เช็กอาการ ฮีทสโตรก - เป็นลม - สโตรก ต่างกันอย่างไร 

เช็กอาการ ฮีทสโตรก - เป็นลม - สโตรก ต่างกันอย่างไร 

ขณะนี้ อากาศที่ร้อนกว่า 40 องศา ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น และเสี่ยงเป็นโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสพบเจอผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยเป็นฮีทสโตรก เป็นลมธรรมดา หรืออาการสโตรกจากหลือดเลือดสมองกันแน่

ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด ถือเป็นภัยร้ายในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่อากาศร้อนจัดกว่า 40 องศา คนที่ทำงานกลางแจ้ง เด็กและผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว ออกกำลังกาย และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอลล์ ควรระมัดระวัง และดูแลตัวเองไม่ให้อุณภูมิร่างกายสูงจนเกินไป เพราะหากเกิดฮีทสโตรกขึ้นแล้ว วินิจฉัยช้าหรือรักษาได้ไม่ทัน ถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

บางครั้งเราอาจจะต้องตกอยู่ในเหตุการณ์ที่เจอผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมหมดสติ ดังนั้น จะมีข้อสงสัยอาการอย่างไรให้รู้ว่าเป็น ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ เป็นลม หรือเกิดอาการ สโตรก (Stroke) โรคหลอดเลือดสมอง กันแน่ 

 

ฮีทสโตรก 

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ในชีวิตประจำวันของเรายากที่จะหลีกเลี่ยงความร้อนที่เกิดขึ้นได้ พอโดนแดดนานๆ อาจเกิดโรคลมแดดขึ้นซึ่งมีที่มาจากความร้อน 2 แหล่ง คือ

1. ความร้อนจากภายนอก เช่น แสงแดด หรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง

2. ความร้อนจากภายใน คือ ความร้อนภายในร่างกาย ที่เกิดจากการเผาผลาญจะทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกาย

 

ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง โดยปรกติอุณหภูมิร่างกายเราจะอยู่ที่ 36-37.5 องศาเซลเซียส แต่พอเจอกับสภาพอากาศร้อนๆ ร่างกายก็จะพยายามหาทางจัดการกับความร้อน ร่ายกายจะปรับตัวมีการสูบฉีดโลหิต และหัวใจเต้นแรงขึ้น เลือดจะไปเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น เส้นเลือดที่ผิวหนังขยายตัว ต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น ทำให้มีเหงื่อออกมากร่างกายก็จะเสียน้ำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

พอร่างกายขาดน้ำมากๆ ร่างกายจะนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญแทน พอถึงจุดหนึ่งเลือดก็จะไปเลี้ยงไม่พอ จากนั้นไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่กรองของเสีย และกำจัดเกลือแร่ ก็จะทำงานหนักของเสียในร่างกายก็คั่งค้าง ทำให้เกลือแร่ในร่างกายผิดปรกติไปจนทำให้เกิดไตวาย

 

อาการฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด

 

คนที่เป็นโรคลมแดดตัวจะแห้ง เนื่องจากเหงื่อออกไปเยอะจนไม่มีจะออกแล้ว และตัวจะร้อนมากอุณหภูมิร่างกายพุ่งสูงมาก ข้อมูลจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า ผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

  • อุณหภูมิร่างกาย (Core Body Temperature) 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า
  • ร่วมกับภาวะความรู้สติเปลี่ยนแปลง
  • โดยอาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย เพ้อ
  • ชักหรือหมดสติได้ ร่วมกับภาวะหัวใจเต้นเร็ว
  • อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผิวหนังแดงและร้อนแต่แห้ง
  • ยกเว้นผู้ป่วย Exertional Heatstroke มีบางรายที่ผิวหนังจะชื้นเล็กน้อยได้

 

การป้องกัน 

 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนานๆ โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ หากจำเป็น ควรสวมหมวก หรือกางร่มบ้างก็ดี
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจน อึดอัด และระบายอากาศได้ดี

 

การดูแลผู้ป่วยโรคลมแดด 

 

  • ย้ายผู้ป่วยเข้าในร่ม และอากาศถ่ายเทได้สะดวก ห้ามคนทั่วไปมามุง
  • ถ้าเสื้อผ้าระบายอากาศไม่ดีให้ปลดเสื้อเล็กน้อย
  • นำผ้าชุบน้ำธรรมดา หรือน้ำเย็นมาเช็ดตัว ตามแขน ขา ข้อพับ ซอกคอ ข้อแขนต่างๆ
  • ถ้ารู้สึกตัวดี ให้ดื่มน้ำได้ แต่ถ้าหากไม่รู้สึกตัว อย่าเพิ่งให้ดื่ม เพราะอาจจะสำลัก และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อได้

 

นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แนะว่า หากพบเห็นผู้เป็นลมแดดให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นน้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

 

เป็นลมธรรมดา 

 

ข้อมูลจาก มูลนิธิหมอชาวบ้าน เผยแพร่ในเว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า เป็นอาการหน้ามืดเป็นลมที่พบบ่อยที่สุด มักเกิดในคนที่ร่างกายและ/หรือจิตใจอ่อนแอ เช่น

  • ไม่สบาย
  • เพิ่งฟื้นไข้
  • อดนอน
  • หิวข้าว
  • หิวน้ำ

แล้วต้องอยู่ในที่ร้อนและอบอ้าวหรือแออัด โดยเฉพาะถ้าเครียด กังวล หงุดหงิด โกรธ หรือกลัว จะเกิดอาการง่ายขึ้น คนที่ออกกำลังในที่ร้อน ก็อาจเป็นลมเพราะร้อนได้

 

อาการมักจะเกิดขึ้นเป็น 2 ระยะ คือ

 

ระยะแรก คนไข้มักจะมีอาการหงุดหงิด กระสับกระส่าย ใจเต้นเร็วขึ้น หรือแรงขึ้น(ใจสั่น) หายใจ แรงขึ้น ถ้าวัดความดันเลือดจะพบว่า ความดันเลือดสูงขึ้น น้ำลายสอ หาวบ่อย เมื่อมีอาการเช่นนี้แล้ว

  • ถ้าคนไข้ได้นั่งพักหรือนอนพักในที่เย็น ๆ
  • ดมยาดมหรือโบกพัดลมให้ชุ่มชื่นขึ้น คนไข้ก็จะเป็นลมและกลับหายเป็นปกติ
  • แต่ถ้าคนไข้ยังอยู่ในสภาพเหมือนเดิม อาการจะเข้าสู่ระยะที่ 2

 

ระยะที่สอง อาการในระยะนี้ อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการในระยะแรกก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการในระยะแรกนำมาก่อน แล้วต่อมาจะรู้สึกหัวเบา

  • ตัวเบาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
  • รู้สึกปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ ขนลุก
  • หน้าซีด มือเท้าเย็นซีด เหงื่อแตก
  • อยากปัสสาวะ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยไหว
  • ตาพร่ามัว
  • สิ่งรอบตัวมืดลงแล้วหมดสติ(ไม่รู้ตัว) 

 

คนไข้มักจะค่อย ๆ ฟุบหรือทรุดลงกับพื้น แต่ในบางครั้ง ถ้าระยะที่สองนี้เกิดขึ้นฉับพลัน คนไข้อาจจะล้มฟาดทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้ และในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถฟุบหรือทรุดลงกับพื้น หรือในกรณีที่เป็นมาก คนไข้อาจมีอาการชักเกร็งจากสมองขาดเลือดได้

 

ถ้าตรวจคนไข้ในระยะที่สองนี้ มักจะพบว่าหัวใจเต้นช้าลง อาจจะเต้นช้ามาก และอาจจะเต้นไม่สม่ำเสมอด้วย ความดันเลือดจะตกมาก จนอาจวัดได้ยาก แต่เมื่อคนไข้ล้มลง หรือทรุดลงจนนอนราบกับพื้นได้แล้ว คนไข้จะฟื้นคืนสติในเวลาไม่กี่นาที (ภายใน 5-10 นาทีเป็นส่วนใหญ่) แต่อาจจะรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ไม่มีแรง และรู้สึกไม่ค่อยสบายอยู่เป็นเวลาอีก 1-2 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นได้

 

การป้องกัน

 

การบำรุงรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้แข็งแรง ไม่เข้าไปอยู่ในที่ร้อน อบอ้าว หรือแออัด ในขณะที่ร่างกายอ่อนแอ จิตใจเครียด กังวล หงุดหงิด หรือไม่สบาย และเมื่อรู้สึกกระสับกระส่าย น้ำลายสอ หาวบ่อย ๆ มึนงง หรืออื่น ๆ รีบนั่งลง โดยเฉพาะท่านั่งหรือฟุบศีรษะ ลงกับเข่าหรือโต๊ะ หรือถ้ามีที่ที่สามารนอนลงได้ให้นอนลงทันที อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าปล่อยจนเป็นลมแล้ว อาการจะดีขึ้นอย่างช้า และจนมีอาการอื่น ๆ หลงเหลืออยู่แม้จะฟื้นสติแล้ว

 

สโตรก (Strok)  

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Strok) ปัจจัยเสี่ยงมีหลายสาเหตุ แบ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้

มักมีสาเหตุจากสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิต

  • ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจึงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนปกติ
  • เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมองจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
  • ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ทำให้กีดขวางการลำเลียงเลือด
  • โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้
  • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว พบว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%
  • ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
  • โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง
  • การขาดการออกกำลังกาย

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้

  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ
  • เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
  • ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ

 

อาการ สโตรก เป็นอย่างไร

 

เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาการแสดงต่างๆ จะมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย เช่น

  • ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าและ/หรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย
  • พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันทีทันใด
  • ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด  
  • เดินเซ ทรงตัวลำบาก

 
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ในรายที่มีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) อาจมีอาการเตือนเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเอง หรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร

 

ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองจัดเป็นอาการร้ายแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหากไม่ถึงชีวิต ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพต่อไป

 

การรักษา 

 

การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน 

 

หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองและรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง

หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เป้าหมายของการรักษาคือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต

 

การป้องกัน

 

การป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด และควรป้องกันก่อนการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ ต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดเกิดการตีบ อุดตัน หรือแตก เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

  • ตรวจเช็กสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ถ้าพบต้องรีบรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • ในกรณีที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ต้องรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์ ห้ามหยุดยาเอง และควรรีบพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการผิดปกติ
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ควบคุมอาหารให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
  • งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ถ้ามีอาการเตือนที่แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ควรรีบมาพบแพทย์ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ

 

ผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันแล้ว แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง แต่การใช้ยาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการติดตามผลและใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากถ้ามีการใช้ยาผิด ประมาทเลินเล่อ หรือไม่มีการติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

อ้างอิง 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , โรงพยาบาลกรุงเทพ  , โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์