เช็กสภาพ 'ผิว' ผื่นแบบไหนเข้าข่าย 'เซ็บเดิร์ม' ดูแลรักษาอย่างไร

เช็กสภาพ 'ผิว' ผื่นแบบไหนเข้าข่าย 'เซ็บเดิร์ม' ดูแลรักษาอย่างไร

หลายคนอาจสับสนอาการของ 'เซ็บเดิร์ม' หรือ โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ 'โรคผิวหนัง' อื่นๆ อาทิ ภูมิแพ้ผิวหนัง สะเก็ดเงิน เกลื้อน แล้วเราจะมีวิธีการสังเกตตัวเองอย่างไร หากเกิดผื่นแดง ลอกเป็นขุย ถึงขั้นไหนที่ควรจะไปพบแพทย์

  • เซ็บเดิร์ม หรือ โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน (Seborrheic Dermatitis) เป็นการอักเสบของผิวหนังเฉพาะบริเวณที่มีน้ำมันเยอะ เช่น ศีรษะ ใบหน้า หน้าอกส่วนบน ตามซอกพับใหญ่ๆ 
  • กลุ่มคนไข้ส่วนใหญ่ที่พบ 3 กลุ่ม ได้แก่ ทารกแรกเกิด วัยผู้ใหญ่ซึ่งอาจเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ ได้มากกว่าเด็ก และกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 
  • การรักษามีทั้งใช้ยาทา ยาทาน และฉายแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาใช้เองเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ 

 

โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน (Seborrheic Dermatitis) หรือ เซ็บเดิร์ม คือ การอักเสบของผิวหนังที่ไม่ได้เกิดจากการแพ้ โดยตัวโรคเป็นการอักเสบของผิวหนังเฉพาะบริเวณที่มีน้ำมันเยอะ เช่น ศีรษะ ใบหน้า หน้าอกส่วนบน ตามซอกพับใหญ่ๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ ก็สามารถเป็นได้แต่เจอได้น้อยลง

 

ลักษณะของรอยโรค จะมีผื่นแดง คนไข้บางคนอาจจะแดงอมชมพู หรือ แดงมาก ลักษณะของผื่นมีขุยค่อนข้างเยอะ ขุยจะมีลักษณะเมือกๆ มันๆ ไม่เหมือนผิวแห้งทั่วไป ในอีกกรณีหากเป็นเยอะจะมีที่ลำตัว คล้ายเกลื้อน แต่ต้องแยกโรคพิเศษทางห้องปฏิบัติการ หรือ เซ็บเดิร์ม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

3 กลุ่มที่เจอได้บ่อย 

 

พญ.นันท์นภัส โปวอนุสรณ์ นายแพทย์ปฏิบัติการ จาก สถาบันโรคผิวหนัง ให้ความรู้ในรายการ รู้ทัน ปัญหาผิว เรื่อง ‘โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน’ (Seborrheic Dermatitis) ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ สถาบันโรคผิวหนัง โดยอธิบายว่า กลุ่มคนไข้ที่มีผื่นเซ็บเดิร์มแบ่งได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ทารกแรกเกิด

จะมีผื่นได้ตั้งแต่หัว หรือทั้งตัว ลามลงมาที่ขาหนีบ ต้นขา ไม่ได้มีแค่ศีรษะอย่างเดียว บางคนจะเป็นขุยบางๆ บางคนเป็นสะเก็ดติดแห้งที่ศีรษะ ไม่ควรใช้มือแงะ เพราะอาจทำให้เป็นแผลได้

 

นอกจากนี้ ยังมีโรคที่แยกจากโรคนี้ได้อีกเช่นกัน อาทิ ภูมิแพ้ผิวหนัง สะเก็ดเงินในเด็กเล็ก ก็ดูคล้ายได้เช่นกัน ดังนั้น 3 โรคนี้ลักษณะคล้ายกัน แนะนำให้พบแพทย์ เพราะการรักษาต่างกัน การดำเนินโรค รวมถึงการสิ้นสุดของโรคก็ต่างกัน

 

"อย่างไรก็ตาม หากเป็นในเด็กเล็กสามารถหายเองได้ ใน 6 -12 เดือน แต่หากเป็นมากแนะนำให้พบแพทย์เพื่อรักษา และ ผื่นในเด็กเล็ก ไม่สัมพันธ์กับผื่นเซ็บเดิร์มตอนโต หมายความว่า เป็นตอนเด็ก ตอนโตอาจจะไม่เป็นก็ได้ เพราะไม่เกี่ยวกัน" 

 

กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ใหญ่

รอยโรคมีผื่นบริเวณที่มีความมันมากๆ ตามร่างกาย เช่น ข้างจมูก เครา บางคนอาจจะเป็นตามหัว หน้าผาก หนังศีรษะ เพราะบริเวณนี้มีการทำงานของต่อมไขมันค่อนข้างเยอะ ทำให้เจอเซ็บเดิร์มได้บ่อย ผื่นในผู้ใหญ่บางครั้งนอกจากผู้ใหญ่ปกติแล้ว ยังเจอในเคสที่มีความผิดปกติทางสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน อัมพฤกษ์ครึ่งซีก พบภาวะผื่นแทรกได้บ่อยกว่าปกติ

 

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

เช่น มีโรคเกี่ยวกับเซลล์เม็ดเลือดขาวบางอย่าง หรือ คนไข้ที่มีการติดเชื้อเอชไอวี จะมีผื่นเซ็บเดิร์มเยอะ แดง อักเสบ และรุนแรงมากกว่าปกติ

 

“ในเด็กเล็กแนะนำว่า ควรจะต้องดูแลเพราะหากรักษาไม่ถูกวิธี จะทำให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราเพิ่ม จะเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่ในกลุ่มผู้ใหญ่ อาจจะเรื้อรังหรือเป็นๆ หายๆ ได้มากกว่าเด็ก และมีโรคร่วมต่างๆ ที่เจอได้บ่อย เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อัมพฤกษ์ พาร์กินสัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทุกคน”

 

เซ็บเดิร์ม เกิดจากอะไร 

 

พญ.นันท์นภัส อธิบายต่อไปว่า ในตำราบอกว่ามีสาเหตุที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้หลายกรณี กรณีแรก คือ การทำงานของต่อมไขมันที่ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีผื่นเยอะ ในบริเวณที่มีการผลิตต่อมไขมันเยอะ ได้แก่ ศีรษะ ใบหน้า หน้าอกส่วนบน แต่ก็มีคนคัดค้านว่า เวลามีต่อมไขมันที่ผลิตเยอะๆ ก็ไม่จำเป็นจะเป็นเซ็บเดิร์มทุกคน เพราะฉะนั้น สมติฐานนึ้จึงไม่สามารถอธิบายได้ทุกเคส แต่ก็เป็นข้อหนึ่งที่เขามองว่าน่าจะเป็นสาเหตุ

 

กรณีที่สอง คือ การเพิ่มขึ้นของตัวเชื้อรา เป็นยีสต์ตัวเล็กๆ ซึ่งทุกคนจะมีเชื้อนี้อยู่แล้ว มีทุกที่ เพียงแต่ว่าเชื้อนี้จะชอบบริเวณมีความมัน ดังนั้น จึงมาอยู่ตรงที่เป็นผื่นเซ็บเดิร์มด้วย ทำให้พบว่า เวลามีเชื้อแล้วคนไข้ได้รับยาชนิดฆ่าเชื้อรา ทำให้ผื่นดีขึ้น

 

"มีการคาดว่าเมื่อมีเชื้อราตัวนี้เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ก็ไม่ 100% เพราะพบว่า จำนวนของเชื้อรา คนทั่วไปบางคนเชื้อเยอะมากเมื่อเทียบกับคนที่เป็นเซ็บเดิร์ม แต่ก็ไม่มีผื่นปรากฏ ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อหนึ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน"

 

กรณีที่สาม ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันไม่ปกติ เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เอชไอวี ขณะเดียวกัน มีการทดลองในเคสที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง หรือมีสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์ที่เกี่ยวกับการอักเสบผิดสัดส่วนไป ก็เกิดเป็นผื่นเซ็บเดิร์มได้ จึงมีการตั้งสมติฐานว่า จะเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ ขณะเดียวกัน คนไข้ที่นอนดึก เครียด เจ็บป่วยไม่สบาย ก็อาจจะเจอเซ็บเดิร์มได้เช่นกัน

 

กรณีที่สี่ ในบางคนที่ต่อมไขมันไม่ได้ทำงานเยอะ ไม่มีเชื้อรามาก ภูมิคุ้มกันทำงานดี แต่ก็ยังเป็นเซ็บเดิร์ม กรณีนี้เรียกว่า มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคเฉพาะบุคคล เป็นโรคเฉพาะตัว

 

“ดังนั้น มีสมมติฐานหลายอย่าง แต่ก็ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าเป็นจากสาเหตุใด 100% เพราะมีหลายสาเหตุแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล การรักษาให้หายขาดจึงยากเพราะมีหลายสาเหตุ หลายปัจจัย”

 

การรักษา

 

พญ.นันท์นภัส อธิบายว่า หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผื่นเซ็บเดิร์ม การรักษา ต้องมุ่งเน้นไปที่ประคับประคองผื่นที่เป็น ไม่สามารถตั้งเป้าหมายว่าจะต้องรักษาให้หายขาดได้ เพราะการรักษาให้หายขาดไม่น่าจะเป็นไปได้ในผู้ใหญ่ ยกเว้นในเด็กที่ไม่รักษาก็สามารถหายได้ แต่หากรักษาผลที่ได้ก็จะออกมาดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อนในเรื่องของการติดเชื้อ

 

โดยในกลุ่มผู้ใหญ่ จะมีการรักษาด้วยยาหลายแบบ ได้แก่

ยาทา 

1) ยาทาเฉพาะที่ซึ่งเป็นสเตียรอยด์อย่างอ่อน หรือ เลือกไม่มีสเตียรอยด์ได้ เป็นยาในกลุ่มต้านการอักเสบเฉพาะที่ แก้ปัญหาที่ตรงจุด โดยต้องให้แพทย์เป็นผู้ประเมิน

2) ยาทาฆ่าเชื้อรา เป็นตัวช่วยในเรื่องของลดอาการอักเสบ

รับประทานยา

ในกรณีที่คนไข้เป็นรุนแรง อาจจะต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่จะเป็นยาฆ่าเชื้อราชนิดทาน หรือในกลุ่มที่รุนแรงมาก อาจจะต้องให้ในกลุ่มวิตามินเอเข้มข้น ลดการเป็นซ้ำน้อยลงหากทานในระยะเวลาประมาณหนึ่ง ซึ่งจ่ายให้ในคนไข้ที่จำเป็น เพราะยาทานจะมีผลข้างเคียงดังนั้น ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

ฉายแสงอาทิตย์เทียม

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยแสงอาทิตย์เทียม ซึ่งเป็นเครื่องมือในโรงพยาบาล ไม่ใช่การตากแดดจริงๆ เพราะในกลุ่มเซ็บเดิร์มหากไปตากแดดอาจเป็นตัวกระตุ้นในบางราย ดังนั้น ไม่แนะนำ เพราะอาจทำให้ผื่นแย่ลงและไม่ได้ผล

 

ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อเป็นเซ็บเดิร์ม

 

พญ.นันท์นภัส  ให้คำแนะนำว่า 1) การดูแลผื่น หลักใหญ่เหมือนผื่นอื่นๆ ทั่วไป ไม่แนะให้ แงะ แกะ เกา บางคนมองว่ามีขุยเล็กน้อยแกะออก แต่ลักษณะของเซ็บเดิร์ม หากไปแกะขุยตอนเช้า ตอนเย็นก็เกิดขุยใหม่ ดังนั้น การแกะไม่เกิดประโยชน์ แต่อาจทำให้เกิดรอยถลอก เพิ่มการระคายเคือง ส่งผลต่อการใช้ยาซึ่งแทนที่จะได้ผลกลับไม่ได้ผลได้

 

2. พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น สารทำความสะอาดที่มีความรุนแรง อาทิ สบู่ที่ล้างความมันเยอะทำให้ระคายเคือง ถัดมา คือ ครีมบำรุงในกลุ่มไวท์เทนนิ่ง กลุ่มวิตามินเอ มีน้ำหอม ทำให้เกิดการระคายเคืองในผื่นที่อักเสบอยู่แล้วให้แย่ลง

 

3. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้แข็งแรง จะช่วยให้ผื่นดีขึ้น และเกิดซ้ำน้อยลง

 

อาการต้องรุนแรงแค่ไหนจึงต้องไปโรงพยาบาล

 

พญ.นันท์นภัส กล่าวว่า บางคนมีผื่นแต่ไม่คัน ไม่แสบ ไม่แดง มีเพียงขุยเล็กๆ อมชมพูที่หัวคิ้ว หากอยู่ได้กับอาการนี้ ส่องกระจกแล้วไม่ได้รู้สึกแย่ ก็สามารถลองปรับพฤติกรรมก่อนได้

 

ถัดมา หากมีอาการ ไม่ว่าจะระคายเคือง แสบ ล้างหน้า ทาครีมที่ไม่เคยแสบแต่กลับแสบ นี่เป็นอาการที่อักเสบถึงระดับหนึ่ง อาจต้องการการรักษา เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้ระคายเคือง ผื่นแพ้สัมผัส

 

และสุดท้าย เป็นในบริเวณกว้าง อาการอาจจะไม่เยอะ แต่เป็นหลายตำแหน่ง ศีรษะ ใบหน้า ลำตัว ต้องได้รับการตรวจเพราะเยอะกว่าคนปกติทั่วไปจะเป็น

 

ซื้อยาทาเองได้หรือไม่

 

หลายคนมีข้อสงสัยว่า สามารถซื้อยาทาเองได้หรือไม่ พญ.นันท์นภัส แนะว่า การซื้อยาทาเองไม่แนะนำ เพราะแม้แต่แพทย์ที่ดูแลคนไข้ ก็ยังหายเร็วหายช้าไม่เท่ากัน บางคนมีการระคายเคือง หรือมีการแพ้ยาโดยไม่คาดคิด

 

"ดังนั้น การซื้อมาทาเองอาจทำให้ใช้ไม่ถูกต้อง เพราะยาเป็นสิ่งที่ต้องการการใช้ค่อนข้างจำกัดและชัดเจน หากใช้ยาผิด จะทำให้การรักษาระยะยาวลำบาก เพราะโรคจะอยู่กับเราเรื่อยๆ หากช่วงแรกสงสัยไม่แน่ใจให้พบแพทย์ก่อน"

 

“การใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หากใช้นานๆ จะทำให้ดื้อยา และหากคนไข้ซื้อยาทาเองสักพักไม่ได้ผลก็อาจซื้อยาที่แรงขึ้น เกิดผลข้างเคียง คือ ผิวหนังฝ่อ มีการติดเชื้อที่ใบหน้าหรือบริเวณที่ทายาง่ายขึ้น ขณะที่ยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ก็อาจมีการระคายเคือง ดังนั้น ยาทุกตัวต้องระวัง”

 

หากเป็นเซ็บเดิร์มแล้ว ไม่ดูแลจะกลายเป็นสะเก็ดเงินหรือไม่

 

"สำหรับผื่นเซ็บเดิร์ม กับ ผื่นสะเก็ดเงิน เป็นคนละโรค แต่ถามว่าผื่นเซ็บเดิร์ม มีความสัมพันธ์กับสะเก็ดเงินหรือไม่ ที่ผ่านมา มีบางงานวิจัย บอกว่า คนไข้ที่เป็นเซ็บเดิร์มมาก่อน มีความสัมพันธ์ที่จะเป็นสะเก็ดเงินได้ในอนาคตประมาณ 10% ที่สามารถพัฒนาหรือเป็นร่วมกับสะเก็ดเงิน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกคน ขณะที่ หากไม่รักษา อาจมีปัญหาทับซ้อนมากกว่า แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อรักษา" พญ.นันท์นภัส กล่าวทิ้งท้าย