โรคติดเชื้อจาก 'น้องหมา' ภัยสัตว์เลี้ยงที่ต้องระวัง

โรคติดเชื้อจาก 'น้องหมา' ภัยสัตว์เลี้ยงที่ต้องระวัง

ความนิยมเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันมีมากขึ้น ไม่ว่าจะ 'น้องหมา' น้องแมว นก กระต่าย ฯลฯ ส่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือ การโดนสัตว์เลี้ยงกัด โดยเฉพาะน้องหมาข้างทาง อาจเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสพิษสุนัขบ้าได้

Key Point :

  • 'สุนัข' เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน และส่วนใหญ่จะเลี้ยงเสมือนคนในครอบครัว
  • อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนรักสัตว์ต้องรู้ คือ การติดเชื้อจากสัตว์ หลังจากโดนกัด โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสพิษสุนัขบ้า 
  • หากเป็น 'น้องหมา' ที่เราเลี้ยงเองและฉีดวัคซีนทุกปี ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก แต่หากเป็นน้องหมาตามข้างถนน ต้องรีบพบแพทย์และฉีดวัคซีนโดยเร็ว

 

การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัตว์เลี้ยงสามารถอยู่เป็นเพื่อนเราได้ ช่วยคลายเครียด โดยสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยม อาทิ แมว สุนัข นก กระต่าย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าการเลี้ยงสัตว์ช่วยในการบำบัดโรค เชื่อว่าผู้ป่วยได้สัมผัสสัตว์เลี้ยงขณะที่อยู่โรงพยาบาล จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีขึ้น มีกำลังใจในการรักษาโรคต่างๆ ที่เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยง อาจนำโรคมาสู่คนได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งในบางครั้ง เชื้อโรคไม่ได้เกิดในสัตว์ แต่ติดมายังคน ทำให้เราติดเชื้อร้ายแรงได้

 

รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวในรายการ ลัดคิวหมอรามาฯ ว่า แน่นอนว่า น้องหมาช่วยให้เรามีความสุข อีกทั้ง ยังสามารถช่วยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยนานๆ ให้มีจิตใจเบิกบานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่โดนสุนัขกัด ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ทั้งการติดเชื้อจากกลุ่มแบคทีเรีย และ กลุ่มไวรัส

1. การติดเชื้อจากแบคทีเรีย หากโดนสุนัขกัด ในปากสุนัขจะมีเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แผลติดเชื้อ และหากรุนแรงทำให้เกิดหนองได้

2. ไวรัสพิษสุนัขบ้า ที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ คือ เมื่อโดนกัดแล้วทำให้เป็น โรคพิษสุนัขบ้า

3. โรคบาดทะยัก จากเชื้อแบคทีเรีย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

สาเหตุโรคติดเชื้อจากสุนัข

  • การสัมผัสสัตว์ที่ป่วย
  • สัมผัสสารคัดหลั่งของสุนัข เช่น น้ำลาย เมื่อถูกกัด ข่วน
  • แมลงที่เป็นพาหะนำโรค กัด ต่อย หรือเข้าสู่ร่างกาย

 

“ไวรัสพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำลาย สารคัดหลั่ง ดังนั้น เมื่อถูกกัดครั้งหนึ่ง สามารถติดทั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสได้ ”

 

หากถูกสุนัขกัด ทำอย่างไร

  • ล้างแผลให้สะอาด
  • ควรไปพบแพทย์ การทำแผลที่ดีทำให้ช่วยลดเชื้อแบคทีเรีย และรับยาฆ่าเชื้อ
  • เช็กว่าเคยฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และ วัคซีนบาดทะยักหรือไม่
  • หากเคยฉีดวัคซีนแล้ว 5-10 ปี จะต้องมีการฉีดกระตุ้น

 

"ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่ถูกกัดจะติดเชื้อและเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากเป็นแล้ว จะอาการหนัก โดยเฉพาะไวรัสพิษสุนัขบ้า ส่งผลทำให้เกิดสมองอักเสบ เจอไม่บ่อยแต่อาจจะรุนแรงและเสียชีวิตได้ ปัจจุบันไม่มียารักษา อยากจะเน้นย้ำว่าให้ฉีดวัคซีน เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่มีโอกาสรุนแรง"

 

 

หากโดนน้องหมาที่เลี้ยงกัด ทำอย่างไร

รศ.นพ.จักรพงษ์ อธิบายว่า เนื่องจากปัจจุบัน มีการเลี้ยงสุนัขกันเยอะ ส่วนใหญ่คนที่เลี้ยงสุนัข จะฉีดวัคซีนให้น้องทุกปี หากเรามั่นใจว่าฉีดวัคซีนทุกปี โอกาสเรื่องพิษสุนัขบ้าจะน้อยลง หากโดนสุนัขเลียหน้าส่วนใหญ่ก็จะไม่มีปัญหาเพราะเป็นสุนัขที่เราเลี้ยงเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผิวหนังของเราจะไม่น่ากังวล เว้นแต่บริเวณเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก จะมีโอกาสที่เชื้อเข้าได้

 

"อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราอาจจะเจอสุนัขที่อยู่ตามถนนกัด หากไม่แน่ใจแนะนำให้พบแพทย์ แบคทีเรียบางตัวจากสุนัข อาจจะเป็นแบคทีเรียกินเนื้อคน ซึ่งเป็นไปได้เช่นกันในกรณีที่ถูกกัดรุนแรง การป้องกันอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่แนะนำว่า ไม่ควรแหย่สัตว์ โดยเฉพาะน้องหมาตามถนน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวไหนมีเชื้อพิษสุนัขบ้า"

 

โรคพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่เข้าทางเส้นประสาท เพราะฉะนั้น บริเวณใบหน้าของเราเป็นส่วนที่สำคัญ โดนกัดที่แขนยังไม่น่ากลัวเท่าใบหน้า โดยเฉพาะเด็ก ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะตัวเล็ก และเมื่อเล่นกับสุนัขอาจจะโดนกัดได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้กังวลมาก

 

“ผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัด และติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เจอไม่บ่อย อาการส่วนใหญ่จะซึมลง สมองอักเสบ และจุดเด่น คือ จะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นค่อนข้างมาก เช่น โดนน้ำ โดนลม ที่เราเคยได้ยินว่าโรคกลัวน้ำ เพราะคนที่ติดเชื้อหากโดนน้ำ โดนลม จะรู้สึกหนาว มีการเซนซิทีฟต่อสิ่งกระตุ้นค่อนข้างมาก อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้”

 

พิษสุนัขบ้า ยังไม่มียารักษา

ปัจจุบัน โรคพิษสุนัขบ้า ยังไม่มียารักษา ส่วนใหญ่รักษาแบบประคับประคอง มีโอกาสหาย และมีโอกาสเสียชีวิตหากอาการหนัก รศ.นพ.จักรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า แต่ประชาชนไม่ต้องตกใจ เพราะโรงพยาบาลทุกที่ในห้องฉุกเฉินมีวัคซีนพิษสุนัขบ้า อาจจะมีความน่ากังวลในบางกรณีที่ไปเที่ยวต่างประเทศและไม่มีวัคซีนดังนั้น จะมีอีกวิธี คือ การฉีดวัคซีนก่อนโดนกัด

 

“ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะโดนกัดแล้วค่อยฉีด แต่ในบางประเทศ เช่น นักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย จะฉีดมาก่อน 3 เข็ม หรือในสัตวแพทย์ กลุ่มคนทำแล็บ คนดูแลน้องหมา คนที่สัมผัสสัตว์เยอะส่วนใหญ่จะฉีดป้องกัน เป็นทางเลือกที่สามารถทำได้”

 

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัด
  • ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัข
  • ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักหลังถูกกัด
  • กินยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาแผลติดเชื้อ