ภัยเงียบ 'มะเร็งเต้านม' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง

ภัยเงียบ 'มะเร็งเต้านม' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง

‘มะเร็งเต้านม (Breast cancer)’ ยังคงเป็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงวัยทำงานที่มีอายุน้อย ตั้งแต่ 24 ปีขึ้นไป  แถมช่วงแรกของการเป็น ‘มะเร็งเต้านม จะไม่แสดงอาการ

Keypoint:

  •  'มะเร็งเต้านม' ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน ต้องสังเกต สำรวจเต้านมของตัวเอง ซึ่งหากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะ 0 หรือ ระยะที่ 1 สามารถรักษาให้หายขาด โดยไม่ต้องผ่าตัด หรือผ่าตัดเต้านม แบบการผ่าตัดสงวนเต้านม
  • เกิดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 'มะเร็งเต้านม' ภัยเงียบ ที่ไม่ควรมองข้าม  ตรวจคัดกรองเต้านม รู้ทันความเสี่ยง เพื่อรักษาได้เร็วขึ้น
  • เช็กมะเร็งเต้านมฟรี ในงาน 'Health & Wealth Expo 2023':The Journey of Life  จัดโดยเนชั่น  ตั้งแต่วันนี้ -12 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00-20.00 น. ณ Hall 5-6 ชั้น LG ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

'มะเร็งเต้านม' ถือเป็นปัญหาใหญ่สำคัญทางสุขภาพของผู้หญิง และเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลกอย่าง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปี

ส่วนในประเทศไทย จากข้อมูลในปี 2563 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน ทั้งยังมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี

ปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องของอายุ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอย่างปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ถ้าเรามีประวัติครอบครัวญาติโดยเฉพาะญาติฝ่ายตรงเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะเป็นตอนอายุน้อย ๆ หรือว่าเป็นหลายคน เราควรต้องมีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เร็วขึ้น เพราะอาจมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'มะเร็งเต้านม'ค้นหาเจอระยะ 0 เพิ่มโอกาสการรักษา

รู้ได้อย่างไร....ว่าเป็น 'มะเร็งเต้านม' รู้ทันความเสี่ยง รักษาเร็ว

 

ปัจจัยเสี่ยงเกิด 'มะเร็งเต้านม'

งานมหกรรมงานแสดงสินค้าและความรู้ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่งคั่ง หลากหลายความรู้ หลากหลายกูรูมารวมกัน  'Health & Wealth Expo 2023':The Journey of Life  จัดโดยเนชั่น  ตั้งแต่วันที่ 9-12 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00-20.00 น. ณ Hall 5-6 ชั้น LG ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

'มะเร็งเต้านม' ส่วนใหญ่เกิดจากการกลายพันธุ์แบบโซมาติก (Somatic mutation) เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังและมีโอกาสสูงขึ้นเมื่อบุคคลนั้นๆ มีอายุมากขึ้น เซลล์ที่กลายพันธุ์ไปจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด ซึ่งการกลายพันธ์แบบโซมาติกจะไม่พบในทุกเซลล์ของร่างกายและไม่ส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก

ภัยเงียบ \'มะเร็งเต้านม\' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง

รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวในช่วง BREAST CANCER CONTINUUM OF CARE :ป้องกัน-ค้นหา-ฟื้นฟู ครบทุกมิติเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’ ว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านม  โดยทั่วไปจะมี 2 แบบ คือ

1.พันธุกรรม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงคือมียีน แต่พบได้ประมาณ 10% เท่านั้น

2.ไม่ทราบสาเหตุ คือ ปัจจัยที่ร่างกายสัมพันธ์กับฮอร์โมน Estrogen(เอสโตรเจน) ที่ยาวนาน หรือการเป็นสาวเร็ว มีประจำเดือนมาเร็ว  หมดประจำเดือนช้า แต่งงานแล้วไม่มีบุตร หรือมีลูกน้อย จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม 

"โดยทั่วไป ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงเท่าๆ กัน ซึ่งมะเร็งเต้านมถือเป็นภัยเงียบ ที่ทุกคนจะต้องคอยสังเกตอาการของตนเอง ซึ่งผู้หญิงควรตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 25 ปีโดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง และตรวจโดยแพทย์โรคเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เริ่มที่อายุ 35 ปี"

 

รู้จัก 5 ระยะมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 0 ถึง ระยะที่ 4 โดยการวิจัยจากหลายสถาบันพบว่า

  • การตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะที่ 0

ทำให้การรักษามะเร็งเต้านมทำได้ง่ายกว่าการรักษาในระยะที่ลุกลามแล้ว โดยมะเร็งเต้านมระยะที่ 0 หรือ DCIS ( Ductal Carcinoma In Situ) เป็นเซลล์มะเร็งที่เพิ่งก่อตัวขึ้นจำกัดอยู่ภายในเนื้อเยื่อฐานรากยังไม่แบ่งตัวลุกลามสู่ภายนอกขอบเขต โอกาสอยู่รอดใน 5 ปี ที่ประมาณ 99%

