มีปัญหาการนอน? เบิกค่า sleep test ผ่าน 'ประกันสังคม' ได้แล้ว ไม่เกิน 7,000 บาท

มีปัญหาการนอน? เบิกค่า sleep test ผ่าน 'ประกันสังคม' ได้แล้ว ไม่เกิน 7,000 บาท

“ผู้ประกันตน” ที่มีปัญหา “การนอน” หรือป่วยโรค “หยุดหายใจขณะหลับ” และจำเป็นต้องใช้เครื่อง CPAP “ประกันสังคม” ให้เบิกค่าตรวจนอนหลับ (sleep test) ค่าอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมได้แล้ว! โดยค่าตรวจเบิกได้ไม่เกิน 7,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567

ข่าวดีสำหรับผู้ประกันตนที่มีปัญหา "การนอนหลับ" จนกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องการเข้าไปตรวจ Sleep test แต่ก่อนหน้านี้อาจยังชั่งใจอยู่ ไม่ตัดสินใจไปตรวจเพราะกังวลค่าบริการราคาแพง แต่ตอนนี้ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าตรวจ Sleep test ได้แล้วผ่านประกันสังคม

ล่าสุด.. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน รักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วย "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP) 

โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถเบิกค่าตรวจนอนหลับ (sleep test) ค่าอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมได้แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

มีปัญหาการนอน? เบิกค่า sleep test ผ่าน \'ประกันสังคม\' ได้แล้ว ไม่เกิน 7,000 บาท

1. ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป 

2. ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ (ช) ใน (2) ของข้อ 5 หมวด 1 แห่งประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 3 เม.ย. พ.ศ. 2556 

สำหรับ (ช) การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ มีดังนี้ 

- ค่าตรวจนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 1 (มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจทั้งคืน) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท 

- ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนการตรวจชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ) จ่ายในอัตราเท่าที่จริงไม่เกิน 6,000 บาท 

- ค่าอุปกรณ์เครื่อง CPAP และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานกำหนด ดังนี้ 1) เครื่อง CPAP ราคาชุดละ 20,000 บาท และ 2) หน้ากากครอบจมูก หรือปากที่ใช้กับเครื่อง CPAP ราคาชิ้นละ 4,000 บาท 

3. กรณีสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน ส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น โดยผู้ประกันตนได้รับการตรวจวินิจฉัย และอนุมัติเบิกใช้เครื่อง CPAP ให้สถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์ สำหรับผู้ประกันตนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมค่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่สถานพยาบาลที่ทำการรักษา โดยสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ตามหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการที่สำนักงานกำหนดตาม ข้อ 2 

อนึ่ง ค่าอุปกรณ์เสริม รายการแผ่นกรองอากาศ (Filter) กระดาษ และแผ่นกรองอากาศฟองน้ำ ให้รวมอยู่ในค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน 

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากกรมการแพทย์ อธิบายว่า การตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นการตรวจบันทึกลักษณะทางสรีรวิทยาหลายสัญญาณในขณะหลับ ซึ่งจะต้องใช้เวลาหนึ่งคืนในการตรวจ โดยให้ผู้ป่วยนอนหลับเหมือนปกติในทุกๆ วัน จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการหลับ เช่น โรคการหายใจผิดปกติขณะหลับ โรคนอนละเมอ ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เป็นต้น เพื่อประเมินระดับความรุนแรง การวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่น ชี้แนะแนวทางการรักษา ตลอดจนติดตามผลการรักษา เพื่อการวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ

หากตรวจแล้วพบว่าคนไข้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) แพทย์จะพิจารณารักษาตามระดับความรุนแรงของโรคและโรคร่วม โดยมี วิธีการรักษา OSA หลักๆ ดังนี้

1. การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure, CPAP) ถือเป็นมาตรฐานในการรักษา

2. การใส่ทันตอุปกรณ์ (oral appliance) โดยทันตแพทย์จะทำการประดิษฐ์ให้เหมาะสมสำหรับคนไข้ในแต่ละราย หลักการทำโดยดึงกรามล่างและลิ้นมาข้างหน้า เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง หายใจสะดวกขึ้น

3. การผ่าตัดในคนไข้ที่มีปัญหาโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ ทั้งนี้ จะมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เพื่อประเมินก่อนว่าผู้ป่วยมีความเหมาะสมที่จะผ่าตัดหรือไม่ อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการนอนหลับสามารถส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกาย จิตใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หากพบว่า มีอาการนอนกรนดังผิดปกติ หยุดหายใจ อาการง่วงนอนในเวลากลางวันมากผิดปกติทั้งที่นอนหลับเพียงพอแล้ว แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น เข้ารับคำปรึกษาจาก "สถาบันโรคทรวงอก" ที่มีให้บริการปรึกษาโรคจากการนอนหลับทุกวัน (เวลาทำการ 08.30 - 16.30 น. นอกเวลาทำการ 16.30 - 19.00 น.) หรือสามารถโทรสอบถามเพิ่มเติม 02-547-0999 ต่อ 30512