ภาวะตากระตุก ลางร้าย ? หรือสัญญาณเตือนสุขภาพ

ภาวะตากระตุก ลางร้าย ? หรือสัญญาณเตือนสุขภาพ

ขวาร้าย ซ้ายดี คำๆ นี้ เราได้ยินมานาน เป็นคำที่มักพูดในขณะที่มีอาการ ‘ตากระตุก’ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องของโชคลาง ความเชื่อ ขณะเดียวกัน ในทางการแพทย์ ก็มีคำอธิบายในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะมันอาจเป็นสัญญาณเตือนสุขภาพ ที่สามารถรักษาได้

Key Point : 

  • หลายคนเชื่อว่า ภาวะตากระตุก เป็นสัญญาณเตือนโชคลาง หรือที่เรามักพูดว่า 'ขวาร้าย ซ้ายดี' 
  • แต่ความจริงแล้ว ภาวะตากระตุก ทางการแพทย์ เป็นอาการที่กล้ามเนื้อบริเวณหนังตามีการหดตัว  สามารถเกิดขึ้นได้ และหายได้เอง
  •  อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรง เช่น ตากระตุกติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ ลืมตาไม่ขึ้น หรือ มีอาการกระตุกบริเวณมุมปาก แก้ม ควรรีบปรึกษาแพทย์

 

ภาวะตากระตุก เป็นอาการหนึ่งของเปลือกตา ที่เกิดจากการสั่นไหวอย่างรวดเร็ว อาการตากระตุกนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาล่าง และส่วนของเปลือกตาบน แต่ส่วนใหญ่มักพบการกระตุกของเปลือกตาบนมากกว่า ถี่กว่า โดยปกติ อาการตากระตุกจะเกิดขึ้นและหายไปเองอย่างรวดเร็ว แทบไม่มีผลใดของการดำรงชีวิต

 

รศ.นพ.ธัญญทัต ผดุงเกียรติสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา สาขาวิชาจักษุประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ ลัดคิวหมอรามาฯ ผ่านเฟซบุ๊ก RAMA Channel อธิบายว่า เรื่องของตากระตุก มักไปผูกกับเรื่องโชคลาง ขวาร้าย ซ้ายดี แต่ความจริง โดยส่วนมากไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง การกระตุกก็คือ การที่กล้ามเนื้อบริเวณหนังตามีการหดตัว มีการทำงานแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

กระบวนการกล้ามเนื้อหดตัวโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เหมือนเป็น Reflex คล้ายๆ กับการกระพริบตา เราก็ไม่ได้ตั้งใจกระพริบตาทุกครั้ง อาจจะมีบางครั้งที่เราเคืองตา ทำให้กระพริบตาเยอะ แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ คล้ายๆ กับการหายใจ พอเกิดปัญหาในเรื่องการควบคุมเรื่องประสาทส่วนกลาง บางกรณีจะส่งผลให้การทำงานโดยอัตโนมัติ อาจจะโอเวอร์แอคทีฟ บางคนที่เป็นโรคเยอะๆ อาจจะกระพริบตาเยอะกว่าปกติ โดยที่ไม่ได้มีเหตุปัจจัย ไม่มีฝุ่นเข้าตา แต่อยู่ๆ ก็กระพริบตาขึ้นมาเอง หรือ เกิดขึ้นเฉพาะที่ คล้ายๆ ไฟฟ้าลัดวงจร โดยปกติเวลากล้ามเนื้อหดตัว ก็เหมือนมีการสั่งงานของเส้นประสาท กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัว

 

อาการตากระตุกที่ไม่ควรมองข้าม

  • ตากระตุกติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์
  • ตากระตุกพร้อมกันทั้งสองข้าง
  • กระตุกบริเวณอื่นด้วย เช่น แก้ม หรือ มุมปาก
  • เกร็ง กระตุกแรงมาก จนลืมตาไม่ขึ้น
  • มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เคืองตา แสบตา มีขี้ตา

 

“ตากระตุก มีทั้ง ‘อาการผิดปกติที่เป็นธรรมชาติ’ นานๆ ทีเป็นครั้ง ปัจจุบันเช่นความเครียด นอนน้อย ดื่มคาเฟอีนเยอะ ทำให้กล้ามเนื้อเต้นขึ้นมาได้ กระตุกเล็กน้อยแล้วหายเอง แต่ในบางภาวะ ‘สัมพันธ์กับตัวโรคกับประสาทส่วนกลาง’ เช่น กล้ามเนื้อรอบเปลือกตาหดเกร็ง หรือ กล้ามเนื้อใบหน้าหดเกร็ง จะมีอาการเยอะขึ้นเรื่อยๆ หลับตา ลืมตาไม่ขึ้น หรือบางคนมีปากเบี้ยวร่วมด้วยเป็นต้น”

 

 

ปัจจัยกระตุ้น ตากระตุก

  • เครียดสะสม
  • ตาล้า ตาแห้ง
  • พักผ่อนไม่เพยงพอ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
  • ระคายเคืองเปลือกตา
  • แสดงสว่าง แสงจ้า
  • ลม มลพิษทางอากาศ
  • สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ขาดวิตามิน สารอาหาร
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป

 

“หากเป็นนานๆ ที หรือพ้นจากภาวะเครียดไปแล้วหายได้เอง มักจะไม่ต้องทำอะไร มักจะไม่มีอะไรน่ากังวล แต่หากเป็นตลอด ต่อให้ไม่สัมพันธ์กับความกังวล หรือเริ่มเป็นเยอะ จนกระทั่งลืมตาไม่ขึ้น ต้องตรวจเช็ก คนไข้อาจมีแค่อาการทางตา หรือเป็นร่วมกับคนไข้ที่มีโรคทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น พาร์กินสัน ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย และมีปัญหาโรคระบบประสาททางร่างกายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน”

 

ทั้งนี้ หากตากระตุกเฉพาะ บน หรือ ล่าง ไม่ค่อยมีปัญหาในแง่การใช้ชีวิต อาจจะเป็นในเชิงบุคลิก ภาพลักษณ์มากกว่า แต่บางคนตาบีบ ลืมตาไม่ขึ้น ขับรถอยู่ตาบีบ ตาปิด คล้ายๆ เป็นตระคริว ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งบางคนที่มีอาการตาบีบ อาจจะไม่ได้เป็นแค่ดวงตาอย่างเดียว แต่บางคนอาจจะไปที่ใบหน้า ลำคอ กล้ามเนื้อแขน ขา แต่มักจะเป็นต่อเนื่องนานๆ ไม่ใช่ครั้งเดียวแล้วหายไป

 

การรักษา อาการตากระตุก

รศ.นพ.ธัญญทัต อธิบายว่า อาการตากระตุก ไม่มียารักษาจำเพาะโดยตรง เพราะยังไม่สามารถรู้สาเหตุโดยตรงว่าจุดที่เป็นปัญหาอยู่ตรงไหน แต่การรักษาโดยส่วนมา คือ การลดปัจจัยกระตุ้น เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าเครียดเยอะ ลดคาเฟอีน แต่หากไม่ดีขึ้น ก็จะต้องใช้ยาทาน กลุ่มที่ลดอัตราการส่งสัญญาณทางเส้นประสาท หรือ ยาฉีด เช่น โบทูลินั่ม ท็อกซิน ที่ใช้ในด้านความงาม สามารถใช้ในการรักษาได้เช่นกัน

 

กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก

นอกจากกล้ามเนื้อตากระตุกแล้ว บางคนอาจจะมี กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm) โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า คือ ภาวะที่มีการกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก มักพบในช่วงอายุ 50 – 60 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาการมักเริ่มที่เปลือกตาก่อนแล้วค่อย ๆ เป็นมากขึ้น โดยมีอาการกระตุกที่แก้มและริมฝีปากด้านเดียวกัน อาการกระตุกนี้ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อโรครุนแรงขึ้นจะมีอาการกระตุกเกือบตลอดเวลา อาจพบอาการกระตุกขอบใบหน้าอีกฝั่งได้ แต่พบน้อยมาก และจะมีอาการกระตุกไม่พร้อมกัน

 

ปัจจัยกระตุ้นโรคตากระตุก

อาการใบหน้ากระตุก อาจถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ อาทิเช่น

  • การเคลื่อนไหวใบหน้า
  • ความวิตกกังวล
  • ความเครียด
  • ความเหนื่อยล้า
  • ฯลฯ

 

ประเภทของโรคตากระตุก

กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. Primary Hemifacial Spasm คือ การที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 โดนกดทับจากเส้นเลือดบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดความผิดปกติของการควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและเปลือกตา

2. Secondary Hemifacial Spasm พบได้น้อยกว่า Primary Hemifacial Spasm บางครั้งอาจไม่ทราบสาเหตุ และพบว่าบางรายมีประวัติครอบครัวร่วมด้วย โดยอาจเกิดจาก

  • เส้นเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis)
  • เส้นเลือดผิดปกติ (Arteriovenous Malformation)
  • เส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm)
  • เนื้องอกของต่อมน้ำลาย
  • เนื้องอกที่บริเวณ Cerebellopontine Angle
  • การบาดเจ็บของเส้นประสาทคู่ที่ 7
  • รอยโรคของก้านสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทอักเสบ และ Bell’s Palsy

 

ตรวจวินิจฉัยโรคตากระตุก

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจสมองและเส้นประสาทสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ฯลฯ

 

รักษากล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก

  • กลุ่มยากันชัก อาจช่วยลดอาการได้บ้างในบางราย
  • การฉีด Botulinum Toxin
  • การผ่าตัด Microvascular Decompression ในกรณีที่มีเส้นเลือดกดทับเส้นประสาท

 

ที่มา : RAMA Channel , รพ.กรุงเทพ