"หุ่นยนต์ผ่าตัด" ตัวช่วยแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพรักษา

"หุ่นยนต์ผ่าตัด" ตัวช่วยแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพรักษา

ปัจจุบัน "หุ่นยนต์ผ่าตัด" ได้รับความนิยมในด้านการแพทย์ เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้แม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้น และหลายโรงพยาบาลในประเทศไทย นำมาใช้ในการรักษา ผ่าตัด ผู้ป่วย

ปัจจุบัน เรียกว่ามีนวัตกรรมและ "เทคโนโลยีทางการแพทย์" ที่ถูกพัฒนามากขึ้น เพื่อเข้ามาเป็นตัวช่วยแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย หนึ่งในนั้น คือ หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด นับเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นตัวช่วยแพทย์ในการผ่าตัดในบริเวณที่ชับซ้อนและเข้าถึงได้ยาก เจ็บตัวน้อยลง ลดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน

 

ทั้งนี้ ในประเทศไทยเอง ได้มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดในหลายโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น “รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” ซึ่งมีการนำแขนกลหุ่นยนต์ที่เรียกว่า “ดาวินชี” (robotic-assisted da Vinci surgery) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาให้บริการรักษาโรค มะเร็งต่อมลูกหมาก เพิ่มโอกาสการกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติให้กับผู้ป่วย

 

ทั้งนี้ การใช้ "หุ่นยนต์ผ่าตัด" ยังคงต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยการใช้ “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” ถือเป็นวิธีการรักษาที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก “การผ่าตัดด้วยกล้อง” โดยศัลยแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยให้การผ่าตัดสะดวกยิ่งขึ้นและลดผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ป่วยให้น้อยลง

 

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่นำ “แขนกลช่วยผ่าตัด” (Robotic Surgery) เข้ามาเป็นตัวช่วยในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเช่นกัน “ผศ.นพ.อภิรักษ์ สันติงามกุล” หัวหน้าหน่วยศัลยกรรมระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลในเว็บไซต์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยระบุว่า การสอดเครื่องมือเข้าไปผ่าตัดในร่างกายของผู้ป่วยโดยไม่ต้องเปิดปากแผลกว้าง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยบอบช้ำน้อย มีโอกาสฟื้นตัวเร็วกลับบ้านได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery)

และหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีระบบภาพ 3 มิติที่มีความละเอียดสูงและมีกำลังขยายภาพอย่างน้อย 5 เท่า (3D High Definition : 3D HD) จากเดิมที่การผ่าตัดโดยใช้กล้องสามารถให้เพียงภาพ 2 มิติเท่านั้น ในขณะที่ “แขนกล” ก็ถูกพัฒนาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ใกล้เคียงกับ “ข้อมือมนุษย์” ที่สามารถพลิกหรือหักงอได้อย่างอิสระตามการควบคุมของศัลยแพทย์ เปรียบเสมือนมือของศัลยแพทย์ที่สามารถสอดเข้าไปทำการผ่าตัดรักษาได้ในบริเวณที่อยู่ลึกหรือที่แคบซึ่งยากต่อการเข้าถึงกว่าการผ่าตัดแบบปกติ

 

ขณะเดียวกัน “ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดบำรุงราษฎร์ รพ.บำรุงราษฎร์” ได้มีการใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ช่วยให้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น ให้บริการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยอย่างครอบคลุมหลายระบบอวัยวะ ตัวอย่างโรคในแต่ระบบที่เหมาะสมในการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก , โรคระบบตับ น้ำดี ตับอ่อน เช่น มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี

 

โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต , โรคทางนรีเวช เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน , โรคทางระบบหายใจและทรวงอก เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผนังทรวงอก และ การผ่าตัดทั่วไป เช่น การผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน การผ่าตัดไส้เลื่อน ม้าม เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต

“หุ่นยนต์ดาวินซี” (da Vinci) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญ ที่เข้ามาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยหลายระบบอวัยวะ ใช้ผ่าตัดโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urology) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงช่วยผ่าตัดโรคทางนรีเวช ศัลยกรรมระบบช่องท้อง และศัลยกรรมระบบทั่วไป แขนกลหุ่นยนต์หมุนได้ 7 ทิศทาง ผ่าตัดอวัยวะที่ซับซ้อนได้ดี เทคนิคการฝาตัดแบบแผลเล็กเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery-MIS)

 

ศ.คลินิก นพ.อนุศักดิ์ เยี่ยงพฤกษาวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดบำรุงราษฎร์ เผยว่า การผ่าตัดหุ่นยนต์ดาวินชี ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่ปี 2000 ที่สหรัฐ การผ่าตัดหุ่นยนต์ดาวินชี แพร่หลายไปทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐ และ ยุโรป เฉพาะในสหรัฐมีหุ่นยนต์ดาวินชี ประมาณ 3,000 กว่าเครื่องในเกือบทุก รพ. ขณะที่ ในยุโรปก็มีแนวโน้มเดียวกัน และในเอเชีย มีหุ่นยนต์ดาวินชี ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนที่เรียกว่ากำลังแพร่หลาย ขณะเดียวกัน ในอินเดีย มีบทบาทมากขึ้น

 

สิ่งที่ทำให้ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ดาวินชี ได้รับการยอมรับและเชื่อถือ เหตุผลแรก คือ การผ่าตัดมีแผลเล็ก ทำให้คนไข้เจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น ผลข้างเคียงลดลง นอกจากนี้ สำหรับศัลยแพทย์ ถือเป็นตัวช่วยในการผ่าตัดเพราะอุปกรณ์ที่ดีไซน์ ทำให้มีลักษณะคล้ายมือมนุษย์สามารถหมุนได้ 360 องศา ทำให้การทำหัตถการได้ง่ายขึ้น และจุดเด่นคือ ภาพที่ศัลยแพทย์เห็น คมชัด ขยายได้ และ เป็น 3 มิติ ต่างจากการผ่าตัดผ่านกล้อง ภาพที่เป็น 3 มิติสำคัญ เพราะทำให้กะความลึกได้

 

“หุ่นยนต์มีอุปกรณ์ มีข้อ สามารถเห็นภาพได้ชัด ทำให้สามารถผ่าตัดในอวัยวะที่อยู่ในที่แคบๆ และลึก เช่น ต่อมลูกหมาก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ ปลอดภัย นี่คือสิ่งที่เรียกว่าทำให้หุ่นยนต์ได้รับความนิยมมาก นอกจากนี้ ยังสามารถเสริมคุณภาพการผ่าตัดศัลยแพทย์ได้อีกด้วย เช่น ตัดความมือสั่นแพทย์ เพราะมือของหุ่นยนต์นิ่ง เป็นสิ่งจำเป็นในการผ่าตัดเพราะต้องการความละเอียด”

 

ทั้งนี้ ดาวินชี สามารถใช้ได้กับอวัยวะเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะใน ช่องปาก ช่องคอ ช่องท้องเกือบทุกอวัยวะ ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร กระเพราะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ถุงน้ำดี หรือ ทรวงอก เช่น โรคทางปอด ไปจนถึง ระบบปัสสาวะ เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ ยังใช้กับการศัลยกรรมทั่วไป เช่น ไส้เลื่อน โดยเฉพาะไส้เลื่อนหน้าท้องที่ซับซ้อนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็นผ่าตัดเปิด แต่เมื่อนำหุ่นยนต์มาใช้ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว

 

นอกจากความพร้อมของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดบริเวณระบบทางเดินอาหารและตับแล้ว รพ.บำรุงราษฎร์ ยังมีการนำ “แขนกลหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม” ช่วยผ่าตัดโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมช่วยให้วางตำแหน่งข้อเทียมแม่นยำ ลดภาวะแทรกซ้อนจากการวางข้อเทียมผิดตำแหน่ง ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว แผลผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เตินได้โดยใช้อุปกรณ์ช่วยประคอง ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด

 

 และ “หุ่นยนต์นำวิถีช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังคด” ช่วยกำหนดพิกัดใส่สกรูให้แม่นยำ ปลอดภัย แม้ผู้ป่วยจะมีกายวิภาคที่ท้าทาย ใช้รักษาโรคทางกระดูกสันหลังที่ต้องผังยึดสกรู เช่น โรคกระดูกสันหลังคด โรคกระดูกสันหลังเสื่อม โรคกระดูกสันหลังแดกหักจากอุบัติเหตุ การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง การปลูกถ่ายกระดูกสันหลัง เนื้องอกและอื่น ๆ แผลเล็ก เสียเลือดน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็วหลังผ่าตัด

 

\"หุ่นยนต์ผ่าตัด\" ตัวช่วยแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพรักษา

 

อ้างอิง : รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย , ศูนย์หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดบำรุงราษฎร์