ส่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดูแล "หัวใจ" @ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์

ส่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดูแล "หัวใจ" @ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์

อุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบริการสุขภาพที่มากขึ้น เนื่องด้วยประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ กระแสการส่งเสริมสุขภาพรักษาสุขภาพ การพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมทั้งความก้าวหน้าเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และโควิด-19

ตลาดเครื่องมือแพทย์จากทั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าร้อยละ 6.4 ต่อปี ยิ่งพอก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้การรักษาและเครื่องมือการแพทย์ได้รับการพัฒนาผ่านกระบวนการ Digital transformation อย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น Medical Technology หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “MedTech” ที่บุคลากรทางการแพทย์และคนที่สนใจสามารถนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาใช้ต่อยอดอาชีพทางการแพทย์ได้อย่างไม่หยุดยั้ง

อนาคตจะเห็นเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง

ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวัด แปซิฟิกริม ลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือ Digital Health เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์สำคัญ โดยมุ่งเน้นที่การวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ เช่น การรวบรวมฐานข้อมูลผู้ป่วยขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อประโยชน์ในการทำวิจัย, ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการสั่งยาผ่านระบบออนไลน์

ส่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดูแล \"หัวใจ\" @ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์

รวมถึงนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติหรือตรวจจับโรคระยะเริ่มต้น การตรวจสอบสัญญาณชีพจากระยะไกล การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากระยะไกล แอปพลิเคชันในการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการดูแลสุขภาพตนเองได้ในเบื้องต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"รพ.บำรุงราษฎร์" กางแผนปี 65 ชูนวัตกรรมสู่ "การแพทย์แห่งอนาคต"

"หุ่นยนต์ผ่าตัด" ตัวช่วยแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพรักษา

"บำรุงราษฎร์" Shifting the Future Healthcare5.0 ดูแลทุกมิติ ครบวงจร

'โรคยากและซับซ้อน' รักษาหายได้ @'รพ.เมดพาร์ค'

 

เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง เพิ่มการรักษารูปแบบใหม่

ในอนาคต จะเริ่มเห็นเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning ที่ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์สุขภาพในเชิงป้องกันจากการถอดรหัสพันธุกรรม ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์มาก เพราะสามารถคาดการณ์โรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนับวันก็จะมีความแม่นยำมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แพทย์และผู้ป่วยได้วางแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวทางการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงรายละเอียดและข้อมูลที่สำคัญได้อย่างตรงไปตรงมา จากที่ใดก็ได้บนโลกตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจในการรักษามากขึ้น

ส่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดูแล \"หัวใจ\" @ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์

“การทรานส์ฟอร์มทางการแพทย์ในอนาคตจะเกิดขึ้นได้จากการนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมมาใช้อย่างต่อเนื่อง ต้องหมั่นฝึกฝนเพื่อหาแนวทางในการรักษาใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการรักษาดีขึ้นในทุกๆ วัน รวมถึงนำความรู้เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการวิจัยและมีผลลัพธ์ทางคลินิกที่เป็นที่น่าพอใจมาต่อยอดเป็นรูปธรรม มีการนำมาใช้งานได้จริง และนำมาถ่ายทอดส่งต่อให้กับแพทย์ทั้งไทยและแพทย์จากนานาประเทศเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในวงกว้างให้ได้มากที่สุด”

 

เทคโนโลยีการแพทย์ที่ได้รับความนิยม

AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ถูกวางเป้าหมายให้เป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูลและให้ข้อมูลต่าง ๆ ของทั้งผู้ป่วย และข้อมูลทางการรักษาแก่บุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และ AI ยังถูกเอามาใช้เพื่อให้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ในระยะเวลาที่สั้นกว่าเดิมอีกด้วย

Blockchain ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ในแง่ที่เข้ามาช่วยจัดทำระบบการเก็บข้อมูลทางการแพทย์เพื่อสร้างฐานข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนตั้งต้นให้กับ EHRs เทคโนโลยี AI ที่กล่าวไปแล้วในส่วนของการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค การรักษา การเก็บข้อมูลสุขภาพผ่าน smart health device ต่าง ๆ และที่สำคัญก็คือการรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลของผู้ป่วยที่ถูกนำไปอัปโหลดขึ้นบน cloud service ทั้งหลาย

ส่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดูแล \"หัวใจ\" @ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์

3D Printing ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์มาสักพักหนึ่งแล้ว มีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจการพิมพ์ 3 มิติเพื่อการแพทย์จะมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญภายในปี 2025 โดยมีบริษัทที่เป็นผู้นำในเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินี้ คือ Stratasys Ltd., Arcam AB, Organovo Holdings Inc., Johnson & Johnson Services Inc. และ Stryker20

หุ่นยนต์เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์เป็นเวลานานแล้ว แมีมูลค่าทางการตลาดสูง และพร้อมเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากงานวิจัยของ Credence Research พบว่า ในปี 2015 หุ่นยนต์ทางการแพทย์มีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 7,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2023

@สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ยึดหลัก "ผู้ป่วย" เป็นศูนย์กลาง

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) อย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุทำให้ปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย วัยที่สูงมากขึ้นทำให้ร่างกายเสื่อมถอย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานและโรคอ้วน  ซึ่งจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ

โรคเรื้อรังเหล่านี้ ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเหมือนเดิม ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่น ทั้งๆที่ผู้สูงอายุทุกคนย่อมอยากพึ่งพาตัวเองได้และมีความสุขกับการใช้ชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพชีวิตที่ดีอย่างยาวนาน

“สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์” ไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาวิธีการป้องกันและรักษาโรค เพื่อส่งมอบการบริบาลทางการแพทย์ในขั้นตติยภูมิที่ให้ผลลัพธ์และประสบการณ์การรักษาเชิงบวก ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณ 3,500 คนต่อเดือน โดยเป็นผู้ป่วยคนไทยและชาวต่าวชาติในสัดส่วน 50:50

ศ.นพ.กุลวี  กล่าวว่าสถาบันโรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง มีทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพหลากหลายที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน ต้องการการรักษาขั้นสูง โดยจะเน้นความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยและการทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดีที่สุดและมีคุณภาพมากที่สุด

สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ มุ่งหวังที่จะให้การรักษาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างครอบคลุม อาทิ

  • โรคหัวใจขาดเลือด
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ
  • โรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • การคัดกรองและการส่งเสริมสุขภาวะของหัวใจ

โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการซับซ้อน หรือผู้ที่ต้องการการรักษาขั้นสูง โดยมีทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อ อาทิ อายุรแพทย์หัวใจ ศัลยแพทย์ทรวงอก แพทย์กายภาพบำบัด เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพ นักโภชนาการ ที่พร้อมดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ให้คำแนะนำทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการภาวะความเครียด เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่างๆ

ส่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดูแล \"หัวใจ\" @ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์

“แนวทางการรักษายึด ผู้ป่วย’ เป็นศูนย์กลาง เน้นการรักษาเฉพาะรายบุคคลตามสาเหตุและอาการของผู้ป่วย โดยดูแลต่อเนื่องตั้งแต่การวินิจฉัยหาสาเหตุและการวางแผนการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยา เทคนิคการรักษาใหม่ๆ การใช้เครื่องมือกระตุ้น หรือไปจนถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ รวมทั้งมีการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรม เพื่อค้นหาความเสี่ยงก่อนเกิดโรคใน 3 กลุ่ม ได้แก่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดใหญ่โป่งพองและปริแตก และโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการใช้ชีวิตและป้องกันการเกิดโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรรมได้”

นอกจากนี้ บำรุงราษฎร์ยังมีแผนก Cardiac Care Unit (CCU) ที่ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นวิกฤต และผู้ป่วยหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว สามารถกลับมาทำงาน เล่นกีฬา มีครอบครัวและมีบุตรได้ เปรียบเสมือนได้ชีวิตใหม่กลับคืนมาอีกครั้ง  

ปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาล การแพทย์ไทย สู่ระดับโลก

ศ.นพ.กุลวี กล่าวต่อว่าจากการทำงานในประเทศที่ให้ความสำคัญทางการแพทย์ระดับโลก มากกว่า 30 ปี ปัจจัยที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมาย ต้องเริ่มจาก

  • วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร
  • การ recruit ทีมแพทย์ที่ชำนาญการและมีประสบการณ์ บุคลากรทางการแพทย์ที่เก่ง
  • การมีศูนย์ฝึกอบรม ให้แพทย์ได้ฝึกฝน
  • เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย
  • มีผลงานวิจัยที่พิสูจน์ได้
  • มีผลลัพธ์ทางคลินิกที่น่าพึงพอใจ และมีสถิติผลสำเร็จในการรักษาที่ดี
  • และมี partnership ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

โดยทุกปัจจัยจะช่วยสนับสนุนให้สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ คงมาตรฐานอยู่ในระดับ World Class และแตกต่างจากที่อื่นได้ โดยองค์ประกอบที่เป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย

  1. การทำงานร่วมกันของแพทย์ผู้ชำนาญการในหลากหลายสาขา (Many subspecialties)
  2. การทำงานที่สอดประสานกันระหว่างทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ (Team approach is needed)
  3. การทำงานที่ใกล้ชิดแบบไร้รอยต่อระหว่างแพทย์สาขาต่างๆ (Multiorgan involvement)

เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญ หากหัวใจทำงานได้ไม่ดี จะมีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ตามมา ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองหรือมีเส้นเลือดอุดตันบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยการทำงานที่ใกล้ชิดและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

ดึงเทคโนโลยี -วิจัย รักษาผู้ป่วยทัดเทียมมาตรฐานโลก

ขณะนี้ ทางสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลในการศึกษาวิจัยร่วมกัน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบำรุงราษฎร์ที่มุ่งเน้นเรื่อง ‘การวิจัย’ และความมุ่งมั่นที่อยากพัฒนา ‘ศูนย์โรคหัวใจ’ ให้เกิดการดูแลรักษาที่ดีที่สุดให้กับผู้ป่วยในภูมิภาคของเราหรือผู้ป่วยในระดับสากล

โดยต้องการเป็นผู้นำโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศไทยเพื่อให้ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก ซึ่งนำโมเดลของสถาบันวิจัยที่สหรัฐอเมริกา มาสร้างที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แต่ได้มีการพัฒนามากขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์คือ พยายามให้เป็นผู้นำในการให้บริการสุขภาพระดับสากลของการรักษาโรคหัวใจผิดปกติเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วยทั่วโลก และมาจากทางไหนก็ได้ แล้วก็โรคใดก็ได้ที่เกี่ยวกับหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งที่ใดบนโลกทำได้ สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์จะทำได้และทำให้ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน "ศ.นพ.กุลวี " ได้รับมอบหมายจากบำรุงราษฎร์ให้ทำวิจัยเพื่อที่จะหาแนวทางการรักษาใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีขึ้น และรักษาได้ดีกว่าที่ผ่านมา และหวังว่าจะเป็น ‘ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์’ ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติ รวมถึงทุกปัญหาของโรคหัวใจได้อย่างครอบคลุม และต้องพิสูจน์ได้จริง และอีกประการคือบำรุงราษฎร์ลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์สูงมาก คือ บางอย่างก็ไม่อาจจะได้ผลตอบแทนอะไรกลับมา    

ค้นพบวิธีการรักษาใหม่ๆ เพื่อช่วยผู้ป่วย

ในปัจจุบัน "ศ.นพ.กุลวี" เชื่อว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกับบำรุงราษฎร์ ในส่วนของการค้นพบวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่เราได้นำมาใช้แล้ว แล้วก็มีหลายประเทศให้ความสนใจเรื่องที่เราทำและมาขอดูงานของจริงที่บำรุงราษฎร์ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเรามีงานวิจัยหลายอย่างที่บำรุงราษฎร์ แล้วก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาใช้ ซึ่งการที่จะพิสูจน์ว่างานวิจัยใช้ได้ผลจริงหรือไม่ จะต้องนำมาปฏิบัติจริงด้วย

สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์แห่งนี้ ได้นำมาปฏิบัติทุกวันและหมั่นฝึกฝนเพื่อให้เกิดแนวทางการรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุด โดยมีงบประมาณสำหรับการทำวิจัยอย่างจริงจัง

ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่ใหลตาย แล้วเราก็เจอว่ามีความผิดปกติอย่างไร เรามีวิธีการรักษาอย่างไร ด้วยการจี้พังผืดบริเวณพื้นผิวของหัวใจห้องข้างล่างข้างขวา ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีไม่เงินรักษา ซึ่งบำรุงราษฎร์ก็ช่วยรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเพื่อเป็นงานวิจัยควบคู่กันไปด้วย โดยก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะวินิจฉัยพบความผิดปกติในส่วนนั้น ทำให้ไม่รู้ว่าผิดปกติจากส่วนไหน ซึ่งพบได้ในงานวิจัยนี้ ซึ่งเป็นผลงานจากเมืองไทย และเป็นคนแรกของโลกที่เราทำการรักษาด้วยการจี้แล้วเป็นผลสำเร็จ ทำให้มีผู้คนสนใจและขอเข้ามาดูผลงานที่บำรุงราษฎร์     

นอกจากนั้น โรคหัวใจบางกลุ่มบางชนิด อาจมีความเชื่อมโยงกับพันธุกรรม แต่บางโรคบางภาวะ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) ซึ่งกรรมพันธุ์ในปัจจุบันนี้เริ่ม advance ขึ้น มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น ปัจจุบันทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ได้ร่วมกันทำ Whole Genome Sequencing เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรมนำมาใช้ในการวิเคราะห์ DNA (สารพันธุกรรม) หาความเสี่ยงในการเกิดโรค และก็มีผลงานตีพิมพ์ขึ้นมา

ทิศทางสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ ปี 2566

ศ.นพ.กุลวี กล่าวด้วยว่าในปี 2566 สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์  ยังคงเดินหน้ามุ่งคัดสรรทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ และการพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ เพื่อก่อให้เกิดแนวทางการรักษาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างดีที่สุดโดยการส่งมอบการดูแลรักษาที่มีคุณภาพดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไปจนตลอดอายุขัย

ด้วยความมุ่งมั่นของ "ศ.นพ.กุลวี" และ "สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์" ที่มีร่วมกัน คือการที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาในระดับโลกตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี มาถ่ายทอดองค์ความรู้เทคนิคการรักษาใหม่ๆ และนำมายกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์

รวมถึงแบ่งปันความรู้และเทคนิคการรักษาให้แก่ศูนย์โรคหัวใจ ให้แก่นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ทั้งจากในประเทศไทยและทั่วโลก โดยใช้ ‘สถาบันโรคหัวใจ’ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้จัดฝึกอบรมให้แก่แพทย์ด้านโรคหัวใจ เพื่อช่วยยกระดับวงการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และอยากเห็นผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น