ทบทวนอีกที "ขวดน้ำ" ตากแดดร้อนนานๆ มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่?

ทบทวนอีกที "ขวดน้ำ" ตากแดดร้อนนานๆ มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่?

อย่าเชื่อข้อมูลมั่ว! "ขวดน้ำพลาสติก" วางทิ้งในรถจอดกลางแดดนานๆ ปล่อยสารอันตราย ไม่จริง! เพียงแต่ขวดน้ำแบบ PET ต้องใช้ครั้งเดียว ไม่ควรใช้ซ้ำเพื่อเลี่ยงเชื้อโรค ส่วนกระบอกน้ำพลาสติกแบบแข็ง ห้ามเติมน้ำร้อน

Key Points:

  • ข่าวปลอมเกี่ยวกับการ “ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก (PET) ในรถที่จอดตากแดด” แล้วทำให้สารเคมีจากขวดน้ำปนเปื้อนออกมา เริ่มถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์อีกครั้ง ซึ่งนักวิชาการออกมาย้ำว่า ไม่เป็นความจริง! 
  • ขวดน้ำพลาสติกแบบ PET ไม่ควรเอามาใช้ซ้ำ ไม่ใช่เพราะว่ากังวลเกี่ยวกับสารเคมีปนเปื้อนในน้ำ แต่เป็นเพราะหากใช้ซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในขวดน้ำมากกว่า
  • ขณะที่กระบอกน้ำพลาสติกแบบแข็ง (โพลีคาร์บอเนต) ใช้ซ้ำได้ แต่ต้องใช้งานให้ถูกต้อง เพื่อลดการปนเปื้อนของสารเคมีจากขวด เช่น ไม่ควรเติมน้ำร้อนใส่ในกระบอก ไม่ควรผ่านการต้มหรือนึ่ง และการล้างทำความสะอาดอย่าใช้น้ำยาที่กัดกร่อนสูง

เมื่อเร็วๆ นี้มีเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับอันตรายจาก “ขวดน้ำพลาสติก” ประเภทโพลีคาร์บอเนต โดยระบุว่า หากนำขวดประเภทนี้ไปใส่น้ำร้อน จะทำให้ “สารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol A)” ละลายออกมาปะปนกับน้ำดื่ม ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพ จึงไม่ควรนำขวดน้ำพลาสติกทิ้งไว้ให้โดดแดดหรือใช้กับน้ำร้อน และขวดพลาสติกทั่วไปแบบใช้แล้วทิ้ง (PET) ก็อาจมีการปนเปื้อนของ “สารอะซิทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde)” ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนได้

ในความเป็นจริงแล้ว ขวดน้ำพลาสติกทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว มีวิธีการใช้งานที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยอย่างไร และหากนำขวดน้ำแบบ PET ทิ้งไว้ในรถจอดกลางแดดนานๆ จะมีสารอันตรายปนเปื้อนในน้ำดื่มหรือไม่?  

เรื่องนี้มีคำตอบจาก รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ข่าวปลอมและข้อมูลมั่วเก่าๆ กลับมาวนเวียนสร้างความหวาดกลัวเกี่ยวกับการ “ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกในรถที่จอดตากแดด” อีกเรื่อยๆ ว่าอาจมีสารเคมีปนเปื้อน ซึ่งไม่เป็นความจริง!

ทบทวนอีกที \"ขวดน้ำ\" ตากแดดร้อนนานๆ มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่?

1. ขวดน้ำพลาสติกโพลีเอธิลีน เทเรฟทาลเลต (PET) 

รศ.ดร.เจษฎา อธิบายว่า ขวดประเภท PET “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” ได้เคยออกมาชี้แจงและให้ข้อมูลหลายครั้งแล้วว่า ขวดพลาสติกประเภทนี้ เป็นขวดที่ออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่ง อย. มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติกอยู่แล้ว หากใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งก็ไม่มีปัญหาต่อสุขภาพแต่อย่างใด

เหตุที่ไม่ควรเอาขวด PET มาใช้ซ้ำ ไม่ใช่เพราะว่ากังวลเกี่ยวกับสารเคมีปนเปื้อนจากขวดออกมาสู่น้ำดื่ม แต่เป็นเพราะหากใช้ซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในขวดน้ำมากกว่า ถ้าล้างไม่ดีพอก่อนที่จะบรรจุซ้ำใหม่ อีกทั้ง กรณีของ “สารอะซิทัลดีไฮด์” ที่อาจปนเปื้อนออกมาจากขวด PET นั้น ส่วนใหญ่จะพบการตกค้างของสารดังกล่าวในกระบวนการผลิตขวด แต่ก็ตรวจพบน้อยมากๆ ซึ่งไม่มีผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด 

ส่วนกรณีของการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกในรถที่จอดตากแดดแล้วทำให้มีสาร Bisphenal A (BPA) และสารก่อมะเร็งปนเปื้อนออกมานั้น สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นขวดขาวขุ่น (ขวด PE) หรือขวดใส (ขวด PET)  แม้จะตากแดดก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และสาร BPA ก็ไม่ได้เป็นองค์ประกอบของพลาสติกที่มาทำเป็นขวด PET ด้วย

ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เคยทำการทดลองกรณีนี้แล้ว ด้วยการนำน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกที่จําหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จํานวน 18 ยี่ห้อ ไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน

ทบทวนอีกที \"ขวดน้ำ\" ตากแดดร้อนนานๆ มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่?

จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่ม Dionxin จํานวน 17 ตัว และ PCB จํานวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่ม Dionxin และ PCB ในทุกตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า สามารถดื่มน้ำบรรจุขวดได้อย่างปลอดภัยไร้สารก่อมะเร็ง 

ดังนั้น สรุปได้ว่าสาเหตุที่กระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ใส่น้ำบริโภคซ้ำๆ หลายครั้ง ไม่ใช่กังวลว่าจะมีสารเคมีละลายออกมา แต่เป็นเพราะว่าอาจจะมีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ ตกค้าง โดยเฉพาะบริเวณปากขวดมักเป็นที่สะสมเชื้อโรค

หากใครเก็บขวดน้ำดื่มที่ดื่มแล้วบางส่วนไว้ในรถที่จอดตากแดด เมื่อกลับมาดื่มใหม่วันหลัง พบว่ามีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นในน้ำ กรณีนี้อธิบายได้ว่า กลิ่นเหม็นดังกล่าวไม่ใช่กลิ่นของสารเคมีแต่อย่างใด แต่เป็นกลิ่นที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากของเรา ปะปนลงไปอยู่ในน้ำ (เมื่อใช้ปากดื่มน้ำจากขวดโดยตรง) และเชื้อจุลินทรีย์นั้นก็เจริญเติบโตในน้ำและสร้างกลิ่นขึ้นมานั่นเอง

 

2. ขวดน้ำพลาสติกแบบโพลีคาร์บอเนต 

ขวดแบบนี้เป็นขวดน้ำหรือกระบอกน้ำพลาสติกใสแบบแข็ง สามารถใช้ซ้ำได้ แต่หากใช้งานไม่ถูกต้องก็อาจทำให้มีสารเคมี Bisphenol A หรือ BPA ปนเปื้อนออกมาได้

ข้อมูลจาก BottlemeMarket ระบุว่า สาร BPA เป็นสารเคมีประกอบในพลาสติกประเภทโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate - Plastic) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตขวดนม กระบอกน้ำดื่มในยุคอดีต โดยสารนี้มีคุณสมบัติช่วยให้ขวดนมหรือกระบอกน้ำ มีความแข็งแรง ใส ไม่แตกง่าย

แต่ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยและตรวจพบว่า เมื่อนำขวดนม และกระบอกน้ำพลาสติกมาผ่านความร้อนด้วยการต้ม นึ่ง หรือเติมน้ำร้อนจัดลงไป จะทำให้สารเคมีดังกล่าวละลายออกมาปะปนในน้ำดื่มได้ หรือหากใช้งานขณะที่กระบอกน้ำมีการแตกร้าว เสื่อมคุณภาพ และอยู่ในอุณหภูมิความร้อนสูงๆ ก็อาจมีสารนี้ปนเปื้อนออกมาเช่นกัน

ทบทวนอีกที \"ขวดน้ำ\" ตากแดดร้อนนานๆ มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่?

หากมีการใช้งานขวดน้ำหรือกระบอกน้ำพลาสติกใสแบบแข็งที่ผิด ก็จะทำให้ร่างกายได้รับสาร BPA ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกาย เช่น 

  • มีผลต่อการสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท ความทรงจำ การเรียนรู้
  • มีผลต่อฮอร์โมนเพศ เช่น ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก 
  • เด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน และไฮเปอร์แอคทีฟ
  • ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ

ปัจจุบันการผลิตขวดน้ำหรือกระบอกน้ำพลาสติกใสแบบแข็ง โรงงานส่วนใหญ่ไม่มีการผลิตด้วยพลาสติกโพลีคาร์บอเนตแล้ว เนื่องจากไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบทางเลือกอื่นๆ ทดแทน เช่น Tritan และ PP

แต่ทางที่ดีควรใช้งานให้ถูกต้อง ด้วยการบรรจุน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิปกติ และล้างด้วยน้ำยาล้างจานแบบอ่อนๆ จะปลอดภัยมากกว่า อีกทั้งในการเลือกใช้ขวดน้ำหรือกระบอกน้ำพลาสติกแบบแข็ง ถ้าจะให้ปลอดภัยแบบชัวร์ๆ จะต้องสังเกตจากสัญลักษณ์ BPA free ที่ระบุอยู่จุดใดจุดหนึ่งของขวดน้ำ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยเลี่ยงสารเคมี BPA ได้แน่นอน

--------------------------------------

อ้างอิง : Oh I See by AjarnJessBottlemeMarket, ศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, Hfocus.org