จีนงัดกลยุทธ์ ‘เก่าแลกใหม่’ สร้างดีมานด์-ปลุกตลาดครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

จีนงัดกลยุทธ์ ‘เก่าแลกใหม่’ สร้างดีมานด์-ปลุกตลาดครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

เมื่อเศรษฐกิจแดนมังกรถูกตะวันตกบีบ เผชิญกำแพงภาษี จีนจึงงัดกลยุทธ์ใหม่ “Trade In” ชวนให้ประชาชนนำ “ของเก่า” ไม่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า รถยนต์เก่า มาแลกซื้อ “ของใหม่” ในราคาส่วนลด เพื่อหวังกระตุ้นจีดีพี และแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาด

KEY

POINTS

  • จีนอุดหนุนราคารถ 100 ล้านหยวน โดยผู้ซื้อรถแต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุนนี้สูงสุด 30,000 บาท และยังมีงบฯ 20 ล้านหยวนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า (สูงสุด 7,600 บาทต่อ 1 เครื่อง)
  • งบประมาณในการลงทุนเพื่ออัปเกรดอุปกรณ์ให้ใหม่ในอุตสาหกรรมสำคัญ อยู่ที่ 4.9 ล้านล้านหยวนสำหรับปีที่แล้ว และจีนตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้น 25% ภายในปี 2570
  • นโยบายนำของเก่าที่มีอยู่มาแลกซื้อของใหม่ในราคาส่วนลด อาจช่วยเพิ่ม GDP จีน 0.7 จุดเปอร์เซ็นต์

ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคัก ประเทศต่าง ๆ มักอาศัยเสาหลักคู่ นั่นคือ รายได้จากต่างประเทศ และการบริโภคภายในประเทศ โดยไทยพึ่งพาเสาหลักอย่างการส่งออก การท่องเที่ยวเป็นหลัก และเตรียมแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายใน

แต่สำหรับเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่าง “จีน” นั้น การพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเหมือนดั่งเคยไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เนื่องจากตลาดใหญ่ของจีนอย่างสหรัฐ เตรียมยกระดับกำแพงภาษีสู้ ส่วนสหภาพยุโรปก็กำลังสอบสวนสินค้าจากจีน

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ ก็เผชิญวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ หนุ่มสาวจีนหางานลำบาก การบริโภคภายในชะลอตัว จนผู้ค้าจีนจำนวนมากต้องระบายสินค้าล้นเกินออกไปต่างประเทศในราคาแสนถูก

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงงัด “กลยุทธ์ใหม่” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นคือ “Trade In” หรือ การนำของเก่าที่มีอยู่มาแลกซื้อของใหม่ในราคาส่วนลด โดยการใช้ “เก่าแลกใหม่” นี้ ไม่ใช่โปรโมชั่นหรือสิ่งที่แต่ละบริษัทเอกชนแยกทำกัน แต่เป็นนโยบายระดับชาติของรัฐบาลจีนที่ทำอย่างมีแบบแผน

จีนงัดกลยุทธ์ ‘เก่าแลกใหม่’ สร้างดีมานด์-ปลุกตลาดครั้งใหญ่ทั่วประเทศ - รัฐบาลจีนชวนประชาชนนำ "เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า" มาแลกซื้อ "ของใหม่" ในราคาส่วนลดได้ หวังกระตุ้นการบริโภค (เครดิต: Shutterstock) -

เก่าแลกใหม่ ปลุกดีมานด์ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

ในตอนนี้ ชาวจีนสามารถนำตู้เย็นเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า รถยนต์เก่า ฯลฯ มาแลกซื้อของใหม่ในราคาส่วนลดได้แล้ว ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นจีนของเมืองซูโจว มณฑลเจียงซูได้ประกาศงบฯ ช่วยอุดหนุนราคารถ 100 ล้านหยวน โดยผู้ซื้อรถแต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุนนี้สูงสุด 6,000 หยวน หรือราว 30,000 บาท และยังมีงบฯ 20 ล้านหยวนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า (เงินอุดหนุนสูงสุด 1,500 หยวน หรือราว 7,600 บาทต่อ 1 เครื่อง) โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา

จุดเด่นของนโยบายนี้ คือ ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าใหม่ได้ง่ายขึ้น และกระตุ้นการใช้จ่ายภายในด้วย เพราะชาวจีนไม่ต้องออกเงินเต็มเหมือนเช่นเคย ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็ได้ระบายสินค้าค้างสต็อก เม็ดเงินภายในมีการหมุนเวียน จนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

ที่สำคัญ คือ สินค้าเก่าไม่น้อยถูกออกแบบมาให้ใช้พลังงานสูง กินไฟ สิ้นเปลืองทรัพยากร และอาจไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม การใช้เก่าแลกใหม่หรือ Trade In นอกจากผู้บริโภคจะประหยัดเงินแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จีนทุ่ม 4.9 ล้านล้านหยวน หนุนอัปเกรดอุปกรณ์ให้ใหม่

ในนโยบาย Trade In นั้น ทางการจีนมีแผนเปลี่ยนโฉมอาคารเก่าด้วย ไม่ว่าลิฟต์เก่าในอพาร์ตเมนต์ เครื่องซักผ้าเก่า ฯลฯ โดยหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจหลักของจีนระบุว่า งบประมาณในการลงทุนเพื่ออัปเกรดอุปกรณ์ให้ใหม่ในอุตสาหกรรมสำคัญ อยู่ที่ 4.9 ล้านล้านหยวนสำหรับปีที่แล้ว และตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้น 25% ภายในปี 2570 อีกทั้งรัฐบาลยังมีการให้สินเชื่อด้วยดอกเบี้ยราคาถูก และลดหย่อนภาษีด้วย เพื่อสนับสนุนนโยบาย Trade In นี้

นอกจากนั้น ติง ซวง (Ding Shuang) หัวหน้าเศรษฐศาสตร์ด้านจีนและเอเชียเหนือของธนาคาร Standard Chartered กล่าวถึงอีกแรงผลักดันสำคัญ นั่นคือ “ระเบียบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมใหม่สำหรับเครื่องจักร” ที่ออกโดยรัฐบาลจีน ส่งผลให้หลายบริษัทต้องเปลี่ยนเครื่องจักรเก่า ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ เป็นอุปกรณ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และปล่อยมลพิษน้อยลงแทน

สำหรับคำถามว่า นโยบายนำ “เก่าแลกซื้อใหม่ในราคาลด” จะกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนได้มากเพียงใด ดันแคน ริกลีย์ (Duncan Wrigley) ของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจ Pantheon Economics คาดการณ์ว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่ม GDP จีน 0.7 จุดเปอร์เซ็นต์

ส่วนนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Citigroup มองว่า โครงการนี้อาจช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้าปลีกได้ประมาณ 0.5% ในปีนี้

เราจะเห็นได้ว่า แต่เดิมนั้น จีนพึ่งพาเศรษฐกิจจาก “ต่างประเทศ” เป็นอย่างมาก ทั้งการเป็นฐานการผลิต และการส่งออกสินค้า แต่ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป หลายประเทศมีแรงงานที่ราคาถูกกว่าจีน ทุนจีนเผชิญแรงต้านจากต่างประเทศ และกำแพงภาษีจากโลกตะวันตก

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงปรับกลยุทธ์เศรษฐกิจใหม่ หันมาเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ “ภายในประเทศ” ผ่านนโยบาย "Trade In" เพื่อมุ่งหวังให้ประชากรจีนกว่า 1,400 ล้านคน ซื้อขายสินค้าและบริการกันเอง นี่อาจเป็น “เครื่องจักรใหม่” หนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนก็เป็นได้

อ้างอิง: rfabloomberg