เมื่อกระทรวงการคลังคิดจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อกระทรวงการคลังคิดจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า

กระทรวงการคลังออกข่าวมานานแล้วเรื่องจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎรก็ดูจะสนใจสินค้านี้เป็นพิเศษ ถึงขนาดมีรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการแล้ว 2 คณะ

อีกทั้งเมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมาก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญอีกคณะเพื่อพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า

นโยบายของรัฐเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมาก หากมีการเปลี่ยนแปลงในทางลบจะส่งผลกระทบเสียหายใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต  ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

หน่วยงานแรกที่ต้องพูดถึงคือกระทรวงการคลัง มีกรมสรรพสามิตที่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องภาษีบุหรี่ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่เกี่ยวข้องในฐานะหน่วยงานวิชาการที่ศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าด้วย

พูดถึง การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องถึงความหมายที่แฝงอยู่ มีคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจ หลายคนสงสัยว่าในเมื่อซื้อง่ายขายกันเกลื่อน ไปไหนก็มีคนสูบ แล้วทำไมถึงจะไม่เก็บภาษีเล่า อย่างน้อยก็ยังนำเงินมาพัฒนาประเทศได้ ?

คำตอบก็คือ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย การเก็บภาษีจึงหมายถึงการทำให้มันเป็นสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ถูกกฎหมาย

กระทรวงการคลังมักยกเหตุผลต่าง ๆ มาอ้างเมื่อพูดถึงภาษีบุหรี่ คือ

1) ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ

2) ดูแลสุขภาพของประชาชน

3) ปราบปรามบุหรี่เถื่อน และ

4) จัดเก็บรายได้  การจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าก็อ้างว่าต้องชั่งน้ำหนักระหว่างรายได้ของรัฐกับสุขภาพของประชาชน

กระทรวงการคลังมีหน่วยงานวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการคลัง นักเศรษฐศาสตร์ทราบดีว่าถ้าจะเปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมายก็มีหลักเกณฑ์ง่าย ๆ ในการพิจารณา คือดูว่าผลประโยชน์ที่สังคมจะพึงได้นั้น มันคุ้มกับต้นทุนที่จะต้องจ่ายหรือเปล่า

ดังนั้น หากกระทรวงการคลังศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลอย่างโปร่งใสให้สังคมรับรู้ตรวจสอบได้ว่ามีผลได้มากกว่าผลเสียแล้วก็เชื่อว่าจะไม่มีผู้ใดคัดค้าน

ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกศึกษาข้อมูลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่าการควบคุมยาสูบให้ผลคุ้มค่ามากในประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง มีการจัดทำรายงานหลายฉบับชี้แนะให้ทุกประเทศควบคุมยาสูบ 

เมื่อกระทรวงการคลังคิดจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า

ประเทศไทยก็มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ศึกษาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีผลสรุปว่าก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าการสูบบุหรี่ก่อผลเสียมากมาย  องค์การอนามัยโลกก็ชูประเด็น Tobacco: a treat to development (บุหรี่: ภัยคุกคามต่อการพัฒนา) ในการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกปี 2550 แต่หลายคนรวมทั้งผู้กำหนดนโยบายของรัฐก็ยังไม่ตระหนักว่ามันก่อผลเสียหายเพียงใดต่อชีวิตและสุขภาพ ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

หากผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องศึกษารายงานของธนาคารโลกหรือองค์การอนามัยโลกสักนิดก็จะทราบว่า มาตรการภาษีมีประสิทธิผลมากในการควบคุมยาสูบ 

ธนาคารโลกชี้แนะให้ทุกประเทศใช้เป็นเครื่องมือทำให้ราคาสูงขึ้นเพื่อให้การสูบบุหรี่ลดลง แต่น่าเศร้าที่รัฐบาลไทยกลับทำตรงข้าม คือใช้มาตรการภาษีแบบที่ทำให้บุหรี่ลดราคาได้ในปี 2560 ทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพราะคนหันไปสูบบุหรี่ลดราคา

เมื่อกระทรวงการคลังคิดจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า

ประเทศไทยเสียค่าโง่หลายหมื่นล้านบาทจนทุกวันนี้โดยไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ อัตราการสูบบุหรี่ก็ลดได้ช้า ชาวไร่ยาสูบก็เดือดร้อนเนื่องจากบุหรี่ที่ผลิตในประเทศถูกตีตลาดอย่างรวดเร็ว นั่นคือความผิดพลาดมหันต์ที่เกิดขึ้นแล้วกับบุหรี่มวน

สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า มีประเทศในกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศที่กำหนดให้เป็นสินค้าผิดกฎหมาย คือ บรูไน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย 

ทั่วโลกมีประเทศที่ห้ามจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 34 ประเทศแล้ว เป็นประเทศรายได้สูง 7 ประเทศ รายได้ปานกลาง 22 ประเทศ และรายได้ต่ำ 5 ประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากหลายประเทศกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชน

ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย มุ่งมั่นนำเสนอแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อประชาคมโลก 

หากมองเป้าหมายที่ 3 ของ SDGs เรื่องสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว จะมีเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อที่องค์การสหประชาชาติชี้แนะให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผู้กำหนดนโยบายต้องพิจารณาถึงสาเหตุและแก้ไขให้ถูกวิธี  หน่วยงานวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ามีการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดและมีช่องโหว่ที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นต้องจัดการแก้ไขให้ถูกจุด

การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการเอื้อประโยชน์บริษัทบุหรี่ต่างชาติมากกว่าที่จะเห็นคุณค่าชีวิตของเด็กไทย จะยิ่งสร้างปัญหาให้หนักขึ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องต้องมองอย่างเป็นระบบ และมุ่งมั่นแก้ไขอย่างจริงจังจึงจะประสบผลสำเร็จได้

กระทรวงการคลังทำคนไทยเสียค่าโง่มาแล้วนับหมื่นล้านบาท จากการใช้มาตรการภาษีปล่อยบุหรี่ลดราคาเมื่อ 6 ปีก่อน จึงควรหาตัวผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว และควรพิจารณาอย่างรอบคอบหากคิดจะเก็บภาษีให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย.