'เบาหวาน' ต้องรู้ กินอาหารแบบไหน ไม่ให้น้ำตาลสูง

'เบาหวาน' ต้องรู้ กินอาหารแบบไหน ไม่ให้น้ำตาลสูง

ทำความเข้าใจ 'โภชนาการ' เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทานอาหารอย่างไรให้เหมาะสม พร้อมดูแลตัวเอง ผ่านหลัก 3 อ. ลดการเกิดปัญหาแทรกซ้อน

Key Point :

  • สิ่งสำคัญของ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อน
  • ทั้งนี้ นอกจากการรักษา และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แล้ว ในเรื่องของ โภชนาการ ยังเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ไม่มากและน้อยเกินไป
  • นอกจากอาหารแล้ว ในเรื่องของการออกกำลังกาย และ การดูแลด้านอารมณ์ ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะให้สุขภาพดีครบทุกด้าน

 

การดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ยิ่งกับคนในปัจจุบันที่ละเลยการดูแลร่างกายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารตามใจปาก ขาดการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรงไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่ ระดับน้ำตาลในเลือด นั้นสูงกว่าปกติ เพราะฉะนั้นการเลือกรับประทานอาหารต้องพิถีพิถันและระมัดระวังให้มาก

 

ระดับน้ำตาลในเลือด มีผลต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอย่างมาก หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี ก็จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานกำเริบและเป็นอันตรายร้ายแรงได้เช่นกัน การจะดูแลเรื่องระดับน้ำตาลในเลือด มีวิธีการออกกำลังกาย และเปลี่ยนหลักโภชนาการให้ถูกต้อง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ชลลดา ดีอำไพ นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เรื่อง อาหารที่จะช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ ผ่านช่องยูทูบ RAMA Channel โดยอธิบายว่า ปัจจุบัน หลายคนคงคุ้นเคยกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดื่มสุรา รับประทานอาหาร ขาดการออกกำลังกาย และความเครียด เมื่ออายุมากขึ้น จะสังเกตได้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง เมื่อไม่ดูแลตัวเอง ก็จะมีโรค NCDs ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน

 

“โรคเบาหวาน เกิดจากการพร่องของอินซูนลิน ที่จะดึงน้ำตาลเข้าไปใช้ในร่างกาย หากไม่ควบคุมเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ สิ่งที่จะตามมา คือ ไตเสื่อม ตาบอด นำไปสู่การตัดอวัยวะบางส่วนทิ้งได้ เพราะเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายส่วนนั้นได้ ดังนั้น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ จะเป็นการลดการเกิดปัญหาแทรกซ้อนต่างๆ”

 

ปรับพฤติกรรม คุมระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับหัวใจในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในระดับที่ปกติ เริ่มจากที่ตัวเราเอง โดยการปรับพฤติกรรม ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามแนวเวชปฏิบัติ คือ

- รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เพียงพอ และเหมาะสมกับปริมาณอินซูลิน หรือยาที่ใช้ โดยต้องรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ซึ่งในแต่ละมื้อควรรับประทานในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน

- ใช้การนับคาร์โบไฮเดรต หรือ การใช้อาหารแลกเปลี่ยนเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

- เลือกรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ข้าวที่ไม่ขัดสี โฮลเกรน ธัญพืช

- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีระดับน้ำตาลสูง หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมอยู่จำนวนมาก และหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารเพิ่มเติม

- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันทรานส์

- รับประทานโปรตีนที่มีคุณภาพ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เต้าหู้ต่างๆ

- เน้นการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เพื่อชะลอการดูดซึมน้ำตาล เข้าสู่เส้นเลือด

 

3 อ. ควบคุมระดับน้ำตาล

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ คือ การที่ทำให้สุขภาพดี หรือใช้หลัก 3 อ. ได้แก่

  • อ. ที่ 1 อาหาร

รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ครบ 5 หมู่ ไม่อดมื้อใดมื้อหนึ่ง ลดความหวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และผลไม้ หลีกเลี้ยอหารทีใช้น้ำมันซ้ำหลายๆ ครั้ง เน้นรับประทานไขมันดี กินอาหารหลากหลาย ไม่จำเจ

  • อ. ที่ 2 ออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง อายุยืน โดยออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที และ ทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที

  • อ. ที่ 3 อารมณ์

จัดการอารมณ์และความเครียด เลือกวิธีที่ถนัด สนใจ ทำแล้วเพลิน ลดความเครียด มีความสุข เช่น ฟังเพลง ร้องเพลง ดูโทรทัศน์ นอนหลับพักผ่อน ปลูกต้นไม้ พูดคุยพบปะเพื่อนฝูง ในภาวะที่เครียดและพักผ่อนน้อย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้แนวโน้มน้ำตาลในเลือดผิดปกติได้

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง

อาหารที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง คือ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว แป้ง เส้น ขนมปัง ข้าวโพด เผือก มัน ธัญพืช ต่างๆ เมื่อทานเข้าไป ร่างกายจะเกิดการย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคส และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสม และเพียงพอกับปริมาณยา หรือ อินซูลินที่ใช้ ควบคู่กับการรับประทานใยอาหาร และผักผลไม้เพิ่มเติม จะเป็นตัวช่วยขัดขวาง ชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดได้

 

สมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้หรือไม่ ?

ปัจจุบัน มีการศึกษาว่ามีสมุนไพรในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่การใช้สมุนไพร ต้องอยู่ในหลักที่ใช้ได้จริง มีรายงานการวิจัย แต่หากในมุมมองของนักโภชนาการ จะเน้นให้รับประทานอาหารสด เพิ่มใยอาหารมากกว่า โดยในงานวิจัยที่พบว่าสมุนไพรที่ลดน้ำตาลในเลือดได้ ได้แก่ มะระขี้นก ตำลึง ใบกะเพรา และแก่นตะวัน แต่แนะนำให้ทานในรูปแบบอาหารสดเพื่อเพิ่มใยอาหารในร่างกาย และชะลอการดูดซึมน้ำตาลในเลือด

 

การดูแลระดับน้ำตาลในเลือดผู้สูงวัย

สำหรับการดูแลระดับน้ำตาลในเลือดของผู้สูงวัย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะผู้สูงอายุ ต่อมรับรสเสื่อมลง ดังนั้น จึงชอบรับประทานอาหารที่หวานจัด เค็มจัด เนื่องจากมีต่อมรับรสที่เปลี่ยนไป ดังนั้น ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุว่ารับประทานอาหารมื้อนั้นเพียงพอหรือไม่ เช่น หากในวันนั้น รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 1-2 ทัพพี ก็สามารถมีมื้อว่าง เป็นผลไม้ 1 ส่วนบริโภค 6-8 ชิ้นคำ หรือ นม น้ำเต้าหู้ เต้าฮวย ควบคู่กับน้ำสมุนไพรที่ไม่เติมน้ำตาล ซึ่งการดูแลโภชนาการผู้สูงวัย ควรจะดูแลให้เหมาะสม คือ

1. รับประทานเป็นมื้อสม่ำเสมอ ให้เหมาะสม และปริมาณเท่าๆ เดิม ไม่ควรงดอาหรมื้อใดมื้อหนึ่ง

2. รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ เนื่องจากปัญหาการย่อยการดูดซึมที่ลดลง และปริมาณอาหารที่กินต่อมื้อไม่มาก ทั้งนี้ ผู้ดูแลควรดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้เหมาะสมไม่ควรมากเกินไป

3. หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด หรือ เค็มจัด

4. ในผู้สูงอายุ ระบบน้ำย่อยจะลดลง อาหารที่กินควรเป็นอาหารอ่อนที่เคี้ยวง่าย กลืน และ ย่อยง่าย โดยเฉพาะในรายที่ไม่มีฟัน หรือใส่ฟันปลอม ในการปรุงอาหารอย่างเนื้อสัตว์ ควรที่จะสับ บดละเอียด ตุ๋นจนเปื่อย หรือนำมาปั่นใส่ในน้ำซุปในกรณีที่เคี้ยวเองไม่ได้

5. ควรลดการบริโภคไขมันลง เน้นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เลี่ยงของทอด ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีได้