ปี 93 แนวโน้มประชากรโลก 'สายตาสั้น' 50% เด็กอาเซียนเสี่ยงเพิ่ม 62%

ปี 93 แนวโน้มประชากรโลก 'สายตาสั้น' 50% เด็กอาเซียนเสี่ยงเพิ่ม 62%

ปัญหาสายตา ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเด็กช่วงอายุไม่เกิน 20 ปี ในปี 2563 ทั่วโลกมีประชากรสายตาสั้น 20% และหากไม่ทำอะไรเลยคาดจะเพิ่มขึ้น 50% ของประชากรโลก ในปี 2593 โดยเฉพาะเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยงภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นไปถึง 62%

Key Point : 

  • ภาวะสายตาสั้นในเด็ก เป็นปัญหาที่พ่อแม่ไม่ควรเพิกเฉย เพราะนอกจากจะส่งผลต่อการเรียนรู้แล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอื่นๆ อีกด้วย 
  • ปี 2563 ทั่วโลกมีประชากรสายตาสั้น 20% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 30% และหากไม่ทำอะไรเลยจะเพิ่มขึ้น 50% ของประชากรโลกในปี 2593
  • การดูแลสายตาง่ายๆ ทำได้โดยเพิ่มกิจกรรมการแจ้ง ลดเวลาการมองใกล้ และพักสายตา ด้วยกฎ 20-20-20

 

สภาวะสายตาสั้นในเด็ก จะส่งผลต่อความสามารถทางการเรียนรู้ เพราะกว่า 80% ของการเรียนรู้ในประเทศไทย ขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองเห็น อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้อีกด้วย ข้อมูลจาก สถาบันราชานุกูล อธิบายถึง ภาวะสายตาสั้นในเด็กกับปัญหาต่อสมอง พบว่า การมองเห็นที่ดี ส่งผลต่อประสิทธิภาพทางการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก พ่อแม่จึงไม่ควรเพิกเฉยต่อการดูแลสายตาของลูกน้อยตั้งแต่ยังเป็นทารก เพราะอาจเกิดโรคร้ายทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้ ถึงแม้เป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ อย่างการสายตาสั้นในระยะแรก ก็อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้

 

เด็กเอเชียกว่าครึ่งสายตาสั้น

พญ.ณัฐธิดา วงศ์วีระวัฒน์ จักษุวิทยา – จักษุวิทยาเด็กและแก้ไขตาเขตาเหล่ในเด็กและผู้ใหญ่ ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า ภาวะสายตาสั้นในเด็ก เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในช่วงที่เขาเจริญเติบโตระหว่าง 20 ปีแรก โดยส่วนใหญ่ลูกตาจะใหญ่ขึ้นทำให้สายตาสั้นขึ้น ปัจจุบัน ทั่วโลกเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นมากจนเป็นปัญหาระดับโลก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

มีการศึกษาเมื่อช่วงปี 2563 ทั่วโลกมีประชากรสายตาสั้น 20% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% และหากไม่ทำอะไรเลยจะเพิ่มขึ้น 50% ของประชากรโลก ขณะเดียวกัน ในภูมิภาคเอเชีย พบปัญหาสายตาสั้นกว่าทางยุโรป สถิติพบว่าอยู่ที่ 46% หากไม่ทำอะไรเลย เด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นไปถึง 62%

 

“ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กมีภาวะสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น มาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ พันธุกรรม หากพ่อแม่มีสายตาสั้นเกิน 500 ลูกก็มีสิทธิที่จะสั้นได้ ถัดมา คือ กิจกรรมเพ่งมองระยะใกล้ เช่น อ่านหนังสือ เรียน การดูหน้าจอดีไวซ์ต่างๆ ปัญหาดูจอเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาแค่เฉพาะตา แต่ยังส่งผลต่อการเรียนรู้ สมาธิสั้น ได้รับสิ่งที่ไม่สมควรตามวัย และ สุดท้าย มีกิจกรรมกลางแจ้งลดลง มีงานวิจัยชัดเจนว่าเด็กที่มีกิจกรรมกลางแจ้งน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีสิทธิสายตาสั้นเร็วกว่าคนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งที่ดีกว่าอย่างชัดเจน”

 

สายตาสั้น กระทบคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้ ภาวะสายตาสั้นส่งผลต่อการมองเห็น หากเด็กเข้าถึงการตรวจน้อย หรือพ่อแม่ยังไม่ตระหนัก การมองเห็นไม่ชัดจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนและการใช้ชีวิต พญ.ณัฐธิดา กล่าวต่อไปว่า ภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้น เป็นความกังวลทั่วโลก

 

รวมถึง องค์การอนามัยโลก มองว่าหากมีคนที่สายตาสั้นเกิน 500 จะมีภาวะโรคตาที่มากขึ้นชัดเจนราว 5-10% ของคนสายตาสั้น และ 5% ของคนที่สายตาสั้นเกิน 500 ในที่สุดเมื่อเข้าสู่สูงวัยจะเสี่ยงสูญเสียการมองเห็น ยังไม่นับรวมถึงโรคตาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสายตาสั้นโดยตรง เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาหลุดลอก หากมีภาวะสายตาสั้นก็มีแนวโน้มการเป็นโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัว

 

 

