การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่ "กิจอันประเสริฐ"

การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียงนำไปสู่ "กิจอันประเสริฐ