ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘ซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’

ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’

“โรคซึมเศร้า” ยังคงเป็น “โรคทางจิตเวช” ลำดับต้นๆ ที่ส่งผลเสียต่อคนในสังคม ข้อมูลจากโรงพยาบาล BMHH พบว่าเป็นโรคที่มีผู้เข้ารับการรักษามากเป็นอันดับ 1 ด้าน WHO ระบุว่าคนอาเซียน 90% ยังเข้าไม่ถึงการรักษา

Key Points:

  • ผลการสำรวจของโรงพยาบาล BMHH พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการทางจิตใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และกลุ่มผู้ที่มีความเครียดสูง
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” มาจาก การที่ต้องแบกรับความกดดันสูงทั้งจากครอบครัวและสังคม
  • แม้ปัจจุบันการรักษา “โรคทางจิตเวช” จะขยายสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น แต่กลับมีรายงานพบว่าในอาเซียนมีผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการรักษามากถึงร้อยละ 90

ปัญหาด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต เป็นสิ่งที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมาก แม้แต่ในประเทศไทยเอง หลังข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต พบว่า ระหว่างปี พ.ศ.2560-2564 มีจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ และทำร้ายร่างกายตนเอง โดยเฉพาะช่วงวัยเรียน จนถึงวัยทำงานตอนต้นเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และในปี 2564 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 439 คน ทำให้สังคมตระหนักถึง “ปัญหาสุขภาพจิต” มากขึ้น โดยเฉพาะการสังเกตอาการตนเอง และคนรอบตัว เพื่อให้พบแพทย์ได้ทันเวลา

จากความตื่นตัวของสังคมในปัจจุบันทำให้ผู้คนเริ่มเข้ารับการปรึกษา รวมถึงรับการรักษาจากแพทย์หรือนักจิตวิทยาเฉพาะทางมากขึ้น ทำให้มีการรวบรวมข้อมูล และปัญหาเกี่ยวกับ “โรคทางจิตเวช” ที่มากขึ้นตามมาด้วย โดยโรงพยาบาลเอกชนด้านจิตเวช Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH เปิดเผยผลสำรวจจากการรักษาพบว่า ผู้ที่เข้ามาใช้บริการอันดับหนึ่งอยู่ในกลุ่ม “โรคซึมเศร้า” จากผู้เข้ารับการรักษากว่า 1,000 คน ในระยะเวลา 3 เดือน

  • ซึมเศร้า - วิตกกังวล - ภาวะเครียด 3 อันดับแรกปัญหาสุขภาพจิตคนไทย

ข้อมูลเบื้องต้นของ BMHH เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีอายุเฉลี่ย 25 - 40 ปี ในเดือน ส.ค. - พ.ย.2566 ที่ผ่านมา พบว่า 3 อันดับแรกของโรคทางจิตเวชที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และกลุ่มผู้ที่มีความเครียดสูง ซึ่งปัญหาส่วนมากเกิดจากปัญหาครอบครัว ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเรื่องการทำงาน และปัญหาทางการเงิน

เนื่องจากคนในช่วงอายุเหล่านี้อยู่ระหว่างการวางแผนชีวิตอย่างจริงจัง และต้องแบกรับความกดดันสูงทั้งจากครอบครัว และสังคมสูง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในการแต่งงาน มีลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตค่อนข้างมาก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่มีความเครียด ความกดดัน และมีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ยังมีโรคทางจิตเวชที่มีผู้เข้ารับการรักษามากไม่แพ้กันก็คือ อันดับ 4 โรคแพนิก และอันดับ 5 โรคไบโพลาร์

ไม่ใช่แค่ “โรคทางจิตเวช” เท่านั้นที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย เพราะปัจจุบันยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้ป่วย แต่ก็ต้องการรับคำปรึกษาจากแพทย์ เช่น กลุ่มคนที่มีความเครียด กังวล หรือมีเรื่องไม่สบายใจ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโรคอีกหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เช่น ภาวะการปรับตัวผิดปกติ และกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ

พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BMHH ระบุว่า “อาการของผู้ป่วยจิตเวชเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคซึมเศร้า เกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล จึงมีอารมณ์เศร้าผิดปกติ การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ร่วมกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด หรือพฤติกรรมบำบัด ตามอาการของผู้ป่วย”

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่รักษาได้ยาก เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับความรู้สึก พฤติกรรม และความคิด ซึ่งต่างจากโรคทางกายทั่วไป ทุกคนจึงจำเป็นต้องสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ชิดเพื่อมองหาสัญญาณของอาการป่วย และปัจจัยร่วม หรือพฤติกรรมผิดปกติบางอย่างที่ทำเป็นประจำ เพื่อแพทย์จะได้รักษาได้ตรงจุด เพราะนอกจากการรับประทานยาเป็นประจำเแล้ว ความคิด และพฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข

การศึกษาของ BMHH ยังถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะเป็นการเก็บข้อมูลจากผู้เข้ารับการรักษาของโรงพยาบาลเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบ

  • ภูมิภาคอาเซียน 260 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต แต่เข้าไม่ถึงการรักษา

แม้ว่า “โรคทางจิตเวช” ปัจจุบันหลายคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากมีสถานที่รักษารองรับมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และทันท่วงที ที่แย่ที่สุดก็คือ ไม่ได้เข้ารับการรักษาเลย 

แอนเดรีย บรูนี (Andrea Bruni) ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีช่องว่างของการเข้ารักษาสูงถึงร้อยละ 90 หมายความว่าคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตถึง 90% ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตบางคนไม่ได้เข้ารับการรักษาก็คือ อคติต่อผู้ป่วยทางจิตที่ยังคงมีอยู่มากในสังคม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนจำนวนมากถูกกันออกจากชุมชน และสังคมจากความเชื่อผิดๆ ในอดีต หลายคนที่เริ่มรู้ตัวว่าป่วยจึงไม่กล้าไปพบแพทย์ เพราะกลัวจะถูกสังคมมองว่าเป็นคนผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญอีก ได้แก่ ยังมีงานวิจัยรองรับไม่มากพอ, ขาดแคลนนโยบายที่จำเป็น, การรักษาไม่ครอบคลุมทั้งเรื่องประสิทธิภาพในการรักษา และค่าใช้จ่าย

จากข้อมูลบางส่วนของ WHO ที่รายงานผ่าน CNA พบว่า มีคนประมาณ 200,000 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี และยังเป็นสาเหตุให้คนเสียชีวิตตั้งแต่ยังอายุน้อยในหลายประเทศ รวมถึงมีคนอีก 260 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 7 มีปัญหาสุขภาพจิต และส่วนมากไม่ได้รับการรักษา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้าน “สุขภาพจิต” ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมต้องให้ความสนใจมากขึ้น เพราะหากผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาวะของคนในชาติ รวมถึงปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจ ตามมามากมายจนอาจยากเกินจะแก้ไข

อ้างอิงข้อมูล : CNA และ BMHH

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์