'บุหรี่ไฟฟ้า' เพิ่มความเสี่ยง สูบบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า

'บุหรี่ไฟฟ้า' เพิ่มความเสี่ยง สูบบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า

ศจย. เผยงานวิจัยออสเตรเลีย พบวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ชี้หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งเสพติดแรกเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 3 เท่า หมอประกิต หวังรัฐบาลใหม่ คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ลดอัตรา 'นักสูบหน้าใหม่' ในเยาวชน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2566 ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สำนักข่าว The Guardian เผยงานวิจัยในออสเตรเลีย พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่น เป็นปัจจัยเสี่ยงสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา งานวิจัยทำการสำรวจการใช้สิ่งเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต พฤติกรรมเพื่อนร่วมกลุ่ม การขาดเรียน และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในเด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี จำนวน 3,410 คน ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน พบกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1 ใน 10 คน มีปัจจัยเสี่ยงสู่การสูบบุหรี่ธรรมดาในอนาคต และปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น ความเชื่อว่าคนสูบบุหรี่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน, มีเพื่อนอย่างน้อย 1 คนสูบบุหรี่, การสูบบุหรี่ครั้งคราวไม่มีอันตราย และมีอาการซึมเศร้า

 

สอดคล้องกับรายงานก่อนหน้านี้ที่พบอัตราการสูบบุหรี่ของเด็กออสเตรเลียอายุ 14-17 ปี เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมา 20 กว่าปี และสอดคล้องกับรายงานนานาชาติ ที่พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 3 เท่า

 

“บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมที่จะสูบบุหรี่ธรรมดา ทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมจากมือถึงปาก และการรับรู้โฆษณา ทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้า นำไปสู่การเสพติดนิโคตินและการสูบบุหรี่ธรรมดาอีกด้วย ออสเตรเลียจึงเพิ่มความเข้มข้นของกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยให้ขายได้เฉพาะผู้ที่มีใบสั่งแพทย์ หรือให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันเด็กนักเรียนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว

 

\'บุหรี่ไฟฟ้า\' เพิ่มความเสี่ยง สูบบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในไทย บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดเข้าสู่โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นผลจากการส่งเสริมการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน และการบังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ขาดประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน การให้ความรู้พิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน ก็ยังมีความคืบหน้าช้ามาก

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า หลายประเทศพบผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน สูงกว่าอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา และจากข้อมูลพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้ผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ธรรมดาเลิกสูบ จากกรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอให้แก้กฎหมายให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าภาษีที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากการมีนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย เป็นการสูญเสียของนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอายุน้อย ทั้งค่าใช้จ่ายซื้อบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายต่อสุขภาพ และเกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคในอนาคต

 

\'บุหรี่ไฟฟ้า\' เพิ่มความเสี่ยง สูบบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า

 

“รัฐบาลต้องแสดงความสามารถในการหารายได้เข้ารัฐ มากว่าหารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้า เพราะสิ่งเสพติดไม่มีประโยชน์ต่อสังคมเลย ข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย มีอัตราภาษีที่เก็บต่ำกว่าอัตราภาษีบุหรี่ธรรมดามาก ซึ่งเป็นผลจากการล็อบบี้ของบริษัทบุหรี่ สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำคือ คงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเร่งรัดให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนทั่วประเทศ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว