หน้าร้อน 7 วิธีปฏิบัติตัว อย่าลืมสังเกตสีปัสสาวะ

หน้าร้อน 7 วิธีปฏิบัติตัว  อย่าลืมสังเกตสีปัสสาวะ

หน้าร้อน อย่าลืมสังเกตสีปัสสาวะ อาจขาดน้ำ แนะ 7 วิธีปฏิบัติตัว อุณหภูมิเกิน 34 องศา ลดกิจกรรมกลางแจ้ง เกิน 37 องศาต้องงดกิจกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2566 สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกประกาศ เรื่อง คำแนะนำดูแลสุขภาพในช่วงที่มีอากาศร้อน โดยระบุว่า ปีนี้ประเทศไทยจะมีอากาศร้อนมากขึ้น โดยคาดว่าอุณหภูมิจะขึ้นสูงถึงเกิน 41 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่จะไปพบปะกันกลางแจ้งในเทศกาลสงกรานต์ และในการทำงานกลางแจ้ง โดยผู้ที่จะได้รับอันตรายมากคือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่รับประทานยาบางชนิด โดยมีข้อเท็จจริง คือ

1. ร่างกายจะรักษาอุณหภูมิกายไว้ที่ 37 องศาเซลเซียสเสมอ แต่เนื่องจากร่างกายมีใช้พลังงานตลอดเวลาทำให้เกิดความร้อนภายใน ถ้าอากาศภายนอกร้อนกว่าก็ถ่ายเทความร้อนออกไปยากขึ้น

2. การถ่ายเทความร้อนจากร่างกายมีหลายวิธี แต่ที่สำคัญคือการหลั่งเหงื่อ แต่ถ้าเหงื่อออกมากเกินไปทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่มาก

 

 

ภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอากาศร้อน มีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โรคที่เกิดจากความร้อนโดยตรง ทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ ซึ่งถ้าไม่แก้ไข โรคที่ร้ายแรงที่สุด คือโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ซึ่งเกิดจากอวัยวะสำคัญในร่างกายล้มเหลวทำให้ถึงแก่กรรมได้

ในทางอ้อม คือ การที่อากาศร้อนทำให้ต้องเพิ่มการลำเลียงเลือดไปที่ผิวหนังเพื่อระบายอากาศ และในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เหมือนที่เคยทำด้วย ทำให้มีการเพิ่มงานของหัวใจและหลอดเลือด

ดังนั้น ในกลุ่มที่มีโรคของหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วจึงไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ ในคนที่รับประทานยาบางชนิดอยู่ก็ทำให้เส้นเลือดไม่ขยายตัว เช่น ยาที่มีฤทธิ์หดเส้นเลือด

 

 

7 วิธีปฏิบัติตัวในหน้าร้อน 

สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ขอให้แนะนำให้ประชาชนเพื่อการปฏิบัติตัวในหน้าร้อนดังนี้

 1. ควรตรวจสอบอุณหภูมิภายนอก โดยถ้าอุณหภูมิภายนอกเกิน 34 องศาเซลเซียสควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง และงดกิจกรรมถ้าเกิน 37 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงเวลา 12.00-14.00 น. 

 2. ไม่สวมใส่เสื้อที่ไม่ระบายความร้อนและเสื้อผ้าที่คับเกินไป

3.ดื่มน้ำบ่อยๆ 

 4. ถ้ามีโรคประจำตัว ในช่วงอากาศร้อน หัวใจและหลอดเลือดจะทำงานมากขึ้น โรคประจำตัวบางอย่างอาจมีอาการมากขึ้น ถ้ารู้สึกผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์ที่ดูแล นอกจากนี้ ยาบางอย่างที่รักษาโรคอาจทำให้การระบายความร้อนไม่ดี และซ้ำเติมอาการได้ 

 5. ถ้ามีอาการเพลีย กระหายน้ำ อ่อนแรง หรือจะเป็นลมให้รีบหลบเข้าที่ร่ม เปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ ดื่มน้ำเย็น หรือใช้ผ้าชุบน้ำถูตัวบริเวณซอกรักแร้ ขาหนีบ 

 6. ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ หรือ ญาติพี่น้องที่มีโรคประจำตัว ในช่วงอากาศร้อน

7. หมั่นสังเกตสีปัสสาวะ ถ้ามีสีเข้มอาจจะเกิดจากการขาดน้ำ ให้รับประทานน้ำ