"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

คนไทยที่ด้อยโอกาสส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงการรักษาฟันผุ และ เหงือกอักเสบ โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ของ กัลฟ์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดขึ้นเพื่อช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปาก

ปัญหา สุขภาพช่องปาก เป็นปัญหาที่สำคัญของคนไทย โดยโรคส่วนใหญ่ ได้แก่ ฟันผุ และ เหงือกอักเสบ ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในเด็กอายุ 3 ปี 52.9% และ เด็กอายุ 5 ปี 75.6% มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุ ส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี 52.0% มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ

 

\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

 

ขณะเดียวกัน กลุ่มวัยทำงานอายุ 35 - 44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย 51.0% และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา 43.3% สำหรับผู้สูงอายุ มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ เพียง 56.1% ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพช่องปากหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจส่งผลต่อร่างกายได้ เช่น การติดเชื้อในช่องปาก ทำให้เกิดอาการบวมเป็นหนอง หากโชคไม่ดีเชื้ออาจลุกลามไปที่หัวใจทำให้เกิดปัญหาได้

การเข้าถึงบริการทันตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดี แต่ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงบริการทันตกรรมของคนไทยยังต่ำกว่า 10% โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาส ในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ทันตแพทย์ไม่เพียงพอ ส่งผลให้การเข้าถึงบริการทันตกรรมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพช่องปากจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับการดูแลด้านสุขภาพช่องปากอย่างเท่าเทียม

 

 

ทันตกรรมเคลื่อนที่ เพิ่มการเข้าถึง

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อยอด “โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่” ปีที่ 2 ให้บริการตรวจและรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในช่องปากเบื้องต้น อาทิ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ เอ็กซเรย์ รวมไปถึงทันตกรรมที่ซับซ้อนอย่างผ่าฟันคุด

\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

ทั้งนี้ โครงการในปีที่ผ่านมา กัลฟ์ ได้มีการบริจาคเครื่องดูดน้ำลายความแรงสูง High Power Suction จำนวน 10 เครื่อง ให้กับทาง คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้การออกหน่วยเคลื่อนที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 และในปี 2565 นี้ มีการขยายบริการไปยังพื้นที่ เขตบางขุนเทียน หนองจอก และลาดกระบัง รวมกว่า 150-200 คน/วัน ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

สำหรับใน “เขตหนองจอก” หนึ่งในพื้นที่ดำเนินโครงการ นับเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 200,000 คน “ทพญ.พัณณ์ชิตา เหรียญรักวงศ์” ทันตแพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุขลำผักชี เขตหนองจอก กทม. อธิบายว่า ในเขตหนองจอก มีสถานบริการของรัฐที่ให้บริการ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ และ ศูนย์บริการสาธารณสุขลำผักชี


\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

 

ขณะที่การทำฟันต้องใช้เวลาเพราะเป็นการทำหัตถการ ยกตัวอย่าง ศูนย์บริการสาธารณสุขลำผักชี มีทันตแพทย์ 2 คน ดังนั้น ในช่วงเช้าจึงต้องให้บริการในส่วนของการรักษา รับคนไข้ได้ราว 10 คน และตอนบ่ายเป็นงานเฉพาะทาง เช่น ผ่าฟันคุด ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการค่อนข้างจำกัด

 

“การที่ กัลฟ์ และ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทันตแพทย์อาสา 15 คน ได้ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ โดยเลือกจัดบริเวณ “ชุมชนเคหะฉลองกรุง” ในครั้งนี้ นับเป็นการตอบโจทย์ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา ทั้งนี้ โรคในช่องปากส่วนใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้ ดังนั้น การส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพให้ครบวงจรจึงเป็นสิ่งสำคัญ”

 

\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

 

ด้าน “พล.ท.หญิง พันธุ์ทิพย์ รักษาเสรี” ทันตแพทย์อาสา กล่าวว่า ปัญหาที่พบมากในคนไข้สำหรับการออกหน่วยครั้งนี้ คือ โรคปริทันต์การอักเสบของเหงือก เนื่องจากคนไข้ส่วนใหญ่ที่มาเป็นผู้สูงอายุ อาจดูแลสุขภาพฟันไม่ดี ทำให้เกิดหินปูนเกาะหนาและฟันโยก หากไม่ได้ดูแลหรือแปรงฟันไม่ดี จะส่งผลให้เหงือกร่น และฟันผุได้

 

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำความสะอาดฟัน อย่างน้อยขูดหินปูนปีละครั้ง ระหว่างขูดหินปูน แพทย์จะดูว่าตรงไหนจะต้องทำอะไรเพิ่ม และหลังอาหารเย็นต้องแปรงฟันให้สะอาดที่สุด เลี่ยงขนมกรุบกรอบ ของหวาน ทั้งนี้ ส่วนตัวซึ่งเกษียณมาแล้วมากกว่า 10 ปี และได้มีโอกาสทำงานลงชุมชนมาโดยตลอด รู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมโครงการในครั้งนี้ ได้มีส่วนช่วยประชาชนให้เข้าถึงการรักษา”

 

\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

 

“ทวีศักดิ์ คงน้อย” วัย 58 ปี ประชาชนในพื้นที่เขตหนองจอก ซึ่งได้ลงทะเบียนทำฟัน “โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่” เล่าว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนไปทำฟันที่ร้านทันตกรรมทั่วไป ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน การรับบริการที่โรงพยาบาลค่อนข้างคิวยาว ดังนั้น เมื่อได้ทราบข่าวโครงการฯ จาก อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จึงลงทะเบียนเข้าร่วม เพราะมองว่าสะดวก ไม่ต้องรอคิว หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ทำให้สามารถเข้าถึงบริการได้มากกว่า

 

“ได้มาทำฟันในวันนี้ รู้สึกดีใจมาก เพราะเราไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อน ถือว่าตอบโจทย์ประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางภาครัฐ อุดหนุนในส่วนของฟันปลอมให้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากเป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง บางคนรายได้น้อย และคนส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าถึงยาก” ทวีศักดิ์ กล่าว

 

\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

 

 

สิทธิประโยชน์ทันตกรรม

สิทธิบัตรทอง

1. การถอนฟัน

2. การอุดฟัน

3. ขูดหินปูน

4. ฟันปลอมฐานพลาสติก ทั้งแบบซี่ถอดได้และแบบทั้งปากถอดได้

5. รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม (รากฟันน้ำนม)

6. ใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

7. ผ่าฟันคุด (ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์)

8. เคลือบหลุมร่องฟัน (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)

9. การทาฟลูออไรด์วาร์นิช (เด็กอายุ 9 เดือน- 5 ขวบ)

10. การเคลือบฟลูออไรด์ (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)

11. โรคปริทันต์อักเสบ (ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์)

12. การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก

13. จัดฟันในผู้มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ (ตามดุลยพินิจของทันตแพทย์)

 

\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

 

สิทธิประกันสังคม ม.33 / ม.39

- ถอนฟัน อุดฟัน ขุดหินปูน และผ่าฟันคุด ไม่เกิน 900 บาท/ปี ไม่ต้องสำรองจ่าย

- ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน

  • จำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
  • จำนวนมากกว่า 5 ซี่ เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน1,500 บาท

- กรณีใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก

  • ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท (ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม)
  • ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท (ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม)

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์

 

\"หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่\" ช่วยคนไทยกลุ่มเปราะบางดูแลสุขภาพช่องปาก

 

สิทธิข้าราชการ

  • การอุดฟัน การถอนฟัน การผ่าฟันคุด
  • การผ่าตัดอื่นๆ เกี่ยวกับช่องปากและขากรรไกร
  • การรักษาโรคปริทันต์ การรักษารากฟัน การแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติ
  • การเคลือบฟลูโอไรด์ทั้งปาก
  • การใส่เฝือกฟัน
  • การฟอกสีฟันที่ตายแล้ว
  • การใส่เครื่องมือปิดช่องเพดานโหว่
  • การใส่ฟันเทียมพลาสติกถอดได้ และครอบฟัน
  • เบิกได้ตามอัตราไม่เกินกว่าที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้

ทั้งนี้ นำใบเสร็จจากสถานพยาบาลของรัฐไปเบิกจากหน่วยงานต้นสังกัดภายใน 1 ปี นับจากวันที่ระบุในใบเสร็จ หรือใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลด้วยใช้บัตรประชาชน เฉพาะกรณีผู้ป่วยนอก ส่วนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีที่ยังไม่มีบัตรประชาชนใช้สูติบัตรและบัตรประชาชนผู้ดูแล