'ปลูกถ่ายไต' เพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

'ปลูกถ่ายไต' เพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

โรคไตเรื้อรัง หากไตเสื่อมสภาพลงไปมากจนฝ่อ และเข้าสู่ระยะสุดท้าย จะไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ต้องฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ขณะที่ 'การปลูกถ่ายไต' สามารถทำให้คนไข้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ประเทศไทยมีการปลูกถ่ายไตปีละ 700-800 ราย

 

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่เนื้อไตถูกทำลายลงไปทีละน้อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือนานเป็นปี จนไม่สามารถทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายได้ตามปกติ

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า ในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่ค่อยรู้ตัวถ้าไม่ได้มีการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ กว่าผู้ป่วยจะสังเกตเห็นอาการผิดปกติและเข้ารับการรักษา ก็อาจเป็นช่วงที่ไตเสื่อมสภาพลงไปมากจนฝ่อ และเข้าสู่ระยะสุดท้าย ทำให้มีของเหลว เกลือแร่ และของเสียสะสมในร่างกายมากขึ้นในระดับที่อาจเป็นอันตราย โดยอาจแสดงอาการหลายอย่าง เช่น ขาและเท้าบวม ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะบ่อย ซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ความดันสูง

 

ไตวายเรื้อรัง สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

หากผู้ป่วยเป็น โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ดังนั้น เพื่อลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะต้องฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง แพทย์จะแนะนำสิ่งที่สามารถทําหรือหลีกเลี่ยงการสร้างความเสียหายต่อไต ชะลอไม่ให้ไตเสื่อมสภาพไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม
  • ควบคุมภาวะโภชนาการให้เหมาะสม โดยเฉพาะปริมาณโปรตีนที่รับประทานต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดชนิด NSAIDs และ cox-2 inhibitors
  • งดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพร หรือยาที่อาจส่งผลต่อไตโดยไม่จำเป็น หรือแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

เทียบสิทธิ 'ฟอกไต' ปรับระบบเพิ่มโอกาสเข้าถึง 'การปลูกถ่ายไต'

'โรคไตเรื้อรัง' ความเสี่ยงใกล้ตัวของคนชอบกินเค็ม

"กฎ 3D" ช่วยชะลอความเสื่อม "ไตวายเรื้อรัง"

 

 

การปลูกถ่ายไต สำหรับคนไข้ โรคไตวายเรื้อรัง

ปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย และต้องเข้ารับการฟอกเลือด (ฟอกไต) ด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตทางช่องท้อง เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคไตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนที่ไม่สะดวกฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ก็ยังมีอีกหนึ่งวิธีการบำบัดทดแทนไต นั่นคือ การปลูกถ่ายไต

 

การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดนำไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต หรือผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย มาปลูกถ่ายให้กับคนไข้ไตวายเรื้อรัง โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดนำไตของคนไข้ออก ไตใหม่จะทำหน้าที่ทดแทนไตเดิมที่เสียหาย และหลังการปลูกถ่ายไตสำเร็จ สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

คนไข้ที่สามารถทำการปลูกถ่ายไตได้

  • เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
  • ยินยอมเข้ารับการผ่าตัดด้วยความสมัครใจ
  • ไม่เป็นโรครุนแรงทางกายใด ๆ รวมทั้งโรคทางจิตเวช ที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด หรือการรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
  • ไม่เป็นผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งอยู่
  • ไม่มีการติดเชื้อที่เป็นข้อห้ามต่อการปลูกถ่ายไต
  • ผู้ประสงค์จะบริจาคไต กรณีผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างไร
  • ผู้บริจาคต้องมีอายุระหว่าง 18-60 ปี
  • มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น บิดา มารดา บุตร พี่ น้อง
  • หากเป็นคู่สมรส ต้องจดทะเบียนสมรส อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี (ยกเว้นมีบุตรร่วมกัน)
  • ยินยอมให้ด้วยความสมัครใจ ปราศจากการบังคับ ข่มขู่
  • มีหมู่เลือด และผลตรวจ HLA Crossmatch ที่เข้ากันได้
  • มีสภาพจิตใจปกติ สามารถเข้าใจถึงผลดี ผลเสียจากการบริจาคไต และตัดสินใจโดยใช้วิจารณญาณของตนเองได้
  • ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการบริจาคไต

 

\'ปลูกถ่ายไต\' เพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

 

อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายไต เป็นการผ่าตัดใหญ่ ที่มีขั้นตอนซับซ้อน ไม่ใช่ว่าจะเป็นไตของใครก็ได้ ต้องมีการเตรียมตัววางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่รับบริจาคไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต หรือผู้เสียชีวิตที่มีภาวะสมองตาย แม้แต่ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดีด้วย สำหรับกรณีผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ จะต้องผ่านการตรวจสอบการเข้ากันได้ของเลือด และเนื้อเยื่อระหว่างผู้ป่วยและผู้บริจาคไตอย่างละเอียดรอบคอบ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • ตรวจเลือด ตรวจร่างกาย ตรวจสภาพจิตใจ ทั้งของผู้บริจาคและผู้รับบริจาค
  • ตรวจเนื้อเยื่อ (HLA typing) หรือ DNA ดูความเข้ากันได้ระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาค
  • ส่งชื่อเข้าประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพื่อลงความเห็นชอบ
  • นัดวันผ่าตัดปลูกถ่ายไต

 

ไทยปลูกถ่ายไตปีละ 700-800 ราย

ข้อมูลจาก สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ล้างไตฟอกเลือดต่อล้านประชากร ติดอันดับ 4 ของโลก แต่มีผู้ที่ปลูกถ่ายไตอยู่ในอันดับ 4-5 ท้ายของโลก เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงกับไทย อย่างประเทศอังกฤษที่มีประชากรล้างไตฟอกเลือดไม่มาก แต่มีการปลูกถ่ายไตในสัดส่วนที่สูงมาก

 

ทั้งนี้ ประเทศไทย สามารถปลูกถ่ายไตได้ประมาณปีละ 700-800 ราย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยผู้ป่วยสมองตาย 2 ใน 3 ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการมี Service Plan รับบริจาคเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ ทำให้มีการรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตายมากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทย มีโรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายไตได้ 31 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ กระทรวงกลาโหม และเอกชนเล็กน้อย โดยการปลูกถ่ายไต สิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐครอบคลุม สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

 

ปลูกถ่ายไต รพ.เมดพาร์ค

สำหรับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค (Medpark) ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อ ตุลาคม 2560 และ ผ่านการตรวจรับรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ให้เป็นโรงพยาบาลสมาชิกสมทบที่สามารถทาการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565

 

ที่ผ่านมา ได้ทำการผ่าตัดผู้ป่วยคู่แรก คือ LIVING DONOR KIDNEY TRANSPLANT เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 และคู่ที่ 2 เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม 2565 ผลการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดีทั้ง 2 เคส หลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยและผู้บริจาคไต ไม่มีภาวะแทกซ้อนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ได้มีผู้บริจาคสมองตาย (Brain Death) และได้มีการทำผ่าตัดรับบริจาคอวัยวะ (Organ Procurment) ให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำผ่าตัดรับบริจาคอวัยวะในเคสผู้ป่วยสมองตายของโรงพยาบาล

 

โครงการเมดพาร์ค ปลูกถ่ายไตฟรี 3 เคส

ล่าสุด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ริเริ่มทำ โครงการ ‘ครบรอบ 3 ปี ทำดีต่อเนื่อง’ เพื่อคนไข้โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ปลูกถ่ายไตฟรี 3 ราย ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ต้องมีบุคคลในครอบครัวประสงค์จะมอบไตให้ โดยมีคณะกรรมการของโรงพยาบาล เป็นผู้คัดเลือกผู้เข้ารับการปลูกถ่ายไต

ระยะเวลารับสมัคร

  • 20 ตุลาคม – 31 มกราคม 2567

สอบถามเพิ่มเติม

 

\'ปลูกถ่ายไต\' เพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย