'Sleep Test' เช็กคุณภาพการนอน เพราะปัญหา มีมากกว่า 'นอนไม่หลับ'

'Sleep Test' เช็กคุณภาพการนอน เพราะปัญหา มีมากกว่า 'นอนไม่หลับ'

หากเกิดปัญหาในการนอน เช่น นอนไม่หลับ, นอนกรน หรือนอนหลับไม่สนิท จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆ ตามมา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น Sleep test การตรวจการนอนหลับ จะช่วยตรวจความผิดปกติของร่างกายขณะหลับได้

Key Point :

  • คนส่วนใหญ่มักจะพบปัญหา นอนไม่หลับ แต่ความจริง ปัญหาการนอนมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นนอนละเมอ นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น 
  • Sleep test การตรวจการนอนหลับ จึงเป็นแนวทางในการสังเกตการทำงานของร่างกาย สามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับได้
  • ประกันสังคม ได้ให้ผู้ประกันตน สามารถเบิกค่าตรวจ Sleep test ได้แล้วไม่เกิน 7,000 บาท ผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

 

ปัญหาการนอนหลับ มีผลต่อสุขภาพทั้งโรคทางกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตใจ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ บนท้องถนนและการทำงานได้

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ ระบุว่า ปัญหาโรคจากการนอนหลับโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มโรค ดังนี้

1.โรคนอนไม่หลับ (insomnia)

2. โรคการหายใจผิดปกติขณะหลับ (sleep related breathing disorders)

3. โรคนอนละเมอ (parasomnias)

4. โรคการเคลื่อนไหวผิดปกติขณะหลับ (sleep related movement disorders)

5. ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน (central disorders of hypersomnolence)

6. ความแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm sleep-wake disorders)

 

โดยล่าสุด ผู้ประกันตนที่มีปัญหา 'การนอนหลับ' จนกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องการเข้าไปตรวจ Sleep test ขณะนี้ สามารถเบิกค่าตรวจ Sleep test ได้แล้วผ่านประกันสังคม ไม่เกิน 7,000 บาท ผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

นอนหลับลึกช่วยให้สมองดีขึ้น

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า แนวโน้มภาวะนอนไม่หลับของผู้คนในปัจจุบันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการนอนไม่หลับเป็นหนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยประมาณ 19 ล้านคน และกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก ทั้งที่การนอนหลับลึกมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ ทั้งด้านความจำ ภาษา การแสดงออกของพฤติกรรม และอารมณ์

 

การนอนหลับลึก ช่วยจัดเรียงความทรงจำในสมองให้ดีขึ้น เชื่อมโยงความทรงจำเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน หากอดนอน ความสามารถในการเรียนรู้จะลดลงมากถึง 40% รูปแบบของการนอนจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี จะสูญเสียการหลับลึกไปมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับคนอายุ 18-25 ปี นี่คือสาเหตุว่า ทำไมผู้สูงอายุจึงมีปัญหาในเรื่องความจำ

 

หากเกิดปัญหาในการนอน เช่น นอนไม่หลับ, นอนกรน หรือนอนหลับไม่สนิท ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆ ตามมา ซึ่งผลกระทบในระยะสั้นนี้อาจก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ขาดสมาธิในการทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะส่งผลต่อสุขภาพทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆได้ง่าย

 

 

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA) เป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบันเนื่องจากผลร้ายต่อสุขภาพที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก จากสถิติของ สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยปี 2563 ประชากรไทยเกือบ 20% มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะนี้ประมาณ 1 พันล้านคนหรือประมาณ 14% ของประชากรทั้งโลก

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเมดพาร์ค พบว่า ปัญหาการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนไม่หลับ ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 50% เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

 

นอกจากนี้ ความอ่อนเพลียในตอนกลางวันอันเป็นผลมาจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นของแพทย์ รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน หรือขณะขับรถได้อีกด้วย

 

Sleep Test คืออะไร

โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า Sleep test คือ การตรวจการนอนหลับ เพื่อสังเกตการทำงานของร่างกาย เครื่องมือเฉพาะที่ใช้จะสามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับร่วมกับการดูแลโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และนักเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนอน

 

โดยในขั้นตอนจะมีการติดอุปกรณ์เฉพาะที่ เพื่อใช้บันทึกการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ ได้แก่ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด การหายใจเข้าออกทั้งทางจมูกและทางปาก คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การขยับของกล้ามเนื้อตา แขน ขาและกราม รวมทั้งบันทึกวิดีโอ เพื่อสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ

 

วิเคราะห์การนอนไม่ปกติ

เมื่อตรวจ Sleep test เสร็จแล้ว แพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรง เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ ภาวะเคลื่อนไหวและพฤติกรรมผิดปกติขณะหลับ นอนแขนขากระตุกขณะหลับ การละเมอ ภาวะนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ อาทิเช่น นอนกัดฟัน ตลอดจนภาวะชักขณะหลับ หรือเป็นโรคลมหลับ (narcolepsy) ฯลฯ

 

การตรวจ Sleep test สามารถพิจารณาได้ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยสังเกตอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้

  • นอนกรน
  • มีเสียงกรนหยุดเป็นพักๆ พลิกตัวบ่อยๆ
  • หายใจลำบากและสงสัยว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับ
  • ง่วงนอนช่วงกลางวันมากผิดปกติ ทั้งที่ได้ผักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ตื่นเช้าไม่สดชื่น มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อยๆ
  • มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ นอนกัดฟัน นอนละเมอ หรือสะดุ้งตื่นเป็นประจำ
  • นอนหลับยาก หรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อย ๆ มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ข้อปฏิบัติก่อนตรวจ Sleep test
  • อาบน้ำชำระล้างร่างกายและสระผมให้สะอาดก่อนเข้าตรวจ
  • ห้ามใส่น้ำมันหรือทาครีมใดๆ เพราะอาจรบกวนการติดอุปกรณ์การตรวจ
  • งดชา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่มาตรวจ เพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่
  • จดชื่อและขนาดยา พร้อมทั้งนำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่มาด้วย