'จิตเวช'อาการป่วยทางจิต ช่วยอย่างไร? ให้รักษาหายขาดได้

'จิตเวช'อาการป่วยทางจิต ช่วยอย่างไร? ให้รักษาหายขาดได้

ชาวโซเซียลมีเดียให้กำลังใจ  ‘ดร.เค็ง’ อดีตอาจารย์ที่ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อขณะนั้น) และม.แม่ฟ้าหลวง ก่อนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช จนต้องออกจากงาน ต่อมาเมื่อได้รับการรักษาจนหาย กลับมาเริ่มชีวิตใหม่ แต่ต้องชดใช้หนี้ทุนที่ได้รับนับสิบล้านบาท

Keypoint:

  • เมื่อสารเคมีในสมอง หรือได้รับผลกระทบต่อทั้งความคิด จิตใจ การรับรู้ การใช้ชีวิตในประจำวัน อย่างรุนแรง ล้วนทำให้คนๆ หนึ่ง กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชได้ 
  • ผลการศึกษาพบว่าอัตราการก่อคดีอาชญากรรมของผู้ป่วยโรคจิตเภทไม่ได้มากไปกว่าคนทั่วไป ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • โรคจิตเวช จิตเภท สามารถรักษาหายได้ หรือบรรเทาอาการให้ทุเลาได้ แต่ต้องได้รับยา การรักษาอย่างต่อเรื่อง  และครอบครัวจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ เพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

จากกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า ผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ที่มีอาการทางจิตสามารถรักษาหายขาดได้ และสาเหตุที่ทำให้มีอาการดังกล่าวเกิดอะไรได้บ้าง?

กรมสุขภาพจิต เคยระบุเอาไว้ว่า ตลอดปี 2560 มีผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการรักษาแล้ว 2.6 ล้านคน ผู้ป่วยจิตเวชประมาณร้อยละ 98 สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ภายใต้การดูแลของญาติหรือบุคคลใกล้ชิดที่บ้าน และชุมชน โดยใช้ยาควบคุมระบบการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองเป็นไปอย่างสมดุล ผู้ป่วยจะมีอาการที่เป็นปกติ สามารถใช้ชีวิต และทำงานได้

ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเวชที่พบมากที่สุดคือ 'โรคจิตเภท' ตลอดอายุขัยของประชาชนทั่วไปในทุกๆ 100 คน จะพบเป็นโรคนี้ได้ 1 คน หรือร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่ามีประมาณ 6 แสนคนทั่วประเทศ

ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นที่ไม่พบในคนปกติ คือ หลงผิด ประสาทหลอน พูดจาไม่รู้เรื่อง และพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสม ผู้ที่เป็นโรคนี้ไม่ใช่คนน่ากลัวอย่างที่บางคนเข้าใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วิจัยชี้ 'เจ้าของธุรกิจ' เสี่ยงป่วยทางจิตเวชมากกว่าคนทั่วไป

โรคจิตเวชในเด็ก 10 กลุ่ม โรคจิตเวชเด็ก ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

 

ความต่างระหว่างโรคจิตเวช และจิตเภท

'โรคจิตเวช' หรือโรคทางจิตเวชคือ ปัญหาที่เกี่ยวกับจิตใจ เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมเรื่องความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคแพนิก โดยศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับโรค และการรักษาเรียกว่าจิตเวชศาสตร์ และแพทย์ที่ศึกษาเฉพาะทางด้านนี้เรียกว่าจิตแพทย์

ขณะที่ 'จิตเภท' หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Schizophrenia เป็นส่วนหนึ่งในโรคทางจิตเวช คือ ภาวะที่สมองมีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดหรือการรับรู้ที่ผิดปกติ เช่น หลงเชื่อผิดๆ ว่าจะมีคนมาทำร้าย รวมถึงสัมผัสผิดปกติ มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่ดูแปลกกว่าคนทั่วไป โดยโรคจิตเภทสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย แต่มักจะเกิดในวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

พญ.นพร อัญสกุล จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า 'โรคจิตเภท' คือกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของความคิด การรับรู้ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลให้แสดงออกมาในรูปแบบทางด้านอารมณ์ พฤติกรรม และก่อให้เกิดผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียน การเข้าสังคม การดูแลตนเอง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยที่ผู้ป่วยต้องไม่มีโรคทางกาย โรคของสมอง พิษจากยาหรือสารต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

\'จิตเวช\'อาการป่วยทางจิต ช่วยอย่างไร? ให้รักษาหายขาดได้

จากข้อมูลในเดือนมกราคม 2565 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคจิตเภทสามารถพบได้ 1 ต่อ 300 หรือ คิดเป็นร้อยละ 0.32 ของประชากรทั่วโลก พบในเพศชายและเพศหญิงเท่าๆ กัน โดยในเพศชายมักเกิดอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 10-25 ปี และเพศหญิงมักเกิดอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 25-35 ปี

 

7 โรคจิตเวชที่พบบ่อย

กลุ่มอาการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องในกิจวัตรต่างๆ หรือเกิดความทุกข์ทรมาน ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือบางคนรู้แต่ไม่มาพบแพทย์ ทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งในปัจจุบันพบได้มากขึ้น โดย 7 โรคที่พบบ่อย ได้แก่ 

1.โรคซึมเศร้า (Depression) 

ผู้ป่วยจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าหรือเป็นภาระของผู้อื่น สมาธิแย่ลง หลงลืมง่าย เหม่อลอย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดหัว บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวมากกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการ

2.โรคแพนิก (Panic Disorder) 

เป็นโรคตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อสิ่งกระตุ้น จนเกิดอาการหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ จุกแน่น คล้ายจะเป็นลมหรือเหมือนกับจะถึงชีวิต ซึ่งการเกิดครั้งแรกมักจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องกดดันหรือถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว และจะมีอาการอีกเรื่อยๆ เมื่อเจอกับสถานการณ์เดิมๆ

โดยแต่ละครั้งจะมีอาการประมาณ 10 – 20 นาที และหายเป็นปกติ แต่หากมีอาการแพนิกเกิดขึ้นแล้วมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการแพนิกเกิดขึ้นอีก คุมตัวเองไม่ได้ หมกมุ่น พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างชัดเจน ไม่กล้าไปไหนคนเดียว แนะนำควรรีบพบจิตแพทย์

3.โรคจิตเภท (Schizophrenia)

ผู้ป่วยจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน โดยจะแสดงออกด้วยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว หลงผิดหรือหวาดระแวง หากมีอาการนานเกิน 6 เดือนแล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้การรักษายากขึ้น และผลการรักษาไม่ดี เนื่องจากจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังยิ่งมารักษาช้าอาการจะยิ่งมาก และรักษายากขึ้นเรื่อยๆ

\'จิตเวช\'อาการป่วยทางจิต ช่วยอย่างไร? ให้รักษาหายขาดได้

4.โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) 

เป็นผลมาจากที่ผู้ป่วยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้เกิดความกลัวและกลัวว่าจะเกิดขึ้นซ้ำ จนมีอาการระแวง หวาดกลัว หรือตกใจง่าย ดังนั้น ควรรีบพบจิตแพทย์เพื่อรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

5.โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) 

เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างซึมเศร้า และอารมณ์ดีเกินปกติหรือแมเนีย โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวังเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นแทบทุกวัน และเป็นส่วนใหญ่ของวัน รวมถึงอาการจะคงอยู่นานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอารมณ์ดีเกินปกติ เช่น อารมณ์คึกคัก กระฉับกระเฉง อยากทำหลายอย่าง พลังงานเยอะ นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่น อยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที หากมีคนขัดใจจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

6.โรคสมองเสื่อม (Dementia)

ภาวะการทำงานของสมองแย่ลงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยจะไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หลงลืมง่าย หรือเล่าเรื่องในอดีตได้แต่ไม่สามารถจำกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ พบมากในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มีทั้งแบบรักษาหายและไม่หายขาด โดยกลุ่มที่รักษาหายขาดได้ เช่น น้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องอก เลือดออกในสมอง โรคของต่อมไทรอยด์ ขาดวิตามินบี 12 ติดเชื้อซิฟิลิสในสมอง การเกิดภูมิคุ้มกันต่อตัวเอง หรือการใช้ยาบางชนิด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการหลงลืมง่าย (Pseudodementia) ซึ่งสามารถหายได้เมื่อรักษาโรคซึมเศร้าหาย ส่วนในกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โรคที่พบบ่อยคืออัลไซเมอร์ หลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น

7.โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobias)

อาการหวาดกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรงหรือสถานการณ์บางอย่าง เช่น กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวสัตว์บางชนิด กลัวเลือด ซึ่งอาการที่แสดงออกมาจะเป็นไปในทางหลีกเลี่ยง และหนีการพบเจอสิ่งนั้นๆ อย่างทันทีทันใด ในรายที่รุนแรงอาจหวาดกลัวแม้เป็นเพียงการเอ่ยถึงหรือพบเจอสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน

อาการป่วยทางจิตเวชเกิดจาก

  • สารเคมีสื่อประสาทในสมองถูกรบกวน เช่น การใช้สารเสพติด กรรมพันธุ์ การติดเชื้อ เป็นต้น ส่งผลให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรมการแสดงออก เนื่องจากสารเคมีที่เปลี่ยนแปลงในสมองนั้นส่งผลทางด้านความคิด การรับรู้ และการใช้ชีวิตในสังคม
  • ผลกระทบต่อความคิด คือ ผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิด หรือคิดว่าจะมีคนมาทำร้ายทั้งที่ไม่มี
  • ผลกระทบต่อการรับรู้คือ การเห็นภาพหลอน หูแว่ว แตกต่างไปจากความเป็นจริง สามารถรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการหูแว่ว
  • ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม คือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีสมาธิ เนื่องจากเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจากความคิดของตนเอง

\'จิตเวช\'อาการป่วยทางจิต ช่วยอย่างไร? ให้รักษาหายขาดได้

เช็กสาเหตุเข้าข่ายเกิดโรคจิตเภท

  • พันธุกรรม ผู้ที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยมาก โดยเฉพาะรุ่นลูกหลานมีโอกาสเกิดโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติทางพันธุกรรม
  • ความผิดปกติของสมอง แบ่งเป็น สารเคมีในสมอง รอยโรคในสมอง แสดงออกมาในรูปแบบอารมณ์ พฤติกรรมที่ผิดปกติ
  • ภาวะทางด้านจิตใจ ผู้ที่มีภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน เช่น ความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้อารมณ์รุนแรง ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ จู้จี้ บงการ ส่งผลกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย

สัญญาณเตือนอาการของโรคจิตเภท

อาการเริ่มต้น ผู้ป่วยมักเป็นคนเงียบๆ แยกตัว เพื่อนน้อยตั้งแต่เด็กจนวัยรุ่น มักไม่มีเพื่อนสนิท หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เช่น กลุ่มกิจกรรม กลุ่มกีฬา หมกมุ่นด้านศาสนาปรัชญามากขึ้น มีความเชื่อที่ฟังดูแปลก คนใกล้ชิดสังเกตเห็นได้ถึงประสิทธิภาพการเรียน การทำงานแย่ลง

การดูแลด้านอนามัยส่วนตัว สุขภาพ ลดลงจนปล่อยปละละเลย พึงระวังว่าสัญญาณเหล่านี้อาจไม่ได้หมายถึงโรคจิตเภทเท่านั้น แต่อาจเป็นอาการทางจิตในโรคอื่นๆได้ เพราะฉะนั้นประวัติของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการวินิจฉัย

อาการทั่วไปของโรคจิตเภท

  • ลักษณะทั่วไปภายนอก เสื้อผ้า ของใช้ ไม่เรียบร้อย ไม่สะอาดด้านอนามัยอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยอาจมีลักษณะกระสับกระส่ายอยู่ไม่นิ่ง หรืออาจอยู่นิ่งจนไม่เคลื่อนไหว ไร้การตอบสนอง
  • อารมณ์ สุดโต่ง ก้าวร้าว เดือดดาล สับสน หรือไม่ตอบสนองทางอารมณ์ ไร้ความรู้สึก

การรับรู้ผิดปกติ แบ่งเป็น

  • ประสาทหลอน (Hallucination) หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดคุย พูดขู่ นินทาตน ออกคำสั่ง เสียงคนถกเถียงกัน เป็นต้น ภาพหลอน การดมกลิ่น การรับรส การสัมผัสสามารถผิดปกติได้เช่นกัน
  • การประมวลผลภาพผิดปกติ (Delusion) เช่น เห็นผ้าปูที่นอนเป็นหลุมดำลึก

ความคิดผิดปกติ แบ่งเป็น

  • เนื้อหาผิดปกติ การหลงผิด เช่น คิดว่ามีคนสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว คอยสะกดรอยตามตนเอง การระแวง เช่น คิดว่ามีคนจะมาทำร้ายตนเอง หมายปองเอาชีวิต
  • รูปแบบความคิดผิดปกติ สังเกตได้จากการพูดของผู้ป่วย เช่น พูดหลายเรื่องพร้อมกันแต่ไม่ได้ความหมายใจความ เนื้อหาไม่สัมพันธ์กัน พูดคล้องจองไปเรื่อยๆ แต่จับใจความไม่ได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีเฉพาะอาการซึม ไม่พูด แยกตัว ไร้อารมณ์ ไม่ดูแลตนเอง ไม่มีความคิดริเริ่ม เรียกว่ากลุ่มอาการด้านลบ

\'จิตเวช\'อาการป่วยทางจิต ช่วยอย่างไร? ให้รักษาหายขาดได้

ระยะอาการของโรคจิตเภท

สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะเริ่ม หรือระยะก่อโรค

ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการด้านลบ แยกตัว ไม่ค่อยอยากทำอะไร อาการจะเริ่มก่อตัวแบบใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป

  • ระยะกำเริบ

จะเริ่มเห็นอาการด้านบวกมากขึ้น เช่น หูแว่ว หลงผิด ระแวง พูดจาแปลกๆ โดยหากมีระยะกำเริบ ควรรีบพบแพทย์

  • ระยะหลงเหลือ

เป็นระยะที่ผ่านการรักษามาแล้ว แต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เช่น จากระแวงมั่นใจว่ามีคนมาทำร้าย เหลือเป็นสงสัยว่าอาจมีคนจะทำร้าย โดยผู้ป่วยหลายคนเมื่อรักษาแล้วหายสนิท จะไม่มีอาการช่วงนี้

วิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวช

 1. ใช้ยาในการรักษา  คือ การรักษาหลัก แบ่งเป็น

  • ระยะควบคุมอาการ หากผู้ป่วยมีความก้าวร้าวเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น การควบคุมอาการในโรงพยาบาลอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างเหมาะสม
  • ระยะให้ยาต่อเนื่อง เป็นระยะที่ผู้ป่วยอาการสงบแล้ว แต่จำเป็นต้องได้ยาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ

2.การรักษาด้วยไฟฟ้า ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา หรือมีอาการรุนแรงมาก

3.การรักษาด้านจิตสังคม ใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยา มีประโยชน์ในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น ทักษะการเข้าสังคม ให้ความรู้ตั้งแต่ท่าทางการแสดงออก การสบตา การพูด การวิเคราะห์สถานการณ์ การรับรู้ความต้องการหรืออารมณ์ของผู้อื่น

4. ปรับพฤติกรรมทางจิตใจของผู้ป่วย เช่น คลายความเครียดให้ถูกวิธี ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภทให้มากขึ้น หากได้ยินเสียงหรือหูแว่ว ให้ตรวจสอบดูก่อนว่ามีคนพูดจริงหรือไม่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้มากขึ้น

5.ครอบครัวบำบัด เพื่อลดความเครียดของญาติ ลดการใช้อารมณ์รุนแรงต่อกัน

\'จิตเวช\'อาการป่วยทางจิต ช่วยอย่างไร? ให้รักษาหายขาดได้

ดูแลอย่างไร? เมื่อคนในบ้านเป็น “โรคจิตเภท”

จิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาหลัก คือ การใช้ยาเพื่อช่วยให้ระดับสารเคมีในสมองกลับมาเป็นปกติ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ดูแล และผู้ป่วยทำได้ง่ายขึ้น การร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยทำได้ดีขึ้น

  • ญาติหรือผู้ดูแลต้องเข้าใจว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจจะเป็น แต่คือ อาการของสมอง
  • ลดการกระตุ้น ลดการวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติเตียน จู้จี้จุกจิก โดยไม่จำเป็น
  • กระตุ้นให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้ผู้ป่วยมองเห็นคุณค่าของตนเอง
  • หากเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหรืออาการที่สงสัยให้รีบพามาพบแพทย์

ดังนั้น ครอบครัวจึงควรดูแลเรื่องการกินยาของผู้ป่วยให้ตรงเวลา และสม่ำเสมออย่าให้ขาด พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินอาการ และรับคำแนะนำหรือบางครั้งอาจต้องมีการปรับขนาดหรือชนิดของยาให้เหมาะสมกับอาการ

"ครอบครัวจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ นอกจากการดูแลเรื่องการพบแพทย์และยาแล้ว เพื่อที่จะประคับประคองให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ สมาชิกในครอบครัวจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ กระตุ้นผู้ป่วยเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่อย่าคาดหวังการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องใช้ความอดทน ไม่ใช้อารมณ์"

อ้างอิง:กรมสุขภาพจิต , โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน , โรงพยาบาลมนารมย์ ,โรงพยาบาลเวชธานี 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์