วิจัยระดับ ‘รางวัลโนเบล’ เผย ผู้หญิงเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายเพราะมีลูก

วิจัยระดับ ‘รางวัลโนเบล’ เผย ผู้หญิงเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายเพราะมีลูก

แม้ปัจจุบันหลายองค์กรจะมีความใส่ใจเรื่องความเท่าเทียมกันของเงินเดือนพนักงานทุกเพศ แต่ล่าสุดมีงานวิจัยพบว่า ท้ายที่สุดแล้วผู้หญิงก็ยังมีโอกาสได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายอยู่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีลูก

Key Points:

  • “Gender Pay Gap” ช่องว่างระหว่างเงินเดือนของผู้ชายและผู้หญิงเป็นปัญหาในตลาดแรงงานมานานหลายปี แต่ปีนี้เริ่มได้รับการพูดถึงมากขึ้นเมื่อมีงานวิจัยระดับ “รางวัลโนเบล” การันตี
  • คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสได้ “เงินเดือน” น้อยกว่าผู้ชายก็เพราะพวกเธอ “มีลูก” เธอจึงเรียกว่าเป็น “โทษจากการเป็นเพศแม่”
  • จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับเดียวกัน สายอาชีพเดียวกัน ในช่วงเริ่มงานจะมีเงินเดือนใกล้เคียงกัน แต่เมื่อผู้หญิงมีลูกก็ทำให้เงินเดือนหยุดอยู่กับที่และยากที่จะเพิ่มขึ้น

บางคนอาจสงสัยว่าทำไม “ผู้หญิง” ถึงได้เงินเดือนน้อยกว่า “ผู้ชาย” ทั้งที่อยู่ในสายอาชีพเดียวกัน จบการศึกษาระดับเดียวกัน และอายุเท่ากัน ? แม้ว่าปัจจุบันหลายองค์กรมีการแก้ไขปัญหา “ช่องว่างระหว่างเงินเดือนในเพศที่ต่างกัน (Gender Pay Gap)” เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับพนักงานทุกเพศแล้ว แต่ก็ยังมีผู้หญิงบางส่วนประสบกับปัญหาเดิมๆ นั่นก็คือ มีโอกาสได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย

 

ปัญหานี้พบได้เกือบทุกประเทศทั่วโลกในหลากหลายองค์กรเลยก็ว่าได้ โดย คลอเดีย โกลดิน (Claudia Goldin) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด วัย 77 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ (2023) ได้หาคำตอบผ่านงานวิจัยมาแล้วพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสได้เงินเดือนน้อยก็คือ การที่พวกเธอ “มีลูก”

รายละเอียดบางส่วนจากงานวิจัยของ คลอเดีย ที่ตีพิมพ์ล่าสุดในชื่อ “Why Women Won” เปรียบเทียบให้เห็นถึงสาเหตุที่ว่าทำไมผู้หญิงมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ถูกลงโทษจากความเป็นแม่” หรือ “Motherhood Penalty

  • ไม่ใช่สายอาชีพ การศึกษา หรืออายุ แต่เพราะเป็นเพศแม่ “เงินเดือน” จึงน้อย?

ที่ผ่านมาอาจมีการตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยที่ทำให้บริษัทบางแห่ง เกิด Gender Pay Gap นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาหรือพื้นฐานของสายอาชีพที่แตกต่างกัน แต่จากการค้นคว้าศึกษาของ คลอเดีย พบว่าแท้จริงแล้วการ “มีลูก” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนมีโอกาสได้ “เงินเดือน” น้อยกว่าผู้ชาย

อ่านข่าว : 

ประกาศผลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2566 ไขข้อสงสัยทำไมผู้หญิงรายได้น้อยกว่าผู้ชาย

งานวิจัยของคลอเดียอธิบายให้เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่เป็นธรรมในตลาดแรงงาน โดยใช้ข้อมูลย้อนไปถึง 200 กว่าปีในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากผู้หญิงตัดสินใจ “แต่งงาน” ไปจนถึงความสัมพันธ์ของหน้าที่การงานและเงินเดือน

จากการศึกษาพบว่า หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และเริ่มต้นการใช้ชีวิตแบบ “มนุษย์เงินเดือน” ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีรายได้ไม่ต่างกันมากนัก และถ้าเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 25-40 ปี บางคนที่ทำงานอยู่ตามเมืองใหญ่มีรายได้มากกว่าผู้ชายในสายอาชีพเดียวกันด้วยซ้ำ โดยปัญหาที่พวกเธอมีรายได้เท่าเดิมในขณะที่รายได้ของผู้ชายเริ่มแซงหน้าไปเรื่อยๆ ภายใน 1-2 ปี นั้นมาจากการมีลูกคนแรก

เรียกได้ว่าเมื่อผู้หญิงมีลูก รายได้ของพวกเธอก็ลดลง คลอเดียจึงเปรียบเทียบเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่าเป็น “โทษจากการเป็นเพศแม่

  • เปิดนิยาม “โทษจากการเป็นเพศแม่” คืออะไร

หากต้องขยายความ โทษจากการเป็นเพศแม่ อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดพลิกผันในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง จากที่เคยมีรายได้มากกว่า หรือเท่ากับผู้ชาย แต่เมื่อแต่งงานมีลูกกลับต้องกลายเป็นคนที่มีรายได้น้อยกว่าหรือคงที่ ไม่ก้าวหน้าไปไหน

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่จบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากสถาบันชั้นนำ ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้หญิงในกลุ่มที่มีลูกแล้วเมื่อจบการศึกษาจะมีแนวโน้มว่ามีประสบการณ์ทำงานน้อยลง หรือหยุดชะงักในหน้าที่การงานมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ลดลงตามมา โดยปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ชาย

เพราะโดยพื้นฐานแล้วเมื่อผู้หญิงมีลูก ชั่วโมงการทำงานก็จะลดลง เนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก แม้ว่าหลายองค์กรจะมีจำนวน “วันลาคลอด” ที่เหมาะสม แต่เมื่อผู้หญิงกลับมาทำงาน ก็ต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะเข้าที่ (สำหรับบางคนอาจต้องใช้เวลาเรียนรู้งานมากขึ้น) และอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หน้าที่การงานติดขัด เป็นเรื่องยากที่จะก้าวหน้า จึงเรียกได้ว่าเป็น “โทษจากการเป็นเพศแม่”

แต่เมื่อผู้ชายมีลูกกลับกลายเป็นว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะทำงานมากขึ้น และทำเงินได้มากขึ้นเช่นกัน

อ้างอิงเพิ่มเติมจากรายงานของ Pew Research finds ระบุว่า ในปี 2022 ผู้หญิงอายุ 25-34 ปี ได้เงินเดือนประมาณ 92% ของรายได้ผู้ชายในวัยเดียวกัน ส่วนผู้หญิงอายุ 35-44 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เป็นพ่อแม่แล้ว ได้เงินเดือนเพียง 83% ของผู้ชายในวัยเดียวกัน

ไม่ใช่แค่การมีลูกที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสรายได้ลดลงเท่านั้น แต่ความแตกต่างของรายได้ระหว่างชายและหญิงมีมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดในปี 2022 พบว่าผู้หญิงอเมริกันทั่วไปจะมีรายได้เพียง 82 เซนต์จากทุกๆ ดอลลาร์ที่ผู้ชายได้รับ ซึ่งไม่ต่างจากเมื่อปี 2002 ที่ผู้หญิงจะมีรายได้เพียง 80 เซ็นต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ และในปี 1982 ผู้หญิงมีรายได้เพียง 65 เซ็นต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ที่ผู้ชายได้รับ หมายความว่าแม้ Gender Pay Gap จะเป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะสมเท่าไรนัก

ส่วนหนึ่งจากความเห็นของคณะกรรมการโนเบลอธิบายว่า “ทันทีที่มีลูกคนแรก ก็จะมีแน้วโน้มว่ารายได้จะลดลง หรือไม่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้หญิงที่มีลูก แม้ว่าพวกเธอจะมีอาชีพ การศึกษา ที่เหมือนกับผู้ชาย

สำหรับคลอเดีย เธอเป็นผู้หญิงคนที่สามของโลกที่คว้ารางวัลโนเบลมาได้ และเธอกล่าวว่าการที่ผลงานของเธอได้รับการยอมรับในวงกว้าง ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันเกี่ยวข้องทั้งเรื่องของผู้หญิงที่อยู่ในตลาดแรงงาน เกี่ยวกับเพศ และเศรษฐกิจ

“นี่เป็นประเด็นที่เรารู้ว่ามีความสำคัญ และไม่ได้รับการพูดถึงมากพอ ขณะนี้มีคนจำนวนมากที่ทำการวิจัยลักษณะเดียวกัน และฉันคิดว่ามันหมายความว่าพวกเขาจะเห็นว่ามันสำคัญและเป็นที่ยอมรับ” คลอเดียระบุ

  • ผู้หญิง เงินเดือน งานบ้าน และปัญหาถูก “AI” แย่งงาน

นอกจากเรื่องของเงินเดือนแล้วผู้หญิงยังเป็นเพศที่ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เลี้ยงลูกและจัดการ “งานบ้าน” อีกด้วย ผลสำรวจชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในเดือน ม.ค.  ที่ผ่านมา พบว่า จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,152 คน มีครอบครัวที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ 16% ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 5% แต่กลับต้องทำงานบ้านในสัดส่วนที่เท่ากันกับผู้ชาย แม้ว่าผู้ชายจะมีเวลาว่างถึง 47.2 ชั่วโมง

อ่านข่าว : 

วิจัยชี้ “ผู้หญิง” ยังต้องทำงานบ้าน แม้จะหาเงินได้มากกว่า “ผู้ชาย”

ไม่ใช่แค่นั้นแต่ปัจจุบัน “ผู้หญิง” ก็ยังมีโอกาสถูก “AI” แย่งงานมากกว่าผู้ชายทำให้เสี่ยง “ตกงาน” มากกว่าอีกด้วย โดยรายงานจาก Kenan-Flagler Business School แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ชี้ให้เห็นว่า เมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในการช่วยมนุษย์ทำงานมากขึ้นในหลากหลายอาชีพ ทำให้บางคนมีโอกาสตกงานได้ง่ายๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานด้านเอกสาร, ทำบัญชี, เรียกชำระเงิน ฯลฯ จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่บริษัทนำ AI เข้ามาทำงานแทน

ทีมวิจัยคาดการณ์ว่า 79% ของผู้หญิงทำงาน หรือเกือบ 59 ล้านคน อยู่ในอาชีพที่อ่อนไหวต่อการตกงานในยุค AI เมื่อเทียบกับ 58% ของผู้ชายวัยทำงาน 

อ่านข่าว : 

ผู้หญิงเสี่ยง 'ตกงาน' มากกว่าผู้ชาย เพราะทำงานที่ AI มาทดแทนได้ง่ายกว่า ?!

แม้ว่าปัญหาช่องว่างระหว่างเพศชายและหญิงที่ส่งผลต่อเงินเดือนที่ไม่เท่าเทียมกัน จะเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมมาอย่างยาวนาน และอาจจะยังไม่สามารถแก้ไขให้ได้ผล 100% ในเร็วๆ นี้ แต่งานวิจัยของคลอเดียก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคม โดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือเจ้าขององค์กรมองเห็นความสำคัญในประเด็นความเท่าเทียมทางเงินเดือนมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้หญิงได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองทั้งในฐานะแม่และคนทำงาน

อ้างอิงข้อมูล : Business InsiderPew Research finds และ Why Women Won