หรือเพราะโลกอยู่ยาก ? สิ่งแวดล้อมหรือตัวบุคคล ที่มีผลต่อสุขภาพจิตเด็ก

หรือเพราะโลกอยู่ยาก ? สิ่งแวดล้อมหรือตัวบุคคล ที่มีผลต่อสุขภาพจิตเด็ก

วัยรุ่นไทย อายุ 10-19 ปี ราว 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ ปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยที่หล่อหลอมเด็กในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

Key Point :

  • ปัจจุบัน เด็กและวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น และมีช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ ตั้งแต่มัธยมฯ จนถึงวัยประถมฯ 
  • ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตของเด็ก เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงสื่อโซเชียล สังคมที่แข่งขันสูง การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ยีน และหลายคนมองว่าเกมส่งผลต่อพฤติกรรมรุนแรง
  • แม้จะมีผลการศึกษาพบว่า เกม เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เพราะการที่เด็กจะมีพฤติกรรมรุนแรงได้ต้องมีหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน 

 

ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต เผยว่า ตั้งแต่ปี 2562 อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทย สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2565 สูงกว่าในปีที่ผ่านมา อยู่ที่อัตรา 7.97 ต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 7.38 ต่อแสนประชากร ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายอันดับ 1 คือ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ รองลงมา คือ ปัญหาสุขภาพกาย ภาวะเจ็บป่วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการดื่มแอลกอฮอลล์ และสภาพเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคมและประเทศ 

 

ข้อมูลยังพบอีกว่า กลุ่มที่ฆ่าตัวตายสูงสุด คือ 15 – 34 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น สอดคล้องกับ รายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ปี 2565 จัดทำโดย องค์การยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand)  พบว่า วัยรุ่นไทย อายุ 10-19 ปี ราว 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ สอดคล้องกับผลสำรวจสุขภาพนักเรียนในประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบว่า 17.6% ของวัยรุ่น 13-17 ปี คิดจะฆ่าตัวตาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

พบเด็กซึมเศร้าอายุน้อยลง

รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ พบหมอรามาฯ ว่า จากการตรวจรักษา พบว่า มีเด็กที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเยอะขึ้น ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบเด็กซึมเศร้า ราว 30% อีกทั้ง เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าอายุน้อยลง แรกๆ จะอยู่ในช่วง ม.ปลาย ม.ต้น และตอนนี้เด็กป. 4-6

 

กรมสุขภาพจิต ได้ทำการสำรวจเด็กที่มีความคิดฆ่าตัวตาย คือ คนที่เคยลงมือฆ่าตัวตาย เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมามี 1.1% ขณะที่มีการสำรวจอีกครั้ง เมื่อ 3 ปีที่ผ่าน พบว่า เพิ่มเป็น 6.6% 

 

ทำไมเด็กจึงมีปัญหา 'สุขภาพจิต' 

ปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในปัจจุบันมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นก็มีจำนวนไม่มากนักหากเทียบกับปัญหาของเด็กที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราสามารถผลิตจิตแพทย์เด็กปีละราว 22 คน ทั้งนี้ จากการสำรวจของในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น เพิ่มขึ้น อีกทั้งปัญหาที่เดิมไม่เคยมี เช่น การทำร้ายตัวเอง ปัจจุบันเยอะขึ้น รวมถึงความรุนแรง มีแนวโน้มเยอะขึ้นเช่นกัน

 

"ปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ ปัจจัยพื้นฐาน แต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เช่น เชาว์ปัญญาไม่เท่ากัน หรือ เกิดมาเป็นคนหงุดหงิดง่ายโดยพื้นฐาน และ การเลี้ยงดู เป็นส่วนสำคัญที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เด็กเติบโตมา การเลี้ยงดูเด็กให้ดี ต้องอาศัยพ่อแม่ที่มีสุขภาพจิตที่ดีตามสมควรด้วย ซึ่งปัจจุบัน พ่อแม่มีหลายแบบ ทั้งมีลูกแบบไม่พร้อม พ่อแม่วัยรุ่น หรือ พ่อแม่ที่มีความพร้อมเยอะเกินไป เลี้ยงดูสมบูรณ์ คาดหวังกับลูก และความสัมพันธ์ของครอบครัว ครอบครัวแยกทางกันเยอะ เด็กบางทีไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เยอะขึ้นเช่นกัน"

 

 

 

อีกทั้ง ปัจจัยทางสังคม การแข่งขัน การคาดหวัง และบริบททางสังคม เช่น การมองว่าต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย กดดันตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน สังคม และมีผลต่อตัวเขาเอง ทั้งหมดนี้มีผลต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจ และการจัดการความเครียดของคน รวมถึง ปัญหาที่เกิดจากสังคม เช่น สังคมที่มีความรุนแรงเยอะขึ้น ก็มีผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ตั้งแต่การเลียนแบบ ชินชาต่อความรุนแรง

 

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นข้อดีที่มีเยอะกว่า แต่ก็มีส่วนลบที่ทำให้ความผูกพันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ลดลง และเด็กเข้าถึงข้อมูลที่ทำให้เกิดปัญหา ความเสี่ยง เช่น ข้อมูลความรุนแรง ทางเพศ เป็นปัจจัยทั้งหมดที่หล่อหลอมให้เด็กในปัจจุบัน มีปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาด้านอารมณ์ และพฤติกรรมมากขึ้น

 

เกมมีผลต่อพฤติกรรมเด็กจริงหรือ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมเด็กแต่ละคนมาจากหลายปัจจัย แต่ละเหตุอาจจะไม่เยอะ เช่น เกม มีการวิจัยยืนยันผลการศึกษา พบว่า การเล่นเกมที่มีความรุนแรง ทำให้เด็กและวัยรุ่นมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น รวมถึงความเห็นอกเห็นใจคนอื่นลดน้อยลง เป็นการวิจัยทั่วโลกที่ยืนยันชัดเจน 

 

“ทำไมเด็กทุกคนที่เล่นเกมไม่มีพฤติกรรมรุนแรง”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจัยแต่ละปัจจัยอาจจะมีผลไม่มาก แต่พอรวมเป็น 2-3 ปัจจัย จะทำให้พฤติกรรมรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากมีปัจจัยเดียวอาจไม่สำคัญ แต่หากเขามีพื้นฐานในการเติบโต มีปัญหาสุขภาพจิต ครอบครัวมีความรุนแรง และมีการเล่นเกม ทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัจจัยเล็กน้อยเมื่อรวมกันจะไม่เป็นเรื่องเล็กน้อย

 

เกมเป็นส่วนหนึ่ง ถามว่ามีผลหรือไม่..มี แต่เป็นส่วนหนึ่งที่หากประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งครอบครัว ชีวิต ก็นำพาไปสู่จุดนั้นได้เช่นกัน

 

ต้องแก้จากตรงไหน

รศ.นพ.ศิริไชย อธิบายว่า ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นต้องแก้หลายระดับ บางอย่างแก้ไม่ได้ เช่น ปัจจัยที่ตัวเขาซึ่งมียีนบางอย่างที่ทำให้มีแนวโน้มพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง หรือมีความเสี่ยงซึมเศร้า ปัจจุบันมีการศึกษาที่ พบว่า มียีนที่ทำให้คนบางคนเสี่ยงภาวะซึมเศร้า แม้แต่เสี่ยงจะเป็นคนรุนแรง

 

"แต่โดยทั่วไป ยีนอย่างเดียวก็ไม่พอที่ทำให้คนเกิดปัญหา ยังมีปัจจัยอื่นๆ สิ่งแวดล้อมที่เติบโต โดยเฉพาะการเลี้ยงดู เรื่องของการเลี้ยงดูเราสามารถที่จะพัฒนาได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ที่ใส่ใจ มีความรู้"

 

แต่โดยทั่วไป คนจะคิดว่า ลูกเราจะต้องดีโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรและไม่ต้องอาศัยความรู้ก็ได้ เราก็โตมาแบบนี้ไม่เห็นเป็นอะไร นั่นอาจจะเป็นจริงในสังคมสมัยก่อน แต่สังคมปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเยอะมาก พ่อแม่อาจจะลืมไปว่าสังคม เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงไปเยอะ พ่อแม่ในปัจจุบัน ต้องมีความรู้มากกว่าพ่อแม่สมัยก่อน ดังนั้น หลักๆ คือ การเลี้ยงดู

 

สังคมเปลี่ยน 

อย่างไรก็ตาม โทษครอบครัวอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าเด็กเติบโตในสังคม หากสังคมมีการแก่งแย่ง แข่งขัน รุนแรง และการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม อาจจะต้องมีระบบในระดับนโยบาย ผู้มีบทบาทควบคุม ตัวอย่างประเทศที่ควบคุมได้ คือ ประเทศจีน เช่น ไม่ให้เด็กที่เข้าถึงข้อมูลที่มีความเสี่ยง แม้แต่การเล่นเกมก็กำหนดเวลา

 

"ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นในปัจจุบัน ไม่ใช่ปัญหาตัวเด็กและพ่อแม่เท่านั้น เป็นปัญหาสังคมโดยรวมที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน และในแต่ละคนสามารถช่วยได้ อย่างน้อยไม่สร้างความรุนแรงในสังคมให้มากขึ้น ปัจจุบันเราสามารถสร้างความรุนแรงได้ง่ายมาก เพราะมีสื่อออนไลน์ เช่น เห็นอะไรไม่ถูกใจ ขัดใจ ก็ใช้คำที่รุนแรง ซึ่งเด็กเมื่อเห็นไปเรื่อยๆ ทำให้เด็กชินชา บูลลี่ คนอื่น ดังนั้น เราสามารถช่วยกันได้ง่ายๆ คือ ไม่เพิ่มความรุนแรง ไม่ว่าจะการกระทำ คำพูด หรือคอมเมนต์ต่างๆ"

 

เด็กที่เอาแต่ใจ โตมาจะเป็นคนเห็นแก้ตัว ?

  • เป็นเรื่องจริง โดยทั่วไป เด็กที่เอาแต่ใจ มักจะเติบโตจากพ่อแม่ที่ตามใจเยอะเกินไป เป็นความเคยชินที่ได้ดั่งใจทุกครั้ง อะไรที่อยากได้ก็ต้องได้ เราก็ไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร

 

สื่อโซเชียล ทำให้เด็กยุคนี้อารมณ์รุนแรงขึ้น ?

  • เป็นเรื่องจริง มีผลการวิจัยยืนยันชัดเจนตั้งแต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีสื่อโซเชียล ในการเสพสื่อโทรทัศน์ที่มีความรุนแรง เด็กที่ดูสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ ก็จะมีพฤติกรรมรุนแรง อารมณ์ก้าวร้าว ซึ่งโทรทัศน์สมัยก่อนเทียบไม่ได้กับสังคมปัจจุบัน ที่เด็กสามารถเข้าถึงความรุนแรงได้ทุกรูปแบบแบบไม่มีการเซ็นเซอร์ คลิปการตบตี ทำร้ายร่างกาย จะเห็นว่าแม้แต่โทรทัศน์ยังมีผล ดังนั้น การเข้าถึงสื่อที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน ยิ่งเพิ่มความรุนแรงหลายเท่า

 

รู้ได้อย่างไรว่าลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

รศ.นพ.ศิริไชย กล่าวว่า อันดับแรก ประเมินว่าลูกมีความเสี่ยงซึมเศร้าหรือไม่ โดยการอาศัยการสังเกต เช่น หากลูกเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยยิ้มแย้ม ร่าเริง กลับดูเงียบ ไม่คุย สีหน้าไม่มีความสุข ดูเหมือนคุยเรื่องลบๆ มองว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อยากมีชีวิตอยู่แค่ 15-20 ปี หากมีการคิดลบกับตัวเองบ่อยๆ พูดเรื่องความตาย และเด็กที่ผลการเรียนลดลง ดูไม่กระตือรือร้น จำนวนหนึ่งก็เป็นซึมเศร้า รวมถึงเด็กที่ใช้บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสารเสพติด พ่อแม่ต้องคอยสังเกต ติดตาม และคุยกับลูก

 

“หากสงสัย อยากแนะนำให้พบแพทย์ แต่พ่อแม่บางคนอาจจะคิดว่าการพบจิตแพทย์มองดูไม่ดี ดังนั้น หากจะช่วยเด็กที่ซึมเศร้า อย่างแรก คือ ต้องอาศัยความเข้าใจ ต้องคิดว่าเด็กป่วยได้ซึมเศร้าได้ เพราะผู้ใหญ่ก็ซึมเศร้าได้ อย่ามองว่ายังเด็กอยู่ทำไมจึงซึมเศร้า ลูกเราก็อาจะเป็นส่วนหนึ่ง ต้องเข้าใจและไม่ตำหนิ ต้องอาศัยการพูดคุย การใกล้ชิด พยายามประเมินว่าลูกเรามีปัจจัยอะไร เช่น การกดดันจากพ่อแม่ที่มากเกินไป ใช้ความรุนแรง พ่อแม่ต้องปรับ”

 

ลูกป่วย อาจเพราะพ่อแม่ป่วย

รศ.นพ.ศิริไชย อธิบายต่อไปว่า ที่บอกว่าอยากให้มาพบแพทย์ เพราะหลายครั้งก็เป็นเพราะสุขภาพจิตของพ่อแม่ด้วย เช่น พ่อแม่มีความเครียด อารมณ์ซึมเศร้า ทำให้ใช้ความรุนแรงกับลูก พูดกระทบใจลูกได้ง่าย การดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นบางครั้งจึงต้องดูแลสุขภาพจิตพ่อแม่ให้ดี หากไม่แน่ใจอยากให้มารับการดูแลรักษา มีคนไข้จำนวนมากที่มีคนในครอบครัวซึมเศร้า ก็ทำให้เครียดไปด้วย ใจก็เป็นทุกข์ตามไปอีก ดังนั้น หากผู้ป่วยได้รับการรักษา คนในครอบครัวก็จะมีชีวิตที่ปกติมากขึ้น

 

"ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นน่าเป็นห่วง ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องหากยังไม่ทำอะไรและมัวแต่โทษอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ฝ่ายพ่อแม่ก็โทษเกม เกมก็บอกว่าพ่อแม่เลี้ยงไม่ดี หากทุกคนโทษกันไปมา และยังไม่ลงมือแก้ปัญหาในส่วนที่ตัวเองสมควรทำ แนวโน้มก็จะเพิ่มขึ้นอีก โลกไม่ได้อยู่ยาก หากเราเข้าใจและสามารถพัฒนาลูกเราไปในทางที่ถูกต้องและพอดี เด็กก็จะเติบโตเป็นเด็กที่ไม่ได้มีปัญหา”