เช็กคนข้างๆ เข้าข่ายไหม "PTSD" ความเครียดหลัง "เสพข่าวร้าย" เหตุการณ์รุนแรง

เช็กคนข้างๆ เข้าข่ายไหม "PTSD" ความเครียดหลัง "เสพข่าวร้าย" เหตุการณ์รุนแรง

เราอาจเคยได้ยินพล็อตภาพยนตร์ว่าด้วยทหารที่กลับมาจากสงคราม ตัวละครที่ต้องประสบกับปัญหาทางจิตใจจากการสูญเสียคนรัก และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD แต่ใครจะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้กลับใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด หลังจากเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

อุบัติเหตุ, ภัยธรรมชาติ, กราดยิง และอีกสารพัดเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักที่เกิดขึ้นในหลายเดือนที่ผ่านมา ทำเอาบางคนหดหู่ เสียใจ จนถึงขนาดไม่อยากพูดคุยและสุงสิงกับใคร

ในช่วงชีวิตของพวกเรา อาจต้องโชคร้ายเผชิญกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจอย่างร้ายแรง เช่น การประสบอุบัติเหตุร้ายแรงทางรถยนต์ การเสียชีวิตอย่างกระทันหันของคนที่คุณรัก หรือการถูกทำร้ายร่างกาย ยิ่งเฉพาะกับเหตุการณ์  “กราดยิงหนองบัวลำภู” ที่เกิดขึ้น  ซึ่งมีผู้ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรง และต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป รวมไปถึง "เสพข่าวร้าย" มากๆจนเกิดความหดหู่ จนมีผู้เชี่ยวชาญต้องแนะนำว่า ควรระวัง โรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า เรียกว่า PTSD หรือ Post-traumatic stress disorder

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

เช็กคนข้างๆ เข้าข่ายไหม \"PTSD\" ความเครียดหลัง \"เสพข่าวร้าย\" เหตุการณ์รุนแรง

  • โรค PTSD คืออะไร

PTSD หรือ Post-traumatic stress disorder คือ โรคเครียดภายหลังเผชิญ "เหตุการณ์สะเทือนขวัญ” เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือเผชิญเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่มีความเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งความเครียดเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยมากมักแสดงอาการในช่วงเดือนแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นหลังจากนั้นหลายเดือนไปจนถึงปี  

 

  • อาการของโรค PTSD คุณเข้าข่ายหรือไม่?

อาการของ PTSD อาจแตกต่างกันในแต่ละคน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกเหมือนเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำ เช่น มีอาการฝันร้าย ฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ
  • อารมณ์หรือการคิดเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ เช่น รู้สึกห่างเหิน ไม่ยินดียินร้าย ไม่สามารถรู้สึกด้านบวกได้
  • ตื่นตัวมากเกินปกติ เช่น นอนไม่หลับ กลัวหรือตกใจ ง่ายกว่าปกติ

  • พยายามหลีกเลี่ยงกับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น ไม่ไปในสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ พยายามไม่พูดถึง

  • นอกจากนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า การติดแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ได้แก่ ความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสีย (Grief reaction) เกิดจากการสูญเสียคนรักหรือทรัพย์สิน หมดหวัง ท้อแท้ รู้สึกไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ใดๆ ได้ ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย (Depression and suicide)

ผู้ป่วยบางคนอาจถึงขั้นเสียศูนย์ การหวนคิดถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ อาจเกิดต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในสัปดาห์แรก หรือเริ่มเกิดภายหลัง โดยอาจมีอาการแสดงหลายอย่าง ได้แก่ อารมณ์ไม่สดชื่นร่าเริง เบื่อหน่าย ท้อแท้ ขาดความสุข เป็นต้น

อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้อาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแย่ลงได้เมื่อประสบกับสถานการณ์บางอย่างหรือมีสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้ผู้ป่วยนึกถึงเหตุการณ์หรือความเจ็บปวดที่กระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป เช่น กลิ่น เสียง ความรู้สึก หรือคำพูด นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจจะถูกกระตุ้นด้วยวันสำคัญ เช่น วันครบรอบที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น

 

  • วิธีการรักษาโรค PTSD เบื้องต้น

ในเบื้องต้น ผู้ป่วย PTSD อาจดูแลตัวเองและจัดการกับความเครียดได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • เรียนรู้และรับมือ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวต้องพยายามเรียนรู้การจัดการกับความเครียด เช่น หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย การออกไปพบปะผู้คน หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เป็นต้น
  • ดูแลตนเองมากขึ้น ไม่ควรบริโภคของที่ไม่ดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่เสพสารเสพติด และเพิ่มเวลาในการพักผ่อนให้มากขึ้นกว่าเดิม
  • การรับยาจากแพทย์ โดยแพทย์จะให้ยาที่สามารถลดความเครียดหรือช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ทั้งนี้การใช้ยาต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • การบำบัด สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อพูดคุยปรึกษาเพื่อปรับให้สามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนความคิดได้ หรือเลือกที่จะเผชิญกับสิ่งที่เรากลัวและเรียนรู้วิธีการรับมือที่ถูกต้องแต่วิธีนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

อ้างอิง : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยpobpad