แสงแดดตัวการ 'ฝ้า กระ' ปกป้องผิว เลือก 'ครีมกันแดด' อย่างไร ให้เหมาะสม

แสงแดดตัวการ 'ฝ้า กระ' ปกป้องผิว เลือก 'ครีมกันแดด' อย่างไร ให้เหมาะสม

ในหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด แสงแดด ที่รุนแรงภายนอก อาจส่งผลต่อผิวได้ โดยเฉพาะ ฝ้า กระ ที่เกิดจากหนึ่งในตัวการสำคัญ คือ แสงแดด แล้วเราจะปกป้องผิวอย่างไร เลือกครีมกันแดดแบบไหน ถึงจะเหมาะสม

แสงแดด นับเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ส่งผลให้ผิวคล้ำขึ้นและเกิด ฝ้า กระ ได้ นอกจากนี้ การโดนแสงแดดสะสมเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง 

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบาย สาเหตุการเกิด ฝ้า กระ ว่า 'ฝ้า' มีลักษณะเป็นปื้น มักเกิดขึ้นบริเวณหน้า โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด เช่น โหนกแก้ม หน้าผาก คาง ไรหนวด

 

สาเหตุเกิดฝ้า

  • แสงแดด
  • พันธุกรรม
  • การได้รับฮอร์โมนบางชนิดโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด หรือภาวะตั้งครรภ์
  • นอกจากนี้ แสงที่ตามองเห็น (visible light) ก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าในคนที่ผิวเข้มได้

 

ฝ้าบนหน้ามีกี่กลุ่ม 

 

สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายว่า ฝ้าที่พบบนใบหน้าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

  • ส่วนกลางของใบหน้า ได้แก่ หน้าผาก จมูก คาง หรือส่วนเหนือริมฝีปากบน
  • ส่วนโหนกแก้ม , แก้ม
  • ส่วนแนวกราม

 

การวินิจฉัย

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
  • ตรวจด้วย Wood Lamp ทำให้เห็นขอบเขตได้ชัดเจนขึ้น
  • การวินิจฉัยแยกโรค จะต้องแยกจากความผิดปกติของเม็ดสีแบบอื่นๆ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

สำหรับ 'กระ' มีหลายชนิด ได้แก่ กระแดด กระตื้น กระลึก และกระเนื้อ เป็นต้น

  • กระแดด มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล ขอบชัด ขนาด 0.3-2 เซนติเมตร มักเกิดบริเวณที่ถูกแสงแดด พบได้ในวัยกลางคนถึงสูงอายุ
  • กระตื้น (Frec k les) มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็ก มักเกิดบริเวณผิวที่ถูกแสงแดด พบได้ในคนผิวขาว ตั้งแต่อายุน้อย
  • กระลึก มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเทา ขนาดเล็กที่โหนกแก้ม 2 ข้าง มักพบในคนเอเชีย
  • กระเนื้อ เป็นตุ่มนูน สีน้ำตาล ดำ พบได้บ่อยในคนสูงวัย และผู้ที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง

 

การรักษาฝ้า กระ

ฝ้า

  • ยังไม่มีวิธีการรักษาฝ้าให้หายขาด และฝ้าสามารถกลับมาเป็นช้ำได้อีกหลังหยุดการรักษา สิ่งสำคัญในการรักษาฝ้า คือ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดฝ้า ได้แก่ การหลีก
  • เลี่ยงแสงแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ รวมถึงงดการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมน
  • การรักษาด้วยยาทา ประเภทไวท์เทนนิ่ง ช่วยให้ฝ้าจางลงได้
  • การรับประทานยา ช่วยให้ฝ้าจางลงได้แต่ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
  • การรักษาอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกับยาทา ได้แก่ การผลัดเซลล์ผิว (Chemical peeling) และเลเซอร์

กระ

  • ยาทา สามารถทำให้กระแดดและกระตื้นจางลงได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถรักษากระให้หายได้ 100% กระ จึงควรรักษาด้วยการทำเลเซอร์ เช่น Picosecond Laser , Q- Switched Laser หรือ Carbon dioxide laser ตามแต่ละชนิดของกระ
  • การรักษาอื่นๆ ได้แก่ การผลัดเซลล์ผิว (Chemical peeling)
  • หลังการรักษาควรหลีกเลี่ยงแสงแดดเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ

 

 

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ อธิบายว่า การรักษากระแดดนั้น สามารถรักษาได้ ดังนี้

 

1. การรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่กลุ่มยาทาลดรอยดำ เช่น hydroquinone, tretinoin, adaptable สามารถลดรอยดำได้ รวมถึงการใช้กรดลอกผิว ในความเข้มข้นที่ต่างๆ กันที่มีฤทธิ์ในการลอกผิวหนังชั้นบน พบว่าได้ผลดีในการรักษากระแดดรวมถึงรอยโรคจากแสงแดดชนิดอื่นๆ แต่ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่แนะนำให้ซื้อมาทำเอง

 

2. การรักษาด้วยการใช้ไนโตรเจนเหลว, เลเซอร์เม็ดสีโดยการใช้ไอเย็น และเลเซอร์รักษานั้น อาจจะต้องทำหลายครั้งแต่ละครั้งจะมีแผลที่ตกสะเก็ด ถ้าเลี่ยงแดดและดูแลแผลไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดรอยดำมากขึ้น หรือทำให้เกิดรอยขาวได้

 

"การรักษาส่วนใหญ่จะสามารถทำให้รอยโรคจางลงหรือหายไปได้ชั่วคราวและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ค่อนข้างบ่อย แต่ส่วนใหญ่จะมีสีที่จางลงมากกว่าก่อนการรักษาถ้าได้รับการรักษาและการดูแลแผลหลังการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นก่อนทำการรักษาควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

 

แสงแดดตัวการ \'ฝ้า กระ\' ปกป้องผิว เลือก \'ครีมกันแดด\' อย่างไร ให้เหมาะสม

 

การป้องกันฝ้า กระ

 

1. ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดให้ได้มากที่สุด สวมหมวกหรือกางร่มเพื่อป้องกันแดด เนื่องจากการใช้ครีมกันแดดอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

2. ควรเลือกครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยมีค่า SPF 50+ ขึ้นไป ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสมคือ บีบครีมให้ยาวประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ แต่หากเป็นกันแดด

ชนิดน้ำหรือโลชั่นควรบีบขนาดประมาณ 1-2 เหรียญ 10 บาท

3. หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรทาครีมกันแดดช้ำทุก 2 ชั่วโมง

 

เลือกครีมกันแดดอย่างไรให้เหมาะสม

 

ครีมกันแดด ถือเป็นหนึ่งอาวุธสำคัญ ในการปกป้องผิวจากแสงแดด ขณะเดียวกัน แม้จะทาทุกวัน แต่ก็ต้องทาครีมกันแดดไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะการทาบริเวณใบหน้า ลำคอ และผิวบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุมให้ถูกวิธี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากแสงแดดซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาฝ้า กระแดด จุดด่างดำ หรือมะเร็งผิวหนัง ในภายหลังได้

 

ครีมกันแดดมีกี่ประเภท

 

1. Chemical Sunscreen

  • ปกป้องผิวโดยการดูดซึมรังสียูวีและมีปฏิกิริยาบนผิว มีโอกาสเกิดการแพ้ได้

2. Physical Sunscreen

  • ปกป้องผิวโดยการเคลือบชั้นผิว เมื่อรังสียูวีส่องลงบนผิว รังสียูวีจะสะท้อนกลับออกไป ไม่เกิดปฏิกิริยาที่ผิวโดยตรง ทำให้เกิดโอกาสแพ้ได้น้อยกว่า

 

UV แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

 

  • UVA ทำให้ผิวเกิดผิวแห้งกร้านและริ้วรอยก่อนวัยอันควร
  • UVB เป็นสาเหตุให้ผิวไหม้แดด
  • UVC ไม่สามารถส่องผ่านมาถึงโลกได้

ดังนั้น ควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยดูได้จาก

1. SPF (Sun Protective Factor)

SPF บอกถึงการป้องกัน UVB โดยถ้าเลือกใช้ SPF สูงมากเท่าไรก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกัน UVB มากขึ้น

 

2. การป้องกัน UVA ดูได้จาก 2 สัญลักษณ์ บนผลิตภัณฑ์กันแดด

PA (Protective Grade of UVA)

  • PA+ หมายถึง ปกป้อง UVA ได้ 2 - 4 เท่า
  • PA++ หมายถึง ปกป้อง UVA ด้ 4 - 8 เท่า
  • PA+++ หมายถึง ปกป้อง UVA ได้ 8 - 16 เท่า
  • PA++++ หมายถึง ปกป้อง UVA ได้มากกว่า 16 เท่า

มีสัญลักษณ์ UVA

 

3. Water proof/ Water resistance

ในกรณีเลือกครีมกันแดดชนิดกันน้ำ ควรมีระบุดังนี้

  • Water resistance (40 minutes) หมายถึง กันน้ำได้นาน 40 นาที
  • Very water resistance (80 minutes) หมายถึง กันน้ำได้นาน 80 นาที

 

เลือกครีมกันแดดอย่างไร ให้เหมาะสม

 

1. เลือกใช้ครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB โดยครีมกันแดดที่ดีควรมีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป

2. ควรเลือกครีมกันแดดที่มีสัญลักษณ์ PA +++ หรือ PA ++++ หรือสัญลักษณ์ UVA

3. ในกรณีที่จำเป็นต้องออกกิจกรรมกลางแจ้งหรือมีเหงื่ออกมาก เช่น ว่ายน้ำตี่กอล์ฟ หรือ เทนนิส ควรเลือกใช้ครีมกันแดดชนิดกันน้ำ

 

หลักในการทาครีมกันแดด

1. ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 15-30 นาที

2. ปริมาณครีมกันแดดสำหรับทาหน้าที่เหมาะสม คือ บีบครีมให้ยาวประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ แต่หากเป็นกันแดดชนิดกันน้ำหรือโลชั่นควรบีบประมาณ 1-2 เหรียญสิบ

3. แต้มครีมกันแดด 5 จุดลงบนใบหน้า (หน้าผาก, แก้มทั้ง 2 ข้าง, จมูก และคาง) และเกลี่ยครีมให้ทั่วหน้า

4. ทาครีมกันแดดช้ำ ในกรณีที่มีเหงื่ออกมากและหลังขึ้นจากน้ำทุกครั้ง

5. ควรทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากออกแดดจัด

6. หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วง 10 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เพราะแสงอุลตร้าไวโอเลต ในช่วงนั้นแรง

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะทาครีมกันแดดเป็นประจำ และถูกวิธี แต่ความร้อนจากแสงแดดก็อาจทำให้ครีมกันแดดละลายได้ ดังนั้น เวลาออกแดดแรงๆ เป็นเวลานาน จึงไม่ควรละเลยส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็น เช่น คอ หลัง และหู เพราะการทาครีมกันแดดให้ทั่วถึงมีความสำคัญ นอกจากนี้ ควรใช้อุปกรณ์กันแดดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ร่ม แว่นตากันแดด หมวกปีกกว้าง หรือใส่เสื้อแขนยาว เพื่อช่วยป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตเพิ่มเป็นสองชั้น

 

 

อ้างอิง : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , สถาบันโรคผิวหนัง