คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า : มุมมองเศรษฐศาสตร์

คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า : มุมมองเศรษฐศาสตร์

ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนและนักการเมืองบางคน พยายามผลักดัน บุหรี่ไฟฟ้า ให้เป็นสินค้าถูกกฎหมาย ขณะที่ภาคประชาสังคม องค์กรเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพต่าง ๆ ออกมาคัดค้านโดยชี้ให้เห็นถึงพิษภัยอันตราย กระนั้นก็ยังมีความพยายามผลักดันให้เปิดตลาดมาโดยตลอด

องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักถึงพิษภัยยาสูบ 

ในปี 2547 WHO ชูประเด็น ยาสูบกับความยากจน (Tobacco and Poverty: a vicious circle) เพื่อชี้ให้เห็นว่ายาสูบก่อให้เกิดความยากจนต่อตัวผู้สูบเอง ครอบครัว และประเทศชาติ 

ปี 2560 ชูประเด็น ยาสูบ: ภัยคุกคามต่อการพัฒนา (Tobacco: a threat to development) ชี้แนะให้ทุกประเทศปกป้องสุขภาพของประชาชน ลดความยากจน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยลด ละ เลิกบุหรี่ 

สำหรับปีนี้เนื่องจากเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารอันเนื่องจากสงคราม/ความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการระบาดของโควิดทั่วโลก จึงชูประเด็นรณรงค์เรื่องการปลูกพืชทดแทนยาสูบ

ธนาคารโลกศึกษาพบว่ายาสูบก่อผลเสียมากกว่าผลได้ และการควบคุมยาสูบให้ผลคุ้มค่ามากในประเทศยากจนและประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จึงมีนโยบายไม่สนับสนุนการบริโภค/การผลิตยาสูบมานานแล้ว  มีการจัดทำรายงานฉบับแรก พ.ศ. 2542

ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจัดแปลและพิมพ์ภาคภาษาไทยในชื่อว่า “พัฒนาการทางปฏิบัติ หยุดการแพร่ภัยบุหรี่ สิ่งที่รัฐต้องทำ และผลได้ผลเสียทางเศรษฐกิจของการควบคุมยาสูบ”  ต่อมายังจัดทำรายงานอีกหลายฉบับชี้แนะให้ทุกประเทศควบคุมยาสูบ

อมาร์ตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้รอบรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ กล่าวปาฐกถาในที่ประชุมโลกเรื่อง บุหรี่หรือสุขภาพ ปี 2549 ว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าบุหรี่ก่ออันตราย

ท่านชี้แนะว่าการควบคุมยาสูบเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกประเทศต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่เพียงออกกฎหมายและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญด้วย

ทั้งชี้แนะว่าภาษีเป็นมาตรการสำคัญช่วยให้คนจนเลิกบุหรี่ได้มาก ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องจากบุหรี่

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปูชนียบุคคลด้านการศึกษาและเศรษฐศาสตร์การเงินการคลังของไทย (อดีตผู้ว่าการ ธปท. ผู้อำนวยการ สงป. และผู้อำนวยการ สศค.) เจ้าของบทความโด่งดัง “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่พูดถึงคุณภาพชีวิตกับสวัสดิการที่รัฐพึงจัดให้ประชาชน

ท่านกล่าวไว้ในการบรรยายเรื่องเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2496 ว่ารัฐบาลควรคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนมากกว่ามุ่งหารายได้จากภาษียาสูบ ซึ่ง ณ เวลานั้นโลกยังไม่ทราบถึงพิษภัยร้ายแรงของยาสูบด้วยซ้ำ

กลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามักยกเหตุผลต่าง ๆ มาอ้าง เช่น 1) ทำให้เป็นสินค้าถูกกฎหมายจะได้ไม่มีการลักลอบซื้อขาย รัฐก็สามารถเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้ 

2) WHO ก็ชี้แนะให้ประเทศต่าง ๆ เก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า และ

3) ประเทศที่เจริญแล้วก็เปิดให้ซื้อขายกันได้ บุหรี่มวนยังขายได้ แล้วทำไมบุหรี่ไฟฟ้าจะขายไม่ได้ เป็นต้น 

ข้ออ้างเหล่านี้ฟังดูเหมือนจะดีมีเหตุผล แต่หากพิจารณาโดยถ่องแท้จะประจักษ์ความเป็นจริง

ข้ออ้างแรก ที่ว่าถ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมายจะไม่มีการลักลอบซื้อขาย ความเป็นจริงคือทุกวันนี้บุหรี่มวนที่ซื้อขายได้ถูกกฎหมายก็ยังมีข่าวลักลอบหนีภาษีอยู่บ่อย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าถ้าเปิดให้ถูกกฎหมาย ก็แน่นอนว่ารัฐสามารถเก็บภาษีได้ แต่บุหรี่เป็นสินค้าที่สามารถฆ่าคนได้ ไม่ว่าจะเก็บภาษีได้มากเพียงใดผลได้ก็ไม่คุ้มเสีย  ทั้ง WHO และธนาคารโลกจึงล้วนชี้แนะให้ทุกประเทศควบคุมยาสูบ

ข้ออ้างที่สอง ที่ว่า WHO ชี้แนะให้เก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการพูดความจริงครึ่งเดียว 

ข้อมูลที่ถูกต้องคือ WHO ชี้แนะให้ประเทศต่าง ๆ “ห้าม” หรือ “จำกัด” การผลิต การนำเข้า การนำเสนอ การขาย และการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ตามความเหมาะสมกับกฎหมายของแต่ละประเทศและวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข 

ประเทศใดที่ไม่ห้ามก็ชี้แนะให้ควบคุมอย่างจริงจังโดยใช้มาตรการต่าง ๆ ตามกฎหมายควบคุมยาสูบโลกเป็นหลักทำนองเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น

ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในมาตรการสำคัญก็คือ มาตรการภาษี  สำหรับบ้านเราที่มีกฎหมายห้ามอยู่แล้วนั้น การอ้างดังกล่าวขัดเจตนารมณ์ของ WHO ในการควบคุมยาสูบชัดเจน

ข้ออ้างสุดท้าย ประเทศที่เปิดให้ซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าหลายประเทศกำลังประสบปัญหาเด็กและเยาวชนสูบเพิ่มขึ้น ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกในสหรัฐฯ ที่ห้ามจำหน่ายแล้ว

ออสเตรเลียก็เพิ่งประกาศห้ามนำเข้าไม่นานนี้เอง  ไทยเป็นหนึ่งใน 30 กว่าประเทศที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม และที่สามารถห้ามได้แต่แรกก็เป็นผลจากการมองการณ์ไกลของอาจารย์ผู้ใหญ่ในแวดวงการควบคุมยาสูบที่ชี้แนะผลักดัน 

สำหรับบุหรี่มวนมีการซื้อขายมานาน การห้ามทันทีเป็นเรื่องยากเพราะเสพติดนิโคติน มาตรการที่ประเทศต่าง ๆ ทำอยู่คือการกำหนดเป้าหมายลดอัตราการสูบบุหรี่และเป้าหมายการเป็นประเทศปลอดบุหรี่ 

ตัวอย่างเช่น ภูฏานปลอดบุหรี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 นิวซีแลนด์กำหนดปลอดบุหรี่ภายในปี 2568 เป็นต้น

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปกำลังมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น ขณะที่บ้านเราบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม ซึ่งดีอยู่แล้ว สอดคล้องกับการชี้แนะของ WHO 

หากเปิดให้ซื้อขายได้จะมีเด็กและเยาวชนสูบมากขึ้น จะยิ่งสร้างปัญหาคุณภาพชีวิตของเด็กและภาระการคลังในอนาคต ประเทศเราเป็นสังคมสูงวัย รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากดูแลด้านสวัสดิการ อีกทั้งปัจจุบันภาระหนี้ทั้งภาคครัวเรือนและภาครัฐก็สูงมากแล้ว

WHO ชี้ให้เห็นเล่ห์เหลี่ยมของธุรกิจยาสูบข้ามชาติในการพยายามเข้าถึงบุคคลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายภาษียาสูบ

ระบุว่ามีงานวิขาการจำนวนมากที่ได้รับทุนสนับสนุนจากธุรกิจยาสูบ และชี้แนะว่าประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าควรดำเนินการอย่างเคร่งครัดไม่ให้อุตสาหกรรรมยาสูบแทรกแซง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับการปกป้องให้พ้นพิษภัยยาสูบ

คนไทยเสียค่าโง่มามากแล้วจากการที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังปล่อยให้บุหรี่ลดราคาเมื่อปี 2560 จึงไม่ควรโง่อีกกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่เรามาถูกทางแล้ว.