อันตรายกว่าที่คิด แพทย์แนะการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤติ "ฝุ่น PM 2.5"

อันตรายกว่าที่คิด แพทย์แนะการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤติ "ฝุ่น PM 2.5"

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ - 5 สมาคมวิชาชีพเวชกรรม แนะการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤติ "ฝุ่น PM 2.5" ย้ำเตือนฝุ่นอันตรายกว่าที่คิด เพราะมีผลต่อการเกิดโรคระบบต่างๆ อีกด้วย

วันที่ 10 มีนาคม 2566 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ 5 สมาคมวิชาชีพเวชกรรม อาทิ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ , สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย , สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ , สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมพิษวิทยาคลินิก ได้ออกคำแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงวิกฤติ "ฝุ่น PM 2.5"

 

 

เป็นที่ทราบ และตระหนักกันดีถึงพิษภัยต่อสุขภาพจาก ฝุ่น PM 2.5 ทั้งผลเฉียบพลัน และผลเรื้อรัง ไม่เฉพาะผลต่อระบบการหายใจที่เป็นช่องทางนําพาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น ฝุ่น PM 2.5 ยังมีผลต่อการเกิดโรคระบบต่างๆ เช่น ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาท หลอดเลือดสมอง และโรคไต

 

ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายได้มากคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (โรคปอด หัวใจ สมอง และไต) ในขณะที่ทุกภาคส่วนกําลังระดมสมองแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทั้งนี้ประชาชนควรดูแลสุขภาพของตัวเองในช่วงที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีปริมาณสูง ดังนี้

 

1. หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐ และเอกชนอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจําวันให้เหมาะสม และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัส สูด PM 2.5 โดยการจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย (safety zone)

 

 

2. เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ

 

ก. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยงควร "งด" ทํากิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลทั่วไปควรลดและปรับเวลาทํากิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

ข. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร "ทุกคนควรงด" ทํากิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นผู้ที่ต้องทําหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้งให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา

 

ค. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร "ทุกคน" ควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบาย และฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นผู้ที่ต้องทําหน้าที่บริการสาธารณะกลางแจ้ง ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจํากัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที

 

3. ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบาย และฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

4. การออกกําลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสเจ็บป่วย แต่ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูงควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกําลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2 หรือออกกําลังกายในร่มที่มีระบบระบาย และฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น

 

6. การอยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้ใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์