ข้อควรรู้ก่อน “การจัดฟันแบบใส” เพื่อความปลอดภัย

ข้อควรรู้ก่อน “การจัดฟันแบบใส” เพื่อความปลอดภัย

“การจัดฟันแบบใส” เป็นการเคลื่อนฟันทีละน้อย สัปดาห์ละ 0.2 มิลลิเมตร ต้องมีการตรวจติดตามประเมินผลจากทันตแพทย์เป็นระยะๆ รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟันต่อเนื่องหลังจากรักษาเสร็จ  ผู้บริโภคจึงต้องมีความรู้ก่อนที่จะตัดสินใจ “จัดฟัน ” เพื่อความปลอดภัย

ปัจจุบันการจัดฟันที่ไม่มีลวดหรือเหล็กติดฟันเหมือนแต่ก่อนด้วยการ “การจัดฟันแบบใส” เป็นที่นิยมและแพร่หลาย มีการใช้เทคโนโลยีการสแกนฟันในช่องปาก การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบการรักษาและติดตามการรักษา 

ช่วงที่ผ่านมามีประชาชนสอบถามทางทันตแพทยสภา เกี่ยวกับข้อควรรู้ก่อนจะจัดฟันแบบใสจำนวนมาก  เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จัดฟันใสมีรูปแบบวิธีการในการดูแลผู้ป่วยที่หลากหลาย ผู้บริโภคจึงต้องมีองค์ความรู้ก่อนที่จะตัดสินใจจัดฟัน

หลักๆที่ผู้บริโภคสอบถามจะเน้นหนักไปในทางความมั่นใจในการเลือกใช้บริการ เช่น

"จะสามารถเลือกรับบริการจัดฟันใสกับบริษัทต่างๆโดยตรงได้หรือไม่"  

"ไปสแกนฟันกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท หรือสั่งซื้อชุดพิมพ์ฟันมาทำเองจะมีความปลอดภัยหรือไม่ถ้าเกิดผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบไว้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากไม่มีทันตแพทย์ดูแลรักษาตลอดขั้นตอนการรักษา"

รวมทั้งประชาชนอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้วไม่ได้ผลการรักษาตามที่ตกลงกันไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รวมเรื่องต้องรู้ที่คน “จัดฟัน” ควรอ่าน!

“หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่” ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

กรมการแพทย์เตือนจัดฟันแฟชั่นไม่มีประโยชน์-อันตรายถึงชีวิต

เตือนจัดฟันแฟชั่น เสี่ยงติดเชื้อ อันตรายถึงชีวิต

จัดฟันแฟชั่นในคลินิกเถื่อน เสี่ยงติดเชื้อ อันตรายถึงชีวิต

 

การจัดฟันแบบใสทำอย่างไร 

การจัดฟันแบบใสเป็นการเคลื่อนฟันทีละน้อย สัปดาห์ละ 0.2 มิลลิเมตร ต้องอาศัยความแนบของผลิตภัณฑ์จัดฟันใสกับฟันในแต่ละชุด ต้องมีการตรวจติดตามประเมินผลจากทันตแพทย์เป็นระยะๆ รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟันต่อเนื่องหลังจากรักษาเสร็จ

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ทันตแพทยสภา กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ได้จัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือจัดฟัน จนได้ข้อตกลงร่วมกันในการจัดการให้บริการจัดฟันใสเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค 

ข้อควรรู้ก่อน “การจัดฟันแบบใส” เพื่อความปลอดภัย

ผศ.ทพ.ตร.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภาวาระ 10  กล่าวว่าทันตแพทยสภามีหน้าที่ส่วนหนึ่งในให้ความรู้และคำแนะนำด้านสุขภาพช่องปากที่ถูกต้องแก่ประชาชน  ซึ่งแนวทางการให้บริการจัดฟันใส จำเป็นต้องมีทันตแพทย์รับผิดชอบในการรักษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการทางทันตกรรม

 

5 ควรรู้ก่อนจัดฟันแบบใส 

1. การแก้ไขปัญหาฟันซ้อนเก การสบฟันการจัดฟันใสเป็นการรักษาทางทันตกรรมที่ต้องมีทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมให้การดูแลตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การแสกนฟัน การให้ข้อมูลแผนการรักษาและข้อจำกัดภาวะแทรกซ้อนของการรักษาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ทันตแพทย์จะต้องติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆจนสิ้นสุดการรักษา รวมทั้งการใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการรักษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการทางทันตกรรม

2. การสแกนฟันในช่องปาก ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม จะต้องดำเนินการโดยทันตแพทย์และทำในสถานพยาบาล คลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

3. ปัจจุบันการผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์จัดฟันใสซึ่งจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ต้องดำเนินการจดทะเบียนสถานที่ผลิตหรือนำเข้า และต้องจดแจ้งหรือแจ้งรายการละเอียดผลิตภัณฑ์จัดฟันใสก่อนการผลิตหรือนำเข้า ส่วนในการโฆษณาหรือการขายในช่องทางออนไลน์ต้องได้รับใบอนุญาตโฆษณาก่อน ทั้งนี้บริษัทฯต้องระมัดระวังในการทำโฆษณาผลิตภัณฑ์จัดฟันใสให้เป็นไปตามระเบียบการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอย่างเคร่งครัด

4. ทันตแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องพึงระมัดระวังในการโฆษณาจัดฟันใสให้เป็นไปตามข้อบังคับจรรยาบรรณการโฆษณาของทันตแพทยสภา ละข้อปฏิบัติการโฆษณาสถานพยาบาลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

5. ประชาชนที่ไปรับบริการจัดฟันใส ควรจะศึกษาข้อมูล ข้อดีข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์จัดฟันใสของแต่ละบริษัท และเมื่อเข้ารับการรักษา ให้ตรวจสอบว่าเป็นทันตแพทย์ท่านใดเป็นผู้ดูแลรักษา โดยที่ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลจากทันตแพทย์ในเรื่องค่าใช้จ่าย แผนการรักษา ข้อจำกัดของการเคลื่อนฟัน ผลดีและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงระยะเวลาการรักษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจที่จะรับการรักษา

ข้อควรรู้ก่อน “การจัดฟันแบบใส” เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ มีบริษัทผู้ผลิต นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จัดฟันใสร่วมหารือด้วยทั้งหมด 13 บริษัท ภายใต้ยี่ห้อ ดังต่อไปนี้ 1. Invisalign 2. Zenyum 3. SELFIE 4. Beforedent 5. ClearCorrect 6. Dr.CLEAR Aligner 7. จัดฟันใสMOOV

8. Reveal 9. ICHARM 10.Crystal Smile 11.Kase Aligner 12.3D Ortho Aligner 13.Smile TRU และ แลปทันตกรรม 1 บริษัท ได้แก่ Patina Dent Lab 

รู้จักเครื่องมือจัดฟันแบบใส

หลักการทำงาน ของเครื่องมือจัดฟันแบบใสทุกยี่ห้อก็คือ “ใช้การเปลี่ยนรูปร่างทีละน้อย” โดยแผ่นพลาสติกใสด้านที่สัมผัสกับฟันจะค่อยๆ ส่งแรง เพื่อเคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่กำหนดไว้ จากนั้นจึงเปลี่ยนเครื่องมือชิ้นใหม่ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ซึ่งต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของทันตแพทย์วินิจฉัย วางแผนการรักษา จนฟันเคลื่อนไปสู่ตำแหน่งที่ต้องการในที่สุด

ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่เครื่องมือจัดฟันแบบใส วันละไม่ต่ำกว่าวันละ 20-22 ชั่วโมง เปลี่ยนชิ้นใหม่ประมาณทุก 2 สัปดาห์ ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ 

ว่ากันว่าการรักษาในต่างประเทศ เมื่อได้รับแบบจำลองฟันดิจิตอลของผู้ป่วยแล้ว จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จำลองการเคลื่อนฟันแบบสามมิติ (3D) จากนั้นส่งแบบจำลองการเคลื่อนฟัน กลับมาให้ทันตแพทย์พิจารณาหากเห็นชอบ จะแจ้งให้โรงงานผลิตเป็นเครื่องมือต่อไป

ซึ่งข้อมูลการเคลื่อนฟันในแต่ละขั้นตอน จะถูกนำไปผลิตชุดเครื่องมือจัดฟันแบบใส จากนั้นจึงส่งกลับมาให้ผู้ป่วยใส่ โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้ดูแลและคอยให้คำแนะนำ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สร้างแบบจำลองการเคลื่อนฟัน ทำให้ได้ชุดเครื่องมือที่จำลองการเคลื่อนฟัน จนถึงตำแหน่งที่ต้องการ 

อายุที่เหมาะสมในการ“จัดฟัน” 

สำหรับอายุที่เหมาะแก่การจัดฟันมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 14-15 ปี ขึ้นไป เนื่องจากฟันแท้ขึ้นครบแล้ว รวมถึงขากรรไกรมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้วเช่นกัน แต่ทั้งนี้สำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี ก็สามารถเข้ารับการจัดฟันได้ แต่ต้องเป็นกรณีที่มีปัญหาฟันหน้ายื่นมากกว่าปกติ หรือมีปัญหาฟันที่ไม่สบกัน สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ได้ทันที

 “ฟัน” แบบไหนที่ควร “จัดฟัน”

ทั้งนี้คนที่จัดฟันไม่ว่าจะเป็นช่วงจัดเริ่มแรก หรือจัดมาเป็นระยะเวลานาน จะต้องปฏิบัติตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดฟัน โดยผู้ที่ควรจะต้องจัดฟัน จะมีลักษณะต่อไปนี้

- ฟันบนยื่นเป็นลักษณะของฟันบนที่คร่อมฟันล่าง แต่ยื่นออกมามากเกินไป ส่งผลให้ปากอูม โดยในรายที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลกระทบลุกลามไปยังอวัยวะอื่น จนรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

- ฟันล่างยื่นหรือ “ภาวะคางยื่น” เป็นลักษณะที่ฟันล่างคร่อมฟันบน ส่งผลให้รูปหน้าแลดูยาวผิดรูป การสบของฟันผิดปกติ และกระทบต่อการเคี้ยวอาหาร

- ฟันสบเปิดเป็นลักษณะของขากรรไกรที่ผิดปกติ เมื่อขบฟัน ฟันหน้าอ้าออก ทำให้การกัดอาหารทำได้ไม่ดี บางรายอาจพูดได้ไม่ชัด

- ฟันกัดคร่อมเกิดจากฟันบนและฟันล่างมีความเหลื่อมกัน หรือไขว้กัน ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ฟันหน้ากัดอาหารได้ดีเท่าที่ควร บางรายอาจมีลักษณะของขากรรไกรที่ผิดปกติร่วมด้วย การออกเสียงพูดทำได้ไม่ค่อยชัด

- ฟันห่างอาจเกิดได้จากฟันขึ้นไม่เต็มหรือฟันหลุด มีช่องว่างระหว่างฟันมากกว่า 0.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด และมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหงือกอักเสบ ฟันผุ รวมถึงคราบหินปูน

- ฟันกัดเบี้ยวเกิดจากขากรรไกรเอียงไปด้านใดด้านหนี่งมากกว่าปกติ ทำให้จุดศูนย์กลางของฟันล่างและฟันบนไม่ตรงกัน เป็นปัญหาต่อการบดเคี้ยวอาหาร รวมถึงรูปทรงของใบหน้าเบี้ยว

- ฟันซ้อนเกิดจากในช่องปากยังมีฟันน้ำนมอยู่แต่มีฟันแท้ขึ้นมาซ้อน ส่งผลให้ฟันเกทับกัน จึงต้องถอนฟันที่เกินออก แล้วจัดฟันให้เรียงชิดกัน 

ซึ่งการจัดฟันแบบไหนที่เหมาะสมควรให้ “ทันตแพทย์” เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและทำการรักษาให้เป็นไปตามหลักวิชาการทางทันตกรรม