คุยเรื่อง "เบาหวาน" กับ "หมอปิแอร์" เลือกทานอย่างไรให้ไกลโรค

คุยเรื่อง "เบาหวาน" กับ "หมอปิแอร์" เลือกทานอย่างไรให้ไกลโรค

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs นับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย และหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs ที่พบบ่อย คือ "เบาหวาน" ซึ่งส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน กลับพบในผู้ที่อายุน้อยลง รวมถึงในเด็กที่เป็นโรคอ้วนอีกด้วย

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุจากติดเชื้อหรือจากเชื้อโรค ไม่มีการติดต่อผ่านการสัมผัสคลุกคลี หรือผ่านตัวนำโรค ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรม การใช้ชีวิตแบบไม่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาพบว่า ในกลุ่มโรค NCDs คนไทยป่วยเป็นความดันโลหิตสูง และ เบาหวาน เพิ่มขึ้น 

 

โดยเฉพาะการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ระหว่างปี 2556 - 2560 คนไทยกินหวาน เพิ่มขึ้น จาก 11.2% เป็น 14.2% โดยเพศหญิงกินหวานมากกว่าเพศชาย โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอายุ 6 - 14 ปี 

 

และกินเค็มจาก 13% เพิ่มขึ้นเป็น 13.8% โดยเพศชาย กินเค็มกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่อายุ 25-59 ปี ขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังพบว่า คนไทยทุกกลุ่ม กินผักและผลไม้ลดลง จาก 54.5% ลดลงเหลือ 41.1%

 

"เบาหวาน" โรค NCDs อันดับต้นๆ

 

"หมอปิแอร์ - นพ.สิระ กอไพศาล" สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้เกี่ยวกับ "โรคเบาหวาน" กับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า  เทรนด์ในช่วงหลัง พบว่า พฤติกรรมการทานอาหารทำให้เป็นคนเป็น "โรคอ้วน" เพิ่มมากขึ้น พอเป็นโรคอ้วนส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานตามมา

 

"จากที่ตรวจคนไข้ ส่วนใหญ่พบโรคเบาหวานกว่า 70-80% สาเหตุหลักๆ คือ การใช้ชีวิต ปล่อยให้น้ำหนักขึ้นเยอะ รวมถึงอาหารการกิน เพราะปกติคนเรามีกลไกในการควบคุมน้ำตาลไม่ให้สูง แต่เมื่อไหร่ที่ปล่อยให้น้ำหนักตัวเยอะ จะทำให้กลไกพังไป กลายเป็นน้ำตาลสูง และเป็นโรคเบาหวาน เรียกว่าเป็นอันดับต้นๆ ของ NCDs ซึ่งมักจะพ่วงมาด้วยไขมัน ความดัน"  

 

คุยเรื่อง \"เบาหวาน\" กับ \"หมอปิแอร์\" เลือกทานอย่างไรให้ไกลโรค

 

พบ ป่วยเบาหวาน อายุน้อยลง 

 

สำหรับอายุของคนไข้ที่ตรวจพบเบาหวาน หมอปิแอร์ อธิบายว่า เบาหวานแบ่งเป็น 2 ประเภท ส่วนใหญ่ที่คนไทยเป็น คือ เบาหวานประเภทที่ 2 ในคนไข้อายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่แนวโน้มในช่วงหลังประมาณ 5-10 ปีที่ผ่านมา พบกลุ่มที่เป็นเบาหวานอายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะอาหาร ไลฟ์สไตล์ ที่เปลี่ยนไป เวลาว่างอยู่หน้าจอแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน มากขึ้น กิจกรรมเปลี่ยน อาหารเปลี่ยน ทำให้พบกลุ่มโรค NCDs ในคนอายุน้อยลง ราวๆ 20 ปี อีกทั้ง เด็กที่เป็น "โรคอ้วน" ก็สามารถตรวจพบเบาหวานได้เช่นกัน 

 

"กรรมพันธุ์" มีส่วน แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง

 

ขณะเดียวกัน กรรมพันธุ์ ก็มีส่วนแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ยกตัวอย่าง หากเราจุดไฟ กรรมพันธุ์ เปรียบเหมือนฟืนอันหนึ่ง และนอกจากนี้ หากมีโรคอ้วน กินอาหารไม่ดี ไม่ออกกำลังกาย ก็เหมือนฟืนที่เยอะขึ้น ไฟก็จุดได้ง่ายขึ้น ดังนั้น กรรมพันธุ์ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เป็นปัจจัยสำคัญ

 

"หากพ่อแม่ พี่น้องเป็นเบาหวาน ก็มีโอกาสที่เราจะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากขึ้น แต่หากมีความเสี่ยง แต่ออกกำลังกายดี คุมน้ำหนัก กินอาหารดี โรคก็ไม่เป็น"  

 

การรักษาเบาหวาน 

 

สำหรับการรักษา ผู้ป่วยเบาหวาน เบื้องต้น คือ ปรับไลฟ์สไตล์ เป็นสิ่งที่แพทย์ทุกคนจะแนะนำ และมีการศึกษายืนยันว่า บางครั้งปรับไลฟ์สไตล์ ลดน้ำหนัก ก็สามารถไม่ต้องกินยาได้เลย แต่ส่วนใหญ่ปรับไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องจบด้วยการกินยา และหากกินเยอะขึ้นเรื่อยๆ และคุมไม่ได้ก็ต้องจบด้วยการฉีดยา 

 

"ณ ปัจจุบัน เบาหวานยังรักษาไม่หาย แต่ควบคุมได้ แม้จะมีนวัตกรรมอย่างเครื่องให้อินซูลินตลอด 24 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่ทำให้หายจากเบาหวานได้ ดังนั้น อันดับแรก คือ การปรับไลฟ์สไตล์ กินให้ดี ออกกำลังกายให้ดี เป็นสิ่งสำคัญที่สุด" 

 

 

"ขณะเดียวกัน มีอีกหนึ่งวิธี คือ การเปลี่ยนถ่ายตับอ่อน แต่ภาวะแทรกซ้อนเยอะ และน้อยคนมากที่จะได้ทำ อีกทั้ง หลังผ่าตัดต้องกินยากดภูมิตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ"

 

กินอาหารอย่างไรให้ไกลโรค

 

หมอปิแอร์ แนะนำว่า สูตรสำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่เป็นโรค คือ กินอย่างไรก็ได้ ให้ไม่อ้วน แคลอรี่สำคัญ หากกินมากกว่าใช้ ไม่ออกกำลังกาย นั่งทั้งวัน สุดท้ายก็เหลืออยู่ในร่างกาย  ถัดมา คือ กินให้ครบ 5 หมู่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน อย่าปล่อยให้อ้วนและน้ำหนักตัวเยอะ กลับไปสู่ความรู้พื้นฐาน เป็นสิ่งที่สามารถทำให้ร่างกายสุขภาพดีได้ โดยไม่ต้องพึ่งอย่างอื่น 

 

เบาหวาน คุมอาหารอย่างไร

 

การควบคุมอาหาร สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จาก กรมอนามัย อธิบายว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเลือกกินอาหารที่เหมาะสมในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยาเบาหวานโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45–60 กรัมต่อมื้อ คิดเป็นข้าวสวยไม่เกิน 3–4 ทัพพี เท่านั้น ในขณะที่อาหารตามสั่งทั่วไปอาจให้ข้าวมากกว่า 4 ทัพพี ซึ่งมีน้ำตาลมากกว่าที่ยาจะควบคุมได้

 

จึงควรเลือกเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลช้าลง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมปริมาณเช่นเดียวกับข้าวขาว จึงไม่ควรกินธัญพืชเพิ่มจากข้าว เช่น ข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม ควรเลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานจัด ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว ฝรั่ง

 

ส่วนนมจืดนั้นไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำพร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน ซึ่งลดเฉพาะปริมาณไขมันแต่มีน้ำตาลเหมือนเดิม สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูง จึงไม่ควรกินทุกวัน

 

 

อ้างอิง : กรมอนามัย , กรมควบคุมโรค