‘ร้อนตับแตก’ คืออะไร? พร้อมส่อง 5 ประเทศอุณหภูมิเฉลี่ย ‘ร้อน’ ที่สุดในโลก

‘ร้อนตับแตก’ คืออะไร? พร้อมส่อง 5 ประเทศอุณหภูมิเฉลี่ย ‘ร้อน’ ที่สุดในโลก

ชวนส่องที่มาคำว่า "ร้อนตับแตก" ในบริบทของคนไทย พร้อมอัปเดตอุณหภูมิโลกในปี 2023 ร้อนพุ่งติดอันดับ 7 ในรอบร้อยกว่าปี รวมถึงสถานการณ์ "ฮีทเวฟ" ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลอันตรายต่อทุกชีวิตอย่างไรบ้าง?

Key Points: 

  • "ร้อนตับแตก" ในบริบทของคนไทย หมายถึง อากาศที่ร้อนมาก สืบเนื่องมาจากหลังคาบ้านสมัยก่อนทำด้วย ‘ใบจาก’ เรียงติดกันเป็น ‘ตับ’ เมื่อโดนความร้อนจัด จะเกิดเสียงแตกเปรี๊ยะๆ จึงเรียกต่อๆ กันมาว่า ร้อนจนตับ(หลังคา)แตก
  • ฮีทเวฟ (Heat Wave) เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่อากาศมีคลื่นความร้อนสูงมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง อาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหรือกินเวลานานหลายสัปดาห์ก็ได้ ส่งผลให้พืชและสัตว์ทั้งบนบกและในทะเล ล้มตายมากขึ้น
  • ล่าสุดมีรายงานว่า พื้นที่ทั่วโลกในเดือนมกราคม 2023 เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 7 ในรอบ 174 ปี ตามสถิติของ NOAA  แน่นอนว่า ปี 2023 จะเป็น 1 ใน 10 ปี ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

อย่างที่หลายคนเคยทราบข้อมูลมาบ้างแล้วว่า อุณหภูมิโลกของเรานั้นพุ่งสูงขึ้นทุกปี จากรายงานสรุปสถานการณ์ภาวะโลกร้อนในเวทีการประชุม COP26 เมื่อช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา ประเมินไว้ว่า สถานการณ์ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นแน่นอน ตั้งแต่ 1-1.2 องศาฯ เมื่อเทียบกับปีฐานของปี 1850-1900 โดยแผ่นดินมีอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนขึ้นประมาณ 1.59 องศาฯ ส่วนท้องทะเลอุณหภูมิเฉลี่ยร้อนขึ้นประมาณ 0.88 องศาฯ นั่นทำให้ทุกคนทั่วโลกต้องเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

  • เดือน ม.ค. 2023 ร้อนที่สุดติดอันดับ 7 ในรอบ 174 ปี

โดยเฉพาะในปี 2023 นี้ มีรายงานจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ยืนยันว่าโลกของเราร้อนขึ้นมากกว่าเดิม ตามข้อมูลระบุว่า พื้นที่ทั่วโลกในเดือนมกราคม ปี 2023 เป็นเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 7 ในสถิติของ NOAA ในรอบ 174 ปี โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นอยู่ที่ +0.87 °C สูงขึ้นกว่าปี 2000 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น +0.34 °C 

ถือเป็นเดือนมกราคมที่ร้อนติดต่อกันเป็นปีที่ 47 และเป็นเดือนที่ 527 ติดต่อกัน (ณ อุณหภูมิที่ต่ำที่สุดก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20) จากข้อมูล Outlook Global Annual Temperature Outlook ของ NCEI ชี้ชัดว่า แทบเป็นที่แน่นอนว่า (มากกว่า 99.0%) ปี 2023 จะเป็น 1 ใน 10 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นของเดือนมกราคมปีนี้ ได้กินพื้นที่ทั่วทั้งทวีปยุโรป, ดินแดนอาร์กติก, พื้นที่ส่วนใหญ่ของแอฟริกา, ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ, ทุกพื้นที่ทางตอนใต้ของอเมริกาใต้, ทุกพื้นทีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรวมแล้ว อุณหภูมิโลกสูงเป็นประวัติการณ์ครอบคลุม 3.6% ของพื้นผิวโลกในช่วงเวลาดังกล่าว 

‘ร้อนตับแตก’ คืออะไร? พร้อมส่อง 5 ประเทศอุณหภูมิเฉลี่ย ‘ร้อน’ ที่สุดในโลก

 

  • เมื่อโลกร้อนขึ้น ฮีทเวฟก็เกิดบ่อยขึ้น แม้ไทยยังไม่โดนแต่ต้องระวัง!

หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การเกิด "คลื่นความร้อน" หรือ ฮีทเวฟ (Heat Wave) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง อาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหรือกินเวลานานหลายสัปดาห์ก็ได้

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้กำหนดนิยามของ "คลื่นความร้อน" ไว้ว่า เป็นภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

สำหรับ ประเทศไทยไทยยังไม่เคยมีรายงานการเกิดคลื่นความร้อน แต่ภาวะนี้มักเกิดในยุโรปและเอเชีย เช่น จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ และอินเดีย ที่มีความผิดปกติของอุณหภูมิอากาศค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ทำให้พืชและสัตว์ล้มตายและเสี่ยงสูญพันธุ์ 

 

  • อัปเดต! ประเทศไหนร้อนที่สุดในโลก สำรวจโดย Climate Knowledge Portal (2021)

องค์กร The Climate Change Knowledge Portal (CCKP) จาก Worldbank.org สำรวจอุณหภูมิที่สูงที่สุด (อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี) ของประเทศต่างๆ ในโลก พบว่าประเทศที่ร้อนที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 

อันดับ 1 บูร์กินาฟาโซ ทวีปแอฟริกา 30.01 °C

อันดับ 2 มาลี ทวีปแอฟริกา 29.78 °C

อันดับ 3 เซเนกัล ทวีปแอฟริกา 29.63 °C

อันดับ 4 กาตาร์ ทวีปเอเชีย 29.42 °C

อันดับ 5 บาห์เรน ทวีปเอเชีย 29.15 °C

‘ร้อนตับแตก’ คืออะไร? พร้อมส่อง 5 ประเทศอุณหภูมิเฉลี่ย ‘ร้อน’ ที่สุดในโลก

นอกจากนี้ยังมีรายงานบางชิ้นระบุว่า ในปี 2021 เมืองนูไวซีบ คูเวต ทำสถิติอุณหภูมิที่สูงที่สุดในโลก อยู่ที่ 53.2 ℃ และปี 2022 กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ทำลายสถิติร้อนสุดในรอบเกือบ 150 ปี อยู่ที่ 35 ℃ ในขณะที่ไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 27.5 ℃ 

สำนักข่าวเกียวโตรายงานข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า อุณหภูมิในใจกลางกรุงโตเกียว ณ ปี 2022 อยู่ที่ 35.3 ℃ ในช่วงบ่าย ขณะที่จังหวัดโตชิกิในช่วงบ่าย อุณหภูมิอยู่ที่ 36.2 ℃ ส่วนที่เมืองฟูกุชิมะ และอิบารากิ อยู่ที่ 35.6 ℃ ซึ่งอุณหภูมิทั้งหมดนี้ ถือเป็นช่วงที่ร้อนจัดที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกสถิติในปี 1875

ในขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสเปน ออกประกาศเตือนว่า สเปนจะเผชิญคลื่นความร้อนที่มาเร็วขึ้น และบ่อยครั้งขึ้นด้วย และฤดูร้อนในช่วงไม่กี่ปีนี้ยังเริ่มขึ้นเร็วกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนประมาณ 20-40 วัน

เช่นเดียวกับที่อิตาลี หลายเมืองทางภาคเหนือมีการประกาศปันส่วนน้ำโดย "เขตลอมบาร์ดี" อาจประกาศภาวะฉุกเฉินจากภัยแล้งครั้งใหญ่ในประวัติการณ์ ด้านสมาคมเกษตรเผยว่า โคนมให้น้ำนมน้อยลง 10% เพราะอากาศร้อนจนเกิดความเครียด โดยปกติอุณหภูมิที่เหมาะคือ 22-24 ℃ ตอนนี้อากาศร้อนจนโคต้องกินน้ำมากถึงวันละ 140 ลิตร (สองเท่าจากปกติ) 

 

  • น่ากลัวกว่า "ร้อน" คือ "ร้อนชื้น" คนไทยจึงรู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริงในอากาศ

เนื่องจากส่วนสำคัญของอากาศร้อนคือ "ความชื้นในอากาศ" ในหน้าร้อนของประเทศในแถบร้อนชื้นอย่าง ประเทศไทย นั้น หากยิ่งมีความชื้นสูงมากเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกร้อนอบอ้าวมากขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่วัดค่าอุณหภูมิจริงของอากาศก็ไม่ได้สูงมากนัก

ความชื้นจึงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่ออุณหภูมิในร่างกาย (จะรู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริงของอากาศ) โดยเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่ออัตราการถ่ายเทปริมาณความร้อน ระหว่างผิวหนังของร่างกายกับอากาศที่ล้อมรอบ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายก็ยิ่งระบายความร้อนออกได้น้อยลง อุณหภูมิในร่างกายจึงมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นอันตรายได้ ยกตัวอย่างเช่น

‘ร้อนตับแตก’ คืออะไร? พร้อมส่อง 5 ประเทศอุณหภูมิเฉลี่ย ‘ร้อน’ ที่สุดในโลก

- ถ้าอุณหภูมิอากาศ 30 ℃ + ค่าความชื้นสัมพัทธ์ 55% ระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกจริงจะเท่ากับ 32 ℃  ถือเป็นผลกระทบระดับ "แจ้งเตือน" ส่งผลให้ประชาชนมีอาการเหนื่อยล้าจากความร้อนได้

- ถ้าอุณหภูมิอากาศ 38 ℃ + ค่าความชื้นสัมพัทธ์ 45% ระดับความร้อนที่ร่างกายรู้สึกจริงจะเท่ากับ 46 ℃  ถือเป็นผลกระทบระดับ "อันตราย" ส่งผลให้ประชาชนมีอาการเหนื่อยล้า หรือเพลียแดด (ฮีทสโตรก) หรือเป็นตะคริวแดดได้

ดังนั้น ในช่วงหน้าร้อนนี้หากอากาศเมืองไทยร้อนมากขึ้นจนอาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ทุกคนจึงต้องระมัดระวังล่วงหน้า และหมั่นดูแลตัวเองให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวมาก รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพด้านความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะร่างกายไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ ผู้ที่ออกแรงมากในการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นเช่นกัน

*Fun Fact*
ร้อนตับแตก มาจากไหน?

เป็นสำนวนไทย หมายถึง อากาศร้อนมาก มีที่มาจากหลังคาบ้านในสมัยก่อนที่ทำใบจากเรียงติดกันเป็น “ตับ” เมื่อโดนความร้อนจัดจนแตกเกิดเสียงดังเปรี๊ยะๆ ทำให้เรียกต่อๆ กันมาว่า ร้อนจนตับ(หลังคา)แตกนั่นเอง

 ------------------------------------------

อ้างอิง : NCEI.NOAA.gov25 Hottest Countries in the World , ClimateKnowledgePortalดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ดร.นันทวัน สมสุข