นักจิตวิทยาแนะ ครู-ผู้ปกครอง ให้เด็กห่างสื่อ ป้องกันเด็กกลัวการไปโรงเรียน

นักจิตวิทยาแนะ ครู-ผู้ปกครอง ให้เด็กห่างสื่อ ป้องกันเด็กกลัวการไปโรงเรียน

จากเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็กใน จ. หนองบัวลำภู ส่งผลให้เด็กๆ อีกหลายพื้นที่ที่ทราบข่าวมีความหวาดกลัวการไปโรงเรียน นักจิตวิทยาแนะควรให้เด็กห่างจากสื่อและอธิบายเด็กตามความจริง

จากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวม 36 ราย ถือเป็นเหตุการณ์การกราดยิงครั้งที่ 4 ของประเทศไทยและสร้างความสลดใจกับคนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะญาติของผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในช่วงปฐมวัยเช่นเดียวกัน

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกรายงานและพูดถึงออกไปในวงกวางทั้งในสื่อกระแสหลักหรือที่เรียกว่า “สื่อมวลชน” และสื่อออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มที่เป็นการส่งข้อมูลต่อกันของประชาชนเอง ทำให้ภาพและข้อมูลที่ยังไม่ได้มีการเซ็นเซอร์แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง แน่นอนว่านอกจากผู้สูญเสียแล้ว ผู้ปกครองคนอื่นๆ ที่ต้องฝากลูกไว้กับโรงเรียนนั้นย่อมมีความกังวลใจเช่นเดียวกัน รวมถึงเด็กบางคนที่บังเอิญได้รับข่าวสารจากช่องใดช่องทางหนึ่งเริ่มมีอาการหวาดกลัวการไปโรงเรียน เนื่องจากภาพความรุนแรงที่เห็นนั้นยังคงติดอยู่ในใจ

  • จัดการความกังวล ต้องเริ่มที่ผู้ใหญ่

นักจิตวิทยาประจำศูนย์​บริการสาธารณสุข​ 54 ทัศน์เอี่ยม นางสาว สมฤดี สุทธิกุล เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ในประเด็นที่เด็กเริ่มกลัวการไปโรงเรียนว่า เนื่องจากเหตุกราดยิงครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงดังนั้นขั้นแรกต้องเริ่มจากการคำนึงถึงสภาพจิตใจผู้ปกครองก่อน เพราะการที่นำตนไปเองอยู่ในเหตุการณ์หรือเรื่องราวของการสูญเสียมากเกินไปจะยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจที่รุนแรง จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์ก่อนเพื่อจัดการอย่างถูกต้อง เช่น อารามณ์โกรธ หดหู่ เสียใจ และ เศร้า เป็นต้น ซึ่งทุกคนเกิดอารมณ์เหล่านี้ได้แต่ต้องรู้จักการจัดการกับอารมณ์ดังกล่าว เริ่มจากการหลีกเลี่ยงการรับข่าวสารมากเกินไป หยุดส่งต่อภาพความรุนแรง เพราะการกระทำเหล่านี้นอกจากจะสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับครอบครัวผู้สูญเสียแล้วยังสร้างความเจ็บปวดให้กับจิตใจของตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้สังคมเกิดความชินชาต่อเหตุการณ์ความรุนแรงอีกด้วย

หากผู้ปกครองเกิดความรู้สึกแย่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ขั้นแรกคือต้องหลีกเลี่ยงข่าวสารประเภทนี้ก่อนอย่านำตนเองเข้าไปอยู่ในข่าวหรือสถานการณ์มากเกินไป เพราะยิ่งนำตนเองเข้าไปอยู่ในความรุนแรงเหล่านั้นก็จะยิ่งสร้างบาดแผลให้กับจิตใจไปด้วย

  • สื่อสารกับเด็กอย่างไร เมื่อไม่อยากไปโรงเรียน

ในส่วนของการป้องกันไม่ให้เด็กเกิดความกลัวในการไปโรงเรียนนั้น สมฤดี แนะนำว่า ขั้นแรกผู้ปกครองต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กได้เห็นข่าวความรุนแรงต่างๆ  สิ่งที่น่ากลัวคือการที่เด็กเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วมองว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือสภาพจิตใจของเด็กเพราะหากเกิดบาดแผลทางจิตใจกับเด็กแล้ว บาดแผลนั้นจะอยู่กับเด็กไปอีกนาน แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็อาจจะส่งผลให้เด็กมีความหวาดกลัวเกิดขึ้นตามมา

นอกจากนี้ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัย เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นคงทางด้านจิตใจ และควรให้เวลากับความรู้สึกของเด็ก ในส่วนของครูที่จำเป็นจะต้องตอบคำถามเด็กถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น จำเป็นจะต้องตอบคำถามเด็กในเชิงบวกและไม่ทำร้ายจิตใจเด็ก

“และที่สำคัญไม่ควรหลีกเลี่ยงในการตอบคำถามหรือโกหกเด็ก เพราะเด็กมีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากพอที่จะเข้าใจเหตุผลจากเรื่องราวต่างๆ จากการอธิบายจากผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่เองก็จำเป็นจะต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสมเช่นกันในการตอบคำถามเด็ก” สมฤดี อธิบาย

สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง หรือทุกคนในสังคม หากรู้สึกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อจิตใจมากเกินไปจนทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ ควรงดการเข้าถึงข่าวสารสักพักและหากิจกรรมอย่างอื่นทำเพื่อให้เกิดความสบายใจและไม่ให้เกิดอาการดิ่งมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุดก็คือไม่ควรมองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของสังคม