ดร.สุเมธ ขยายมุมคิด 35 ปีเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน

ดร.สุเมธ ขยายมุมคิด 35 ปีเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “แก่นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ขอขอบคุณ วช. ที่ได้เชิญมาให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่ได้มีโอกาสเรียนจากปราชญ์ของโลก คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยไม่ได้นึกฝัน เป็นเวลา 35 ปี

วันนี้จึงขอน้อมนำเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน” มาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพราะนับตั้งแต่ปี 2542 เราได้พบคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แล้วใช้กันเรื่อยมา เราพูดเรื่องนี้กันมาตลอดตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงชาวไร่ชาวนา เราพูดกันแต่จะมีใครรู้บ้างว่า เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร

ดร.สุเมธ ขยายมุมคิด 35 ปีเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบิตร ทรงรับสั่งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงบัดนี้ 20 ปีแล้ว วันนี้ก็ยังได้รับเชิญมาพูดเรื่องนี้อีก"

ประเทศไทยแปลกตรงที่เรามีแผน แต่แผนก็คือแผน คนทำแผนก็ทำไป ประกาศใช้ก็ประกาศไป แต่ไม่มีคนนำไปใช้จริง 

วันนี้จึงขออัญเชิญมาอย่างเป็นทางการถึงคำจำกัดความคำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ Sufficiency Economy Phylosophy ซึ่งคนทั่วไปยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นข้อความ 3 ประโยค ที่ทรงเตือนถึง 3 ครั้ง ยิ่งอ่านยิ่งทำให้เข้าใจ

พระองค์ทรงเตือนไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ทั้งสถานการณ์ โควิด-19 การบ้านการเมือง แต่เราไม่สนใจ ได้แต่พูดเท่านั้น และเราทำอย่างผิวเผิน ทรงรับสั่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำรงอยู่ของประชาชนทุกระดับ ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงระดับรัฐ การพัฒนาโดยเดินบนทางสายกลาง

ดร.สุเมธ ขยายมุมคิด 35 ปีเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน

โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการเตือนครั้งที่หนึ่ง เพื่อให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่ให้ก้าวตามแต่ให้รู้ทันโลกาภิวัตน์ เพราะโลกาภิวัตน์เป็นเหรียญสองด้านที่มีทั้งดีและร้าย ถ้าเป็นด้านร้ายเราก็ไม่ควรรับไว้

พอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลมีภูมิคุ้มกัน เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน จึงทรงสอนต่อไปอีกว่า เราจะต้องมีความรอบคอบระมัดระวังอย่างยิ่งในด้านการนำวิชาการมาวางแผน"

ขณะเดียวกันจะต้องเสริมด้วยจิตใจของคนในชาติ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี นักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีความสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และใช้ชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ มีปัญญา และความรอบคอบ เป็นการเตือนอีกครั้งส่งท้าย

แสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เรื่องเดียวทรงเตือนถึง 3 ครั้ง จึงเห็นว่า ทั้งเรื่องโควิด-19 สถานการณ์การเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นคน 2 เจเนอเรชั่นพูดกันไม่รู้เรื่อง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ทรงเตือนพวกเราแล้วทั้งสิ้น

เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวต่อไปว่า อยากให้ทุกคนกลับมาพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาจะพบว่า ปัจจุบันมนุษย์ไม่ว่าอยู่ที่ไหน กำลังใช้ชีวิตด้วยการบริโภคเกินเหตุ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ตะกละที่สุดบริโภคอย่างไม่มีข้อจำกัด ทะเยอทะยานกระหายตลอดเวลา

ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการบริโภคเกินทั้งสิ้น ยาที่เรากินเข้าไปหมอไม่ได้รักษา เป็นยาลดไขมัน ยาลดน้ำตาลเท่านั้น เพียงแค่ลดการนำอาหารใส่ปากอาการป่วยก็จะหายไป ลองเหลียวดูสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน มีสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อยู่ถึงร้อยละ 70 เราไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้

ดร.สุเมธ ขยายมุมคิด 35 ปีเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน

สิ่งสำคัญ คือ จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 60 ปี จากจำนวน 2,500 ล้านคน เป็น 8,000 ล้านคน เมื่อไม่กี่วันมานี้ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ จนป่าไม้และป่าชายเลนหมดไป แม่น้ำเน่าเสีย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แม้แต่ PM 2.5 ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีก็กลายเป็นปัญหา

ระบบทุนนิยมและการคิดถึงแต่เรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการวัดจาก GDP ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้เกิดการแย่งชิงและตามมาด้วยสงคราม โดยคาดว่าอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าอาจจะเจอกับสงครามแย่งน้ำได้

และถ้าจะกล่าวถึงการเดินทางที่ผิดพลาดของไทย บางทีอาจจะเริ่มตั้งแต่เมื่อตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ใช้ชื่อว่า สภาการเศรษฐกิจ ยังไม่มีสังคม เพิ่งจะมาเติมคำว่าสังคมเมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาฉบับที่ 3

ผมเข้ามาทำงานที่สภาพัฒน์ฯ ในปี 2512 และเห็นว่า เราจะคิดถึงเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ ต่อมาในปี 2538 เมื่อมีการจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 8  ในฐานะเป็นนักรัฐศาสตร์คนแรกที่มาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ จึงเกิดแนวคิดที่จะไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางและมองปัญหาสังคมให้มากขึ้น และต่อไปอาจจะต้องต่อท้ายสภาพัฒน์ฯ เป็นสิ่งแวดล้อมและการเมืองด้วย

ดร.สุเมธ ขยายมุมคิด 35 ปีเศรษฐกิจพอเพียงกับความยั่งยืน

ในตอนท้าย เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงรับสั่งถึงความสุขมวลรวมของพลเมืองมาตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ซึ่งเป็นทั้ง good governance และ SDGs แต่ทรงคิดเรื่องเหล่านี้ก่อนที่สหประชาชาติจะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ในระดับโลก รวมถึง ทศพิธราชธรรมที่ทรงใช้เป็นหลักปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพ

นอกจากนี้ ยังทรงรับสั่งถึงงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์สำคัญที่ฝากไว้ให้ วช. ว่างานวิจัยและนวัตกรรมควรคิดไปถึงการทำเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ และอย่าคิดถึงแค่นวัตกรรมจะให้เป็นตัวเงินหรือเศรษฐกิจ แต่ต้องถามด้วยว่า สังคมจะได้อะไรจากนวัตกรรม.