ผลกระทบของภาวะสายตาสั้นนั้น ระยะสั้น แน่นอนว่าส่งผลต่อการมองเห็น บางคนอาจมีความกังวลมากขึ้นในแง่ของความสวยงาม ไม่อยากใส่แว่น เข้าไม่ถึงการรักษา หรือการใส่แว่น ต้องอยู่กับภาพมัว เรียนไม่ชัด ไม่เข้าใจ เด็กเกิดความกังวล

 

ขณะที่ ระยะยาว มีการศึกษาพบว่า ในคนที่สายตาสั้นเยอะ โดยรวมแล้วจะมีเรื่องของสุขภาพจิต ความกังวล ได้ถึง 25% อาจมาจากคุณภาพชีวิตลดลง ต้องใช้แว่นตาตลอด หรือมีโรคต่างๆ ตามมา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาอื่นๆ

 

“พ่อแม่มีวิธีการสังเกต คือ หากเด็กมีอาการมองไกลไม่ชัด ต้องวิ่งเข้ามาดูใกล้ หรี่ตามอง ครูบอกว่าจดงานผิด กระพริบตาบ่อย เคืองตาเพราะเพ่งมากเกินไป ทั้งหมดนี้พ่อแม่ต้องไม่นิ่งนอนใจ และต้องพาไปตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง เด็กบางคนก็ไม่มีอาการและไม่ได้บอกโดยเฉพาะเด็กเล็ก ดังนั้น แนะนำให้ไปตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ โดยส่วนมากหากไม่มีอาการเลยให้ตรวจช่วง 3-4 ขวบ ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของสายตาสั้น ก็จะมีเรื่องของสายตาขี้เกียจด้วย ในช่วง 6-7 ปีแรก หากรีบรักษาจะดี”

 

ตรวจตาทุก 1-2 ปี

สำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่มีปัญหาสายตา ก็ควรที่จะดูแลสายตาเป็นประจำ โดย พญ.ณัฐธิดา แนะนำว่า อันดับแรก พื้นฐานต้องมีการตรวจเป็นประจำ เพราะอาจมีโรคที่ซ่อนอยู่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยเด็กควรเริ่มตรวจตาที่ 3-4 ขวบ ทุก 1-2 ปี เมื่ออายุหลัง 18 ปี เด็กจะไม่ค่อยมีโรคตามาก ควรตรวจ 2 ปีครั้ง และอายุ 35 ปีขึ้นไป มีสิทธิที่จะเป็นต้อหินได้โดยที่ไม่รู้ และเข้าอายุ 40 ปี สายตายาวจะเริ่มถามหา หากเริ่มรู้สึกเปลี่ยนไปจากเดิม แนะนำให้ตรวจตา 1-2 ปีครั้ง 

 

การมองจอ นอกจากจะทำให้เด็กเกิดสายตาสั้นได้ ในส่วนของผู้ใหญ่ก็ทำให้เกิดสายตาล้าได้เช่นกัน ดังนั้น ต้องพักสายตา ด้วยกฎ 20-20-20 คือ ทุกๆ 20 นาที ที่ใช้สายตาในการทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้พักสายตาเป็นระยะเวลา 20 วินาที โดยการมองสิ่งที่อยู่ห่างออกไป 20 ฟุตพักสายตาโดยการมองไกล 20 วินาที เพื่อผ่อนคลายสามารถลดอาการล้าของตา ลดอาการตาแห้งได้

 

ชะลอค่าสายตา เพิ่มคุณภาพชีวิต

วิธีการชะลอสายตาสั้น ได้แก่ 1) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ตา ลดเวลาการทำกิจกรรมมองใกล้ การใช้จอ พักสายตาทุก 20-30 นาที ถัดมา คือ 2) เพิ่มกิจกรรมกลางแจ้ง 3) ยาหยอดตา มีงานวิจัยว่าสามารถชะลอสายตาสั้น 10-50% แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหลายปี อาจมีผลข้างเคียงแต่ไม่รุนแรง และ 4) เลนส์แว่นตาและคอนแทคเลนส์ โดยเลนส์แว่นตา ปัจจุบันมีการพัฒนาเลนส์ที่สามารถชะลอสายตาสั้นได้มากกว่า 60% ปัจจุบัน มีเลนส์แว่นตาชะลอค่าสายตา STELLEST ถือเป็นเลนส์ Clinical ที่ผ่านการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

 

ศุภชัย อาชีวระงับโรค Commercial Head Lens & Instruments, EssilorLuxottica กล่าวว่าภาวะสายตาสั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ผลการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเลนส์ STELLEST ในเด็ก 167 คน อายุ 8-13 ปี ระยะเวลา 2 ปี ในประเทศจีน พบว่า STELLEST ช่วยชะลอสายตาสั้นได้ หากเด็กสวมใส่อย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน

 

“การมองเห็นที่ดี มองเห็นชัดเจน เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงเลนส์แว่นตา และใช้งานได้ถูกต้อง เพราะทั่วโลก มีผู้คนราว 2,000 ล้านคน ที่เข้าถึงเลนส์แว่นตา แต่ยังมีอีกกว่า 2,000 กว่าล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก ที่มีปัญหาด้านสายตาแต่ยังเข้าไม่ถึง ” ศุภชัย กล่าว