'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' โตทั่วโลก ปี 70 ไทยแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท

'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' โตทั่วโลก  ปี 70 ไทยแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท

'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ' ของไทยโตต่อเนื่อง ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท และอาจแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท ในปี 2570 รพ.เอกชน ภาคส่วนสำคัญรับนักท่องเที่ยวศักยภาพสูง เร่งปรับตัวทั้งการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี สอดรับกับเทรนด์โลก

Key Point : 

  • มีการคาดการณ์ว่า Medical Tourism ของไทยในปี 2566 จะอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท และอาจแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท ในปี 2570
  • ขณะเดียวกัน ไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ราคาที่เข้าถึงได้ และความเป็นไทยที่ได้ใจคนทั่วโลก
  • ในส่วนของ รพ.เอกชน ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการรองรับกลุ่ม Medical Tourism ทำให้ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวเพื่อสอดรับกับเทรนด์โลก

 

ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism ทั่วโลกเติบโตปีละ 20% Global Wellness Institute คาดปี 2568 มีมูลค่าธุรกิจ Wellness ทั่วโลกสูงถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่มีศักยภาพในการเสริมความแข็งแกร่งทางสังคมและเศรษฐกิจ

 

สำหรับ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญ ในการรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดงาน 'เมดิคอล แฟร์ ไทยแลนด์ 2023' ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คือ กลุ่มการท่องเที่ยวทางการแพทย์ หรือ Medical Tourism

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท และอาจแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท ในปี 2570 ทำให้ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรและเทคโนโลยีใหม่ๆ มีคุณภาพสูง เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกและความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและจากนักท่องเที่ยวนานาชาติ ซึ่งมองหาการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและมีราคาไม่แพง

 

“การแพทย์ของไทยโดดเด่น โดยคู่แข่งของเราคือ สิงคโปร์ แต่ไทยค่าใช้จ่ายถูกกว่าและ ‘ความเป็นไทย’ (Thainess) ดีกว่า กลุ่ม Medical Tourism ที่เข้ามาหลักๆ คือ ตะวันออกกลาง และ อาเซียน ตอนนี้ โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 400 กว่าแห่ง ต่างเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งคนไข้ที่มาจากอาเซียนไม่ว่าจะ กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นเคสหนัก อาทิ มะเร็ง โรคหัวใจ ฯลฯ ขณะที่ชาวจีน จะนิยมเข้ามารับ 3 บริการ คือ ชะลอวัย ศัลยกรรมตกแต่ง และรักษามีบุตรยาก ด้านชาวยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ที่รับบริการส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในเมืองไทย”

 

บีดีเอ็มเอส ชูสุขภาพเชิงป้องกัน

ด้าน บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ผนึกกำลัง เมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท พัฒนาโปรแกรมดูแลสุขภาพที่ผสานการพักผ่อน ภายใต้แบรนด์ BDMS Wellness Retreat ตอบรับเทรนด์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ มุ่งเน้นการป้องกันก่อนการเกิดโรค รับตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มและทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการในไทย ได้แก่ ประเทศตะวันออกกลาง จีน สิงคโปร์ และอินเดีย

 

 

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท เปิดเผยว่า บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก มองเห็นโอกาสทางการตลาด จากเทรนด์ความต้องการดูแลสุขภาพในรูปแบบ Wellness ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมุ่งเน้นการป้องกันก่อนการเกิดโรค ที่เทรนด์ปัจจุบันคนทั่วโลกมีความต้องการและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19

 

ประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้านที่จะเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ Wellness รัฐบาลยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ให้มีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเตรียมให้มีมาตรการฟรีวีซ่า 90 วัน กับนักท่องเที่ยวในประเทศเป้าหมายสำคัญ หรือโครงการใหญ่ ๆ เช่น เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวโดยรวม รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เติบโตเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

“บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก วางแผนรองรับการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทย สู่การเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (Wellness destination of the world) โดยการจัดโปรแกรมการรักษาสุขภาพแบบพิเศษ รวมถึงความร่วมมือกับเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท ออกแบบโปรแกรมเวลเนสที่บูรณาการเรื่องการดูแลสุขภาพไปพร้อมกับการพักผ่อน อาทิ การลดน้ำหนัก, การชะลอวัย, การนอนหลับที่ดี เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขยายตลาดและกลุ่มเป้าหมายรักษ์สุขภาพให้กว้างขึ้น”

 

พานาซี เดินหน้าศูนย์กลางมะเร็ง

ด้าน โรงพยาบาลพานาซี พระราม 2 ล่าสุด เปิดตัว 'ศูนย์การแพทย์มะเร็งบูรณาการ' พลิกโฉมในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งโดยเน้นหลักการรักษาแบบบูรณาการ นพ.ภัทรพล คำมุลตรี ผู้อำนวยการ รพ.พานาซี พระราม 2 เผยว่า ศูนย์การแพทย์มะเร็งบูรณาการ ให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพโดยใช้นวัตกรรมการตรวจที่ให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและมีความแม่นยำสูง โดยสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งได้ตั้งแต่เริ่มมีความเสี่ยง หรือตั้งแต่ระยะที่ 0 พร้อมนำนวัตกรรมประสิทธิภาพสูงอย่าง “เครื่อง Oncothermia” หรือการรักษามะเร็งด้วยคลื่นความร้อน ร่วมกับนวัตกรรมการดูแลด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ป่วยมะเร็งให้กลับมามีอายุยืนยาว

 

ทั้งนี้ รพ.พานาซี พระราม 2 ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการให้บริการ มะเร็งแบบบูรณาการ คัดกรองวินิจฉัยภาวะเสี่ยงเป็นมะเร็งเพื่อการรักษาได้ทันท่วงที และการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งทุกระยะที่ต้องการผลลัพธ์ที่แตกต่างกับคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

 

\'การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ\' โตทั่วโลก  ปี 70 ไทยแตะระดับ 7.6 แสนล้านบาท

 

เครื่องมือแพทย์ โตต่อเนื่อง

ตลาดอุปกรณ์การแพทย์ของประเทศไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า จากการผลักดันนโยบายศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ โดยอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี

 

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (THAIMED) เผยว่า ในปีนี้ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการในไทยหลังการเปิดประเทศ กระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด/เข็มฉีดยา ประเทศปลายทางที่สำคัญสำหรับอุปกรณ์และอุปกรณ์การแพทย์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี