีการสนับสนุน หรือแคมเปณต่างๆ ให้คนเข้าถึงการบริจาคอวัยวะมากขึ้น

 นอกจากนั้น มีสิทธิการรักษาที่ครอบคลุม  ซึ่งทั้ง 3 กองทุน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสิทธิข้าราชการ ล้วนครอบคลุมการรักษา การปลูกถ่ายอวัยวะ  เพียงขอให้เป็นบุคคลเป็นสัญชาติไทย และมีระยะไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้าย ให้มาทำการปรึกษา  หรือเข้าทำการประเมินว่าสามารถปลูกถ่ายไตได้หรือไม่ รวมถึงได้รับคำปรึกษาจากสหสาขาวิชาชีพ  

“การตรวจคัดกรอง และตรวจสุขภาพ ประจำปีเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราเจอโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตได้ รวมถึงการรับประทานอาหาร ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็น เค็มจัด  มันจัด หรือหวานจัด และการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพียงพอ และการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล"

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จะเปิดให้บริการปลูกถ่ายไตในผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่  หมายถึงว่าถ้ามีญาติ สามีภรรยา หรือลูก ถูกต้องตามกฎหมาย มีความประสงค์จะปลูกถ่ายไตให้แก่ผู้ป่วยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายอวัยวะโรงพยาบาลจุฬาภรณ์  โทร.02-5766192-3 คาดว่าจะเริ่มในเดือนมิ.ย.นี้ เราจะมีโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยง ทำงานร่วมกัน

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรรับประทานอาหารอย่างไร?

ทั้งนี้ สำหรับหลักการโภชนาการบำบัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง  จะมีจุดมุ่งหมายในการดูแลผู้ป่วย 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอ

ประการที่ 2 จำกัดเกลือแร่และโปรตีนบางชนิดที่มีผลให้การขับของเสียในร่างกายมีผลอันตรายต่อสุขภาพของคนไข้โรคไต เช่น ยูเรีย และอาหารที่ควรรับประทาน คือ การรับประทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ สารอาหารในกลุ่มให้พลังงาน 

  • สำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 60 ปี ควรรับประทานอาหารที่มีพลังงานมากกว่า 35 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน
  • ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปี  ควรรับประทานอาหารที่มีพลังงานมากกว่า 30 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน

พลังงานจากสารอาหารที่รับประทานจะได้จาก 3 กลุ่มหลักๆ คือ

1.โปรตีน ซึ่งเน้นให้รับประทานจากโปรตีนสุขภาพดี อาทิ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน อาหารทะเล โปรตีนจากการเกษตร  เช่น ถั่วหรือพืชบางชนิดที่มาแปรรูป

2.คาร์โบไฮเดรต ที่ได้จากแป้ง น้ำตาล กลุ่มนี้อาจจะต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน อาจต้องมีการควบคุมแป้งและน้ำตาล ให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ

3. ไขมัน จะมีแหล่งที่มาจากพืชและสัตว์ ไขมันที่แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทาฯ คือ ไขมันคุรภาพดี ไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งจะอยู่ในส่วนของน้ำมันพืชเป็นหลัก เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น

การรับประทานไขมันต้องให้เพียงพอ และไม่มากจนเกินไป ส่วนพลังจากวิตามินและแร่ธาตุนั้น ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีการทำงานของไตลดลง แต่ผู้ป่วยต้องได้รับสารอาหารจากวิตามิน และเกลือแร่ที่เพียงพอ

อาหารที่ควรรับประทาน ได้แก่ ผักและผลไม้ เพื่อสร้างสารอาหาร ใย และไฟเบอร์ต่างๆ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีโปแตสเซียมน้อยก็จะเป็นผลไม้ที่แนะนำให้รับประทาน เช่น ฝรั่ง ชมพู่ และมะม่วง

ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ให้พลังงานและไม่ให้สารอาหาร คือ น้ำ  ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรได้รับประทานน้ำที่เพียงพอในแต่ละวัน หรือไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตร ต่อวัน  หรือ 6-8 แก้วต่อ  และในกลุ่มของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังและหัวใจ จำเป็นต้องให้ได้รับปริมาณน้ำที่เพียงพอ และไม่มากจนเกินไป  เนื่องจากอาจทำให้เกิดน้ำท่วมปอด หรือปัสสาวะน้อยลงได้

อาหารประเภทไหนที่คนไข้ไตเรื้อรังไม่ควรรับประทาน

อาหารในกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ได้แก่

  • อาหารที่มีความเค็มมากเกินไป

คนไข้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังเนี่ยมักจะมีโรคร่วม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง  อาจจะมีผลทำให้เกิดการควบคุมโรคประจำตัวแย่ลง ซึ่งจะส่งผลทำให้ไต ทำงานหนักขึ้นแล้วก็มีการเสื่อมของไตที่เร็วขึ้น 

  • อาหารที่มีส่วนประกอบเกลือแกง และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง

เช่น ซีอิ้ว ซอสปรุงรส เต้าเจี้ยว ของหมักดอง ผงชูรส ทำให้รับประทานอาหารเกลือมากเกินไป คำแนะนำของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง รับประทานเกลือแกงไม่เกิน 2 กรัม ต่อวัน หรือถ้าเป็นเกลือ ไม่เกิน 1 ช้อนชา

ส่วนน้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส  ต้องดูส่วนผสมของเกลือ ส่วนการรับประทานน้ำปลาที่มีโซเดียมต่ำ ไม่แนะนำ เนื่องจากอาจจะมีส่วนประกอบการเติมเกลือโปแตสเซียมเข้าไป  ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วย ได้รับโปแตสเซียมมากเกินไป

  • ไม่ควรรับประทาน ผลไม้หรือผักที่มีโปแตสเซียมสูง

 เช่น กล้วย มะละกอ มะยม มะปราง มะยมชิด แก้วมังกร

  • ผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริมที่มีการใส่โปรตีนจำนวนมาก

เช่น เวย์โปรตีน

3 หลักการในการเลือกรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคไต 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่เคยรับประทาน หรือไม่รู้จัก เนื่องจากอาจไม่ทราบส่วนประกอบที่มีปัญหากับไตหรือไม่
  • ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ และหลากหลาย
  • ควบคุมปริมาณการดื่มน้ำให้เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 1.5 ลิตรต่อวัน