'บุหรี่' กับความท้าทายไทย ป้องกันเยาวชน ก้าวสู่ 'นักสูบหน้าใหม่'

'บุหรี่' กับความท้าทายไทย ป้องกันเยาวชน ก้าวสู่ 'นักสูบหน้าใหม่'

การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเสียชีวิต ความพิการทั่วโลก ไทยมีการทำงานเพื่อลดการสูบบุหรี่มากกว่า 10 ปี จากผู้สูบ 35% ของประชากรในปี 2535 ลดลงมาอยู่ที่ 17% ขณะเดียวกัน เรื่องที่น่าห่วง คือ การเข้าถึงง่ายของบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

Key Point : 

  • ปัญหาการสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตและพิการทั่วโลก ในอาเซียน พบว่า อินโดนีเซีย มีผู้สูบบุหรี่กว่า 65 ล้านคน ขณะที่ไทยมีอยู่ราว 12 ล้านคน
  • แม้ประเทศไทยจะสามารถลดการบริโภคบุหรี่ลงจาก 35% ในปี 2535 มาอยู่ที่ 17% แต่อัตราการลดลงกลับชะลอเนื่องจากการเข้าถึง 'บุหรี่ไฟฟ้า' 
  • บุหรี่ไฟฟ้า ไม่เพียงจะเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ ยังมีโอกาสที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่มวนทั่วไป หันมาสูบทั้งสองชนิดอีกด้วย  

 

ประเทศไทยรณรงค์ลดการบริโภคบุหรี่มากกว่า 10 ปี จากผู้สูบ 35 % ของประชากรในปี 2535 ลดลงมาอยู่ที่  17 % ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วง คือ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดผู้สูบหน้าใหม่จากการเข้าถึงได้ง่ายแม้จะยังไม่ถูกกฎหมาย รวมถึงผู้สูบบุหรี่มวนที่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการสูบทั้งสองอย่างมากขึ้น

 

การสูบบุหรี่ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเสียชีวิตและความพิการทั่วโลก 'ดร.สุราช วิลสัน' หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านการเลิกบุหรี่ บริษัท เคนวิว จำกัด (Kenvue) เปิดเผยว่า แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ได้ลดลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เนื่องจากการเติบโตของประชากร ข้อมูลสถิติการสูบบุหรี่จากการประชุมนานาชาติเรื่องการติดนิโคติน ซึ่งจัดขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (KLNAC) พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่ในวัยผู้ใหญ่จาก 6 ประเทศอาเซียน อินโดนีเซีย มีจำนวนกว่า 65 ล้านคน , ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม 20 ล้านคน , ไทย 12 ล้านคน , มาเลเซีย 5 ล้านคน และ สิงคโปร์ราว 1 ล้านคน

 

\'บุหรี่\' กับความท้าทายไทย ป้องกันเยาวชน ก้าวสู่ \'นักสูบหน้าใหม่\'

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

สำหรับในประเทศไทย มีความพยายามลดการบริโภคบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูตัวเลขผู้สูบในปี 2535 พบว่า มีจำนวนกว่า 35 % ของประชากร หรือกว่า 1 ใน 3 และในปัจจุบัน ลดลงมาเหลือราว 17 % ของประชากร แต่อัตราการลดลงของผู้สูบกลับมีการชะลอในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 0.5 – 1 % ต่อปี จากเดิมที่ลดได้ค่อนข้างเยอะราว 4-5 % ต่อปี

 

ลดผู้สูบหน้าใหม่

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะ แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า การลดปริมาณคนสูบบุหรี่ในประเทศ ต้องทำงาน 2 อย่าง คือ 

1. ลดผู้สูบหน้าใหม่ โดยการให้ความรู้ ทัศนคติ ค่านิยมใหม่แก่เยาวชน ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ หรือ บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่สิ่งที่พึงปฏิบัติและไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องอาศัยงานเชิงนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กวดขัน จับกุม ป้องกันไม่ให้เด็กเข้าถึงผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมาก่อนมีบุหรี่ไฟฟ้าการป้องกันผู้สูบหน้าใหม่ทำได้ค่อนข้างดี แต่พอมีบุหรี่ไฟฟ้า ความอยากรู้อยากลองของเด็กทำให้ควบคุมยาก

 

และ 2. ลดผู้สูบปัจจุบัน การที่บุหรี่ไฟฟ้ายังโดนแบนทำให้คนที่จะเปลี่ยนจากบุหรี่มวนไปสู่บุหรี่ไฟฟ้าโดยเชื่อว่าจะสามารถเลิกบุหรี่ได้จึงยังไม่มาก แต่เมื่อไรที่ประเทศไทยเปลี่ยนไปเปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะมีคนลองเยอะขึ้น

 

สิ่งที่กังวล คือ มีงานวิจัยว่า คนที่เปลี่ยนตัวเองจากบุหรี่มวนมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ช่วงต้นจะรู้สึกมีความสุขด้วยการปรุงแต่ง รส กลิ่น แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ด้วยปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าสูงและดูดซึมเร็ว กว่า 80% ของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นนิโคตินสังเคราะห์ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ทำให้เกิดภาวะดื้อนิโคติน อยากได้นิโคตินแรงขึ้น สุดท้ายต้องกลับไปสูบบุหรี่มวนและสูบบุหรี่ไฟฟ้า 

 

\'บุหรี่\' กับความท้าทายไทย ป้องกันเยาวชน ก้าวสู่ \'นักสูบหน้าใหม่\'

 

“ดังนั้นต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าหากสูบบุหรี่มวนอยู่ สิ่งที่ดีที่สุด คือ “เลิก” อย่าคิดว่าจะใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลด เป็นเรื่องของการวัดดวงทั้งสิ้น เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาว 10-20 ปีจะเกิดโรคอะไรบ้าง”

 

เครือข่ายบริการเลิกบุหรี่

ทั้งนี้ การทำงานลดการบริโภคบุหรี่ในประเทศไทยมีมากว่า 10 ปี จากหลายภาคส่วนที่ให้ความสำคัญ เกิดเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาความเข้มแข็งด้านวิชาการและบริการ สร้างโมเดลคลินิกต้นแบบและเครือข่ายบริการให้เกิดในไทย ถัดมา คือ การพัฒนาบุคลากร ผลักดันให้เกิดหลักสูตรอบรม แนวทางเวชปฏิบัติ รวมถึงจัดอบรมออนไลน์ให้แก่แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพ เภสัชกร ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ

 

พัฒนาบริการอย่าง 'คลินิกฟ้าใส' จาก 5 คลินิกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จนปัจจุบันมีมากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ โดยมีการอบรมบุคลากรของแต่ละคลินิก สนับสนุนอุปกรณ์และยาเลิกบุหรี่ รวมถึง เปิดสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 โทรฟรีทุกวัน 08.00 – 20.00 น. โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้รับบริการคลินิกและสายด่วนรวมกว่า 100,000 ราย อัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จช่องทางสายด่วนราว 40% และคลินิกราว 15-20%

 

ตัวช่วยเลิกบุหรี่

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน มีนิโคตินทดแทนซึ่งสามารถช่วยให้ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเลิกได้ เพราะเป็นการใช้นิโคตินในรูปแบบทางการแพทย์ ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น ปริมาณไม่มาก วัตถุประสงค์เพื่อลดอาการอยากบุหรี่ ภาษาชาวบ้าน คือ ถอนนิโคติน ให้ผู้สูบที่อยู่ในกระบวนการเลิกไม่ลงแดงจากการขาดนิโคตินและหย่าขาดได้ในที่สุด ดังนั้นหลังจากการรักษาไป 3-6 เดือน เป้าหมาของการรักษา คือ ชีวิตต้องไม่มีนิโคติน

 

ทั้งนี้ นิโคตินทดแทน มีใช้ในโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา หากเป็นสมัยก่อนจะต้องใช้ใบสั่งแพทย์ แต่ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปลี่ยนยากลุ่มนี้จากยาอันตราย เป็นยาที่ซื้อขายได้ตามร้านขายยา โดยในประเทศไทยตอนนี้มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.แผ่นแปะ ที่ผิวหนัง ใช้เวลาดูดซึมออกฤทธิ์ราว 1 ชั่วโมง ออกฤทธิ์ช้าแต่อยู่ได้นานเกือบ 24 ชั่วโมง 2. หมากฝรั่ง ใช้เวลาออกฤทธิ์ราว 10-15 นาที อยู่ได้ราว 1.30 ชั่วโมง และ 3. เมาท์สเปรย์ ออกฤทธิ์เร็ว 30 วินาที ลดอาการอยากบุหรี่ได้เร็ว แต่อยู่ได้ราว 1 ชั่วโมง

 

ท้ายนี้ รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวถึงความท้าทายในการลดการบริโภคบุหรี่ในไทย ว่า ภาครัฐ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนให้ทุกโรงพยาบาลมีบริการเลิกบุหรี่แก่ประชาชน การมียาเลิกบุหรี่ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มากกว่า 1 ตัวในอนาคต จะสามารถเลือกยาที่เหมาะสมให้กับคนไข้แต่ละรายได้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดมากขึ้น การจับกุมผู้ฝ่าฝืน เช่น คนที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็ก การปกป้องเยาวชนต้องมีความชัดเจน

 

\'บุหรี่\' กับความท้าทายไทย ป้องกันเยาวชน ก้าวสู่ \'นักสูบหน้าใหม่\'