รู้เท่าทันป่วย"เบาหวาน" กิน "คีโต" และ IF ได้หรือไม่

รู้เท่าทันป่วย"เบาหวาน" กิน "คีโต" และ IF ได้หรือไม่

ประเทศไทย มีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กว่า 3 แสนรายต่อปี ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี การป้องกันเบาหวาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นแล้ว เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร กิน "คีโต" และ IF ได้หรือไม่ ทำอย่างไรที่จะลดโอกาสเสี่ยงอื่นๆ

องค์การอนามัยโลก (WHO) และ สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน ซึ่งทุกกลุ่มวัยควรจะต้องดูแลป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ

 

ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั่วโลกแล้ว 537 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคเบาหวาน มีส่วนทำให้เสียชีวิต สูงถึง 6.7 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 ราย ในทุกๆ 5 วินาที โดยประเด็น วันเบาหวานโลก ปี 2565 คือ Education to protect tomorrow มุ่งเน้นการให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ไม่ใช่แค่เฉพาะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ แต่รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลด้วย

 

ไทย ป่วยเบาหวานเพิ่ม 3 แสนคนต่อปี

 

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข พบว่า อุบัติการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ในระบบทะเบียน 3.3 ล้านคน ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 16,388 คน (อัตราตาย 25.1 ต่อประชากรแสนคน)

 

ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้โรคเบาหวานยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ในกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรัง ฯลฯ

 

 

รู้เท่าทันป่วย\"เบาหวาน\" กิน \"คีโต\" และ IF ได้หรือไม่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

จากรายงาน ปี 2565 ในระบบ Health Data Center โดย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 มีข้อมูลผู้สูงอายุในระบบ จำนวน 9,527,054 คน พบว่า ผู้สูงอายุได้รับการประเมินและคัดกรองสุขภาพ จำนวน 7,501,688 คน หรือร้อยละ 78.74 ซึ่งปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

  • อันดับ 1 คือ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 46.06
  • รองลงมา คือ โรคเบาหวาน ร้อยละ 21.12
  • โรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 2.43

 

เบาหวาน คืออะไร

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า “โรคเบาหวาน” เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่พอ และเกิดจากร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายต้องการอินซูลินมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือจากสภาพแวดล้อม เช่น ความอ้วน ความชรา ขาดการออกกำลังกาย โรคหรือยาบางกลุ่ม เป็นต้น

 

"จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถป้องกันและควบคุม รวมทั้งไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี"

 

9 สัญญาณเตือน เบาหวาน

 

นพ.โองการ สาระสมบัติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เบาหวานเป็นภัยเงียบที่มาแบบไม่รู้ตัว เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ดังนั้นในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน อาทิ ผู้ที่มีภาวะอ้วน มีญาติหรือคนในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน แม้ยังไม่มีอาการก็ควรตรวจคัดกรองเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นหนักและเกิดผลข้างเคียงที่ยากจะรักษาได้

 

 

นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการของเราว่ามีความผิดปกติที่เข้าข่าย อาการของโรคเบาหวานหรือไม่ 9 สัญญาณเตือนโรคเบาหวาน ได้แก่

  • กระหายน้ำบ่อยกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือปัสสาวะปริมาณมากกว่าปกติ
  • หิวบ่อย กินอาหารมากกว่าเดิม
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • มีแผลแล้วแผลหายช้ากว่าปกติ
  • ชา ปวดแสบ ปวดร้อน หรือรู้สึกเหมือนมีมดไต่ที่ปลายมือปลายเท้า
  • ผิวหนังแห้ง คัน เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรรีบมาตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทางทันที

 

ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อเป็นผู้ป่วยเบาหวาน

 

คำแนะนำจาก กรมอนามัย ระบุว่า ควรควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะปกติ

  • กินอาหารให้ตรงเวลา ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยาเบาหวานโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45 – 60 กรัมต่อมื้อ คิดเป็นข้าวสวยไม่เกิน 3 – 4 ทัพพี เท่านั้น
  • ไม่กินจุบจิบ เลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกาย ดูดซึมน้ำตาลช้าลง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ
  • ควรเลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานจัดในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว ฝรั่ง ส่วนนมจืดนั้นไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำพร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน ซึ่งลดเฉพาะปริมาณไขมัน แต่มีน้ำตาลเหมือนเดิม สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูงจึงไม่ควรดื่มทุกวัน

ทั้งนี้ ผู้เป็นโรคเบาหวานควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยกินอาหารควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ลดความเครียดหรือวิตกกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่จะไปขัดขวางการทำงานของอินซูลิน และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับวัย เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ

 

การรักษา โรคเบาหวาน 

 

“ผศ.พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์” อายุรแพทย์ โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม กล่าวภายในงาน วันเบาหวานโลก 2565 การให้ความรู้โรคเบาหวานเพื่ออนาคต จัดโดย ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม รพ.จุฬาลงกรณ์ โดยอธิบายว่า การรักษาเบาหวาน อันดับแรก คือ “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ถัดมา คือ “การใช้ยา” ซึ่งปัจจุบัน ยาเบาหวานพัฒนาขึ้นมาเยอะ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีให้หลัง มียาเบาหวานกลุ่มใหม่มากมาย ทั้งยากิน และยาฉีดที่ไม่ใช่อินซูลิน และฮอร์โมนอินซูลิน ที่มีความหลากหลายและซับซ้อน มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม เบาหวาน ยังนำมาสู่อาการแทรกซ้อนต่างๆ เนื่องจากเบาหวานเป็นระดับน้ำตาลที่อยู่ในเลือด อวัยวะที่จะโดนกระทบคือตามเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดใหญ่ที่เลี้ยงหัวใจ สมอง หากเส้นเลือดมีปัญหา จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือด หรือ เส้นเลือดสมองตามมา และเส้นเลือดเล็กๆ ที่ไปอวัยวะ ตา ไต เท้า อย่างที่คุ้นเคยกัน คือ เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต เบาหวานที่เท้าอาจจะเป็นแผล เป็นต้น

 

ไม่ฉีด "อินซูลิน" ได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ “อินซูลิน” หลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าอาการการเบาหวานแย่ หรือฉีดแล้วกังวลว่าจะต้องล้างไตหรือไม่ ผศ.พญ.พัชญา อธิบายว่า ความจริงแล้ว อินซูลิน เป็นการรักษาที่ปลอดภัยมาก ขนาดที่ใช้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำถามคือ เมื่อไหร่ที่ตัดสินใจใช้ ผู้ป่วยมักจะเป็นเบาหวานที่ดำเนินมาระยะหนึ่ง และตับอ่อนเริ่มเสื่อมไปตามกาลเวลา ร่างกายเริ่มผลิตอินซูลินไม่พอ ใช้ยากระตุ้นแล้วตับอ่อนสู้ไม่ไหว ต้องเริ่มอินซูลินเพื่อเสริมสิ่งที่ร่างกายขาด ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเริ่มอินซูลินแล้วต้องหยุดยากิน เพราะใช้ยากินร่วมกับอินซูลินเสริมด้วยกันได้ เป็นการรักษาเสริมกันไปในแต่ละด้านเพื่อให้น้ำตาลลดลงได้ดี

 

"เบาหวาน" จะสงบได้อย่างไร

 

จากข้อคำถามที่ว่า เราสามารถหายจากเบาหวานได้หรือไม่ ผศ.พญ.พัชญา อธิบายว่า เบาหวานสงบ การศึกษามีหลักฐานอยู่ โดยลักษณะของคนไข้ที่เกิดเบาหวานสงบได้ คือ หนึ่งต้องเป็นเบาหวานมาไม่นาน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 ปี ร่างกายยังไม่ได้เสื่อมถอยมาก ตับอ่อนไม่เสื่อมถอยมาก และลดน้ำหนักอาจทำให้สงบได้

 

“อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักและทำให้เบาหวานสงบไม่ได้แปลว่าหายขาด หากน้ำหนักกลับขึ้นมาใหม่เบาหวานก็กลับมาใหม่ มันสงบชั่วคราวและกลับมาใหม่ได้ ส่วนในรายที่เป็นเบาหวานจากความเสื่อม มากกว่า 5-10 ปี ตับอ่อนไม่ไหว การลดน้ำหนักเยอะๆ ก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้เบาหวานสงบ”

 

อาหารคีโต กับ เบาหวาน

 

การทาน อาหารคีโต (Ketogenic Diet) เป็นรูปแบบการรับประทานอาหารแบบหนึ่ง มีหลักฐานที่พอจะช่วยควบคุมเบาหวานและน้ำหนักตัวได้ แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน อย่างแรกแพทย์จะดูก่อนว่ามีข้อห้ามทำหรือไม่ เช่น หากเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่แนะนำ และ หากเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ขณที่ คนไข้โรคตับ ไต มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนอย่าเพิ่งเริ่มทำเอง บางรายอาจจะส่งพบนักโภชนการ เพื่อให้ทานคีโตอย่างปลอดภัย ดังนั้น ต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่กินคีโตและน้ำหนักลง แต่ไขมันในเลือดสูงซึ่งอันตรายมาก “ช่อผกา ศิริวรรณสุนทร” ฝ่ายโภชนวิทยาและโภชนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า การกินคีโตให้ปลอดภัยนั้น หากแพทย์อนุญาตแล้ว รูปแบบของการกินคีโตซึ่งเน้นอาหารไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตน้อย การเลือกไขมันควรเป็นไขมันดี เช่น ถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันไม่อิ่มตัว แต่ในปัจจุบัน มีบางคนที่ยังเลือกประเภทไขมันไม่ดี กินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เบคอน น้ำมันหมู อาหารฟาสต์ฟู้ด ส่งผลให้ไขมันในเลือดสูง

 

ขณะเดียวกัน หากไม่ได้กินคีโต จะมีวิธีการลดน้ำหนักอย่างไร แนะนำง่ายๆ คือ

1.การคุมอาหาร จะคุมอย่างไรให้ยั่งยืน

2. บางคนมีข้อจำกัดในรูปแบบอาหาร อาจจะใช้วิธีลดพลังงานอาหารจากเดิมที่เคยทาน

3. พอลดพลังงานในอาหาร สักพักน้ำหนักตัวจะลง สิ่งสำคัญ คือ การเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ออกกำลังกายให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ยั่งยืนมากขึ้น

 

การทำ IF ช่วยลดเบาหวานได้หรือไม่

 

"ช่อผกา" อธิบายต่อไปว่า สำหรับการทำ IF (Intermittent Fasting) กับการลดเบาหวาน เวลาที่รับประทานอาหาร มีความสัมพันธ์กับเบาหวานได้ ทั้งสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และ ต่ำได้ เช่น บางครั้งอดอาหาร มีการข้ามมื้ออาหารบ่อย มื้อถัดมา อาจจะทำให้กินเยอะกว่าเดิม หรือ มีมื้อดึกมากขึ้นบ่อยๆ โอกาสน้ำตาลในเลือดสูงก็มี หรือ การอดอาหารนาน มีโอกาสทำให้เกิดน้ำตาลต่ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ฉีดอินซูลิน การทำ IF มีทั้งข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของบุคคล หรือ หากต้องการจะทำ อาจจะต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์และนักกำหนดอาหาร

 

“สำหรับในเรื่องของอาหาร สิ่งสำคัญ คือ ความพอดี สมดุลในการรับประทานอาหาร เลือกรับประทานอย่างถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุข กินที่อยากกิน แต่ต้องทราบว่าปริมาณที่กินสามารถกินได้มากน้อยแค่ไหน จะสามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตได้”

 

อินซูลิน พกไปฉีดนอกบ้านได้หรือไม่

 

สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเดินทาง ทำให้ขาดการฉีดอินซูลินเพราะเข้าใจว่าต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งหรือตู้เย็น แต่ความจริงแล้ว ปัจจุบัน ยาฉีดส่วนใหญ่จะเป็นปากกา สามารถเก็บยาไว้ในอุปกรณ์การฉีด ในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องใส่กระติกน้ำแข็ง พกพาได้ ระยะเวลาการเก็บ 28 วัน แต่ต้องพยายามเลี่ยงการวางในที่แสงแดดส่องถึงโดยตรง เช่น เก็บไว้ในรถที่จอดในลานจอดรถ

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่พบบ่อย คือ ผู้ป่วยที่ต้องตรวจเลือดที่ รพ. ซึ่งต้องงดน้ำงดอาหารมาล่วงหน้า หลายคนฉีดอินซูลินมาจากบ้าน และต้องรอการตรวจเลือดเวลานานไม่สามารถทานอาหารได้ ทำให้เกิดเป็นลม

 

ดังนั้น คำแนะนำจาก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม รพ.จุฬาลงกรณ์ สำหรับคนที่ต้องฉีดอินซูลิน โดยเฉพาะก่อนอาหารมื้อเช้า ที่ต้องงดน้ำ งดอาหาร ก่อนมาเจาะเลือด อยากให้นำยาฉีดมาฉีดที่ รพ. หลังจากที่เจาะเลือดเรียบร้อยแล้ว ขอให้เจาะเลือดให้เรียบร้อย ค่อยหาสถานที่เหมาะสมฉีด เพื่อป้องกันน้ำตาลต่ำ

 

เบาหวานป้องกันได้

 

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำว่า สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี พบแพทย์สม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ที่รักษา ห้ามปรับยาเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นตรวจเท้าด้วยตัวเอง หากเป็นแผลควรรีบไปพบแพทย์ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกัน เบาหวาน สามารถป้องกันได้ ดังนี้

1.เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม

2.ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

3.ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

4.ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

5.ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพทุกปี

 

รู้เท่าทันป่วย\"เบาหวาน\" กิน \"คีโต\" และ IF ได้หรือไม่