เปิด 5 วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 วันนี้ อันตรายต่อโรคภูมิแพ้

เปิด 5 วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 วันนี้ อันตรายต่อโรคภูมิแพ้

เปิด 5 วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อโรคภูมิแพ้ พร้อมแนวทางรักษา ไม่ปล่อยเรื้อรัง ยากต่อการรักษา หลัง กทม. ประกาศ Work From Home (WFH) 15-16 กุมภาพันธ์ 2567 ป้องกันสุขภาพเข้มข้นจากฝุ่นละออง PM 2.5 วันนี้ เกินค่ามาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของประชาชน

หลังจากที่ กทม. ประกาศ Work From Home (WFH) ในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2567 ขอความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ยกระดับป้องกันสุขภาพเข้มข้นจากฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของประชาชน นั้น 

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์แนวโน้มการระบายอากาศบริเวณ กทม. และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2567 ว่ามีการระบายอากาศอ่อน ประกอบกับอากาศใกล้พื้นผิวมีลักษณะปิด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยทิศทางลมระหว่างวันที่ 14-15 ก.พ. เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมตะวันออก 

ซึ่งพื้นที่ กทม. เป็นพื้นที่ท้ายลม อีกทั้งระหว่างวันที่ 10-13 ก.พ. มีจุดเผาจำนวนมากในประเทศไทยทั้งบริเวณภาคกลางและอีสาน (3,241 จุด) และกัมพูชา (14,939 จุด)

 

ฝุ่น PM2.5 วิกฤติ กทม. ประกาศ Work From Home 15 - 16 ก.พ. 67

ฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 เป็นสารพิษในชั้นบรรยากาศที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อร่างกายได้รับฝุ่นชนิดนี้เข้าไปจึงลงลึกไปถึงหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณหลอดลมและถุงลม

ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 

ค่าฝุ่น PM 2.5 วันนี้ (15 ก.พ. 67) กรุงเทพฯ ตรวจวัดได้ 53.3-87.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐานจำนวน 65 พื้นที่ เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ โดยมีสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้ เวลาที่สูดเข้าไปจะเกิดการอักเสบหรือระคายเคืองได้

ฝุ่น PM 2.5 สัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้

ฝุ่น PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้อย่างมาก เพราะกลไกการอักเสบที่ลงลึกไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่างส่งผลต่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจและภูมิแพ้ผิวหนัง 

เวลาที่สูดเข้าไปจะเกิดการอักเสบทั้งทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก จาม น้ำมูก คัดจมูก ลามไปถึงโพรงไซนัสอักเสบ ส่วนการอักเสบทางเดินหายใจส่วนล่างคือ บริเวณหลอดลมกับถุงลม 

ดังนั้นฝุ่น PM 2.5 นอกจากสัมพันธ์กับภูมิแพ้ยังสัมพันธ์กับโรคหอบหืดอีกด้วย ที่น่าสนใจคือมีข้อมูลระบุว่า เมื่อร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมได้ไวขึ้น และเกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งทำให้โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืดกำเริบรุนแรงขึ้นได้

 

เปิด 5 วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 วันนี้ อันตรายต่อโรคภูมิแพ้

ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่ออาการแพ้

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบใน 2 รูปแบบคือ

1.) อักเสบเฉียบพลัน มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก แสบตา คันตา น้ำมูกไหล ยิ่งคนที่เป็นหอบหืดจะเหนื่อยขึ้น จากภาวะหลอดลมตีบอักเสบ มีหายใจเสียงหวีด 

ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อนหรือคนที่เป็นหอบหืดตอนเด็กหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้เพราะความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ที่สูงกระตุ้นให้โรคกลับมาและกระตุ้นให้เป็นโรคใหม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกับภูมิแพ้ผิวหนัง กระตุ้นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษได้ด้วย

2.) อักเสบเรื้อรัง มีอาการคัดจมูกมากจนทนไม่ไหว ปวดมาก ปวดซีกเดียว มีมูกสีเหลืองเขียวออกมา การได้กลิ่นลดลง ซึ่งเป็นอาการของโพรงไซนัสอักเสบหรือภูมิแพ้กำเริบรุนแรงได้ 

นอกจากนี้ที่สำคัญมากการเกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ มะเร็งปอด เป็นต้น

 

ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อโรคภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ

 

การรักษาโรคภูมิแพ้กลุ่มภูมิแพ้ทางเดินหายใจ อาการแพ้ที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ไม่ปล่อยเรื้อรัง ยากต่อการรักษา 

1.) เลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยหลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง เราจะรู้วิธีและสามารถหลีกเลี่ยงการก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้อย่างถูกวิธี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ร่วมด้วย เพื่อลดการกำเริบของโรคและลดการเกิดการแพ้สารก่อภูมิแพ้ใหม่ ๆ อีกได้

2.) การใช้ยาพ่นต่อเนื่อง

1.) โรคภูมิแพ้โพรงจมูก หรือโพรงไซนัสอักเสบ หากเป็นรุนแรงมีเยื่อบุโพรงจมูกบวม หรือเป็นถึงโพรงไซนัสอักเสบ แนะนำการใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ต่อเนื่องไปช่วงหนึ่ง เพื่อลดการบวมอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ลดอาการคัดจมูก ปวดโพรงใบหน้าได้ 

โดยไม่แนะนำในการใช้ยาพ่นจมูกชนิดลดบวมจมูกที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ต่อเนื่อง เพราะถ้าเป็นชนิดนี้จะไปหดเส้นเลือด ส่งผลให้ผนังโพรงจมูกไม่ตอบสนองต่อยาพ่นใด ๆ หรือภาวะ Rhinitis Medicamentosa

2.) โรคหอบหืด จำเป็นต้องมีการใช้ยาพ่นชนิดควบคุมอาการต่อเนื่องทุกวัน (Controller) เพื่อช่วยป้องกันการเสื่อมลงของสมรรถภาพปอด ลดการกำเริบ ลดการเกิดระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน 

โดยมักเป็นกลุ่มยาสูดพ่นชนิดสเตียรอยด์และยาขยายหลอดลม และหากมีอาการกำเริบให้ใช้ยาพ่นเฉียบพลันชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Reliever) และถ้าไม่ดีขึ้นให้มาโรงพยาบาล

3.) การล้างจมูก ต้องล้างให้ถูกวิธีด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกในโพรงจมูก

4.) การใช้วัคซีนภูมิแพ้ (Immunotherapy) เพื่อให้ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้น้อยลงหรือหายจากการแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้น เช่น ต่อไรฝุ่น ต่อรังแคน้องแมว เกิดภูมิคุ้มกันที่ดีต่อสารก่อภูมิแพ้ ใช้เวลารักษาประมาณ 3 – 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองและผลข้างเคียงของผู้ป่วย ปัจจุบันมีทั้งวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และอมใต้ลิ้น 

5.) การผ่าตัด ในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบรุนแรงหรือมีผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีติ่งเนื้อ Polyp โดยต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและประเมินการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

6.) ยาเสริมอื่น ๆ ตามอาการ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานแบบไม่ง่วง ยาหยอดตาแก้แพ้ หากมีอาการภูมิแพ้เยื่อบุตาอักเสบร่วม

 

ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

5 วิธีป้องกันหลีกเลี่ยงมลพิษฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่อโรคภูมิแพ้  

  • เช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index – AQI) ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรเลี่ยงการออกนอกบ้านและทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • สวมใส่หน้ากาก N95 ที่ได้มาตรฐานช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดีที่สุดและควรสวมใส่ให้ถูกต้อง หากสวมหน้ากากอนามัยควรเลือกที่ครอบหน้าได้ทั้งหมด
  • ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี เพื่อให้โพรงจมูกสะอาด ลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดโรค
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เพื่อให้การกรองอากาศมีความละเอียดสูงกว่าแผ่นกรองอากาศปกติ สกัดกั้นสารก่อภูมิแพ้ได้ เพราะแม้จะปิดประตูหน้าต่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้
  • รณรงค์เรื่องลดการเผาไหม้ ทั้งในชีวิตประจำวันอย่างการใช้รถให้น้อยลง การทำอาหารแบบครัวปิด การลดหรืองดการจุดธูป ไปจนถึงการทำการเกษตรและอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

 

อ้างอิง : นพ. จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อายุรศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก โรงพยาบาลกรุงเทพ , โรงพยาบาลกรุงเทพ