  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 1

มีการลุกลามออกมานอกเนื้อเยื่อฐานราก แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และขนาดก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. มีโอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 98%

  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 2

ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน 5 ซม. ยังไม่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 ซม. แต่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว ก็จะจัดอยู่ในระยะที่ 2 เช่นกัน ทั้งนี้ถ้ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองโอกาสอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 98%

  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 3

ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. หรือมะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้จำนวนหลายต่อมแล้ว โอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 84 %

  • มะเร็งเต้านมระยะที่ 4

เป็นระยะสุดท้ายที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง เป็นต้น โอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 24 %

ภัยเงียบ \'มะเร็งเต้านม\' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง

 

วิธีการสังเกตอาการบ่งชี้มะเร็งเต้านม

  • อาการเริ่มแรกของมะเร็งเต้านมมักคลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ
  • เต้านมมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป ขนาดใหญ่ เล็กไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัดข้างใดข้างหนึ่ง
  • มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม
  •  มีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างหนึ่ง อาจเป็นเล็กน้อยหรือเป็นมากก็ได้
  • มีอาการบวมแดง หัวนมยุบตัวเข้าไปในเต้านม หรือไม่สม่ำเสมอ โดยไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือไม่ได้เกิดจากการผ่าตัด มีของเหลว เช่น น้ำเหลืองใสๆ ที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม

หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

โรงพยาบาลไทยนครินทร์ พร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางโรคเต้านมและทีมสหสาขาวิชาชีพมีคำแนะนำเกี่ยวกับการสังเกตอาการเริ่มต้น รวมไปถึงการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

พญ.พุทธิพร เนาวะเศษ ศัลยศาสตร์ทั่วไปและศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยาโรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดให้เกิดมะเร็งเต้านม อาจจมีจากปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรม หรือการใช้ชีวิต ซึ่งหากหลีกเลี่ยงได้จะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม

  • น้ำหนัก หากมีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักมาก

สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงวัยนี้จะมีไขมันในร่างกายที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างเอสโตรเจนแทนรังไข่หลังหมดประจำเดือน และหากมีภาวะอ้วน มีน้ำหนักและไขมันที่มากจะทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายสูง ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเพิ่มมากขึ้น

  • อาหาร นักโภชนาการ

แนะนำว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และรักษาน้ำหนักร่างกายให้มีสุขภาพดีเสมอนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ทัง้นี้แนะนำให้รับประทานผักผลไม้มากกว่า 5 ถ้วยต่อวัน จำกัดปริมาณอาหารให้มีไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่า 10% ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดต่อวัน และรับประทานอาหารที่มีไขมันทั้งหมดไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน และยังแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีไขมัน Omega 3 นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Trans Fat) เนื้อสัตว์แปรรูป หรืออาหารรมควัน

  • การออกกำลังกาย 

สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ หากออกกำลังกายวันละ 45-60 นาที ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งเต้านมได้

ภัยเงียบ \'มะเร็งเต้านม\' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง

  • การดื่มแอลกอฮอล์ 

ทำให้ความสามารถของการทำงานของตับลดลง สูญเสียการควบคุมปริมาณเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นได้

  • การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน

โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโต ซึ่งหากการที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน

  • ยาคุมกำเนิด 

การใช้ยาคุมกำเนิดที่เป็นระยะเวลานาน มากกว่า 5-10 ปีนั้น เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดในช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในเกิดมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อย และพบว่าหากหยุดยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปี ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

  • ความเครียดและความวิตกกังวล 

ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนที่บ่งบอกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลนั้นมีความเกี่ยวข้องชัดเจนกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบนั้น สามารถเพิ่มความสามารถของภูมิต้านทานในร่างกายได้

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม

  • การผ่าตัด (Surgery)

การผ่าตัดรักษาและเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบออนโคพลาสติก (Oncoplastic Surgery)เป็นเทคนิคการผสมผสานการผ่าตัดมะเร็งเต้านมกับการทำศัลยกรรมตกแต่งเข้าด้วยกัน เพื่อคงประสิทธิภาพการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดได้สูงสุด โดยที่ยังคงความสวยงามของเต้านมได้ใกล้เคียงเดิม คือ ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast conserving surgery) ในกรณีขนาดก้อนเล็กไม่มีการกระจายของก้อนหรือหินปูนที่ผิดปกติทั่วเต้านม และในกรณีก้อนมะเร็ง 2-3 ก้อน หรือก้อนขนาดใหญ่ที่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้

ทั้งนี้ ทำโดยย้ายเนื้อไขมันจากบริเวณข้างๆ เข้ามาปิดแทนช่องว่างที่ตัดก้อนมะเร็งออกไป หรือการผ่าตัดยกกระชับหรือ ลดขนาดเต้านมทั้งสองข้างให้สมดุลกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ในบางกรณีมะเร็งบางชนิดอาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัด จะทำร่วมกับรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม ทำการวางคลิป (clip) ที่ตัวก้อนมะเร็งเพื่อติดตามรอยโรคระหว่างให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัดด้วยส่วนผ่าตัดเต้านมทั้งหมด (Mastectomy with reconstruction) ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ และการเสริมสร้างเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียม (Implant-based reconstruction) หรือเนื้อเยื่อของตนเอง (autologous reconstruction) ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลที่รักแร้ เป็นการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองต่อมแรก แล้วนำไปตรวจว่ามีมะเร็งกระจายมายังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการเลาะต่อมน้ำเหลืองเท่าที่จำเป็น ซึ่งสามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หลังการผ่าตัด เช่น แขนบวม หรืออาการชาของแขนได้ โดยมีการฉีดสาร Isosulfan blue ร่วมกับ Indocyanine green ช่วยเพิ่มความแม่นยำในมะเร็งระยะแรก และ ในกรณีมะเร็งเต้านมขนาดใหญ่ ที่วางแผนผ่าตัดหลังให้ยาเคมีบำบัดครบ จำเป็นต้องใช้สาร Isosulfan blue และ Indocyanine green ร่วมกัน สามารถตรวจจับต่อมน้ำเหลืองที่ติดสี Indocyanine green ด้วยกล้องฟลูออเรสเซนซ์

ภัยเงียบ \'มะเร็งเต้านม\' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง

  • การรักษาเสริมด้วยการให้ยา (Systemic treatment)

การรักษาเสริมด้วยการให้ยามีหลายส่วน ได้แก่ เคมีบำบัด (chemotherapy) ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา (Medical oncologist)

  • การรักษาด้วยการฉายรังสี (Radiotherapy)

ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รังสีรักษามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ซึ่งผู้ป่วยในปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมเพิ่มขึ้น การฉายรังสีจึงมีส่วนช่วยการลดโอกาสกลับเป็นซ้ำบริเวณเต้านมและต่อมน้ำเหลือง แต่กรณีอื่นๆ อย่างเช่นการผ่าตัด การกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ก็เป็นอีกหนึ่งของข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องมีการฉายรังสีรักษาเป็นส่วนประกอบของการรักษาเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ

การฉายรังสีจะมีผลข้างเคียงเฉพาะบริเวณที่ฉายเท่านั้น โดยผลข้างเคียงหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือผลข้างเคียงเฉียบพลัน คือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในช่วงฉายรังสีซึ่งจะเกิดขึ้นไม่เกิน 3 เดือน และผลข้างเคียงในส่วนนี้ก็สามารถหายได้เมื่อฉายรังสีครบแล้ว ตัวอย่างเช่นผลข้างเคียงบริเวณผิวหนังมีการฉายรังสีไปแล้ว 2 สัปดาห์ ผิวหนังอาจจะมีสีแดงขึ้นหรือสีคล้ำขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติ หลังจากนั้นเมื่อฉายรังสีครบตามกำหนดแล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวเนื่องจากการฉายรังสีที่เต้านมมีอวัยวะที่ใกล้เคียงได้แก่ ปอดและหัวใจ ซึ่งติดกับบริเวณเต้านม โดยบริเวณปอดและหัวใจอาจจะได้รับรังสีบางส่วน แต่ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีในปัจจุบันสามารถลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงได้

ตรวจคัดกรองมะเร็งทุกปี 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ไม่ได้ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ข้อดีคือหากมีรอยโรคสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้น หรือระยะที่ 0 ซึ่งการตรวจพบในระยะนี้มีโอกาสรักษาได้มากกว่าตรวจพบในระยะลุกลาม โดยศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์แนะนำให้ช่วงวัยรุ่นควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรมาตรวจเร็วกว่ากลุ่มทั่วไป

ภัยเงียบ \'มะเร็งเต้านม\' อยากชนะต้องตรวจคัดกรอง

ทั้งนี้แบ่งเป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มที่มีความเสี่ยง กลุ่มทั่วไปเริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 25 ปีโดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง และตรวจโดยแพทย์โรคเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เริ่มที่อายุ 35 ปี

สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัว ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติได้รับการฉายแสงบริเวณหน้าอกมาก่อน จะมีการตรวจคัดกรองในช่วงอายุที่เร็วขึ้นควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองที่อายุ 20 ปี และตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ ต้องตรวจเร็วขึ้น ที่อายุ 30 ปี เพราะมะเร็งเต้านมตรวจพบก่อนสามารถวางแผนการรักษาได้คุณภาพที่ดีกว่าและลดอัตราการสูญเสียเต้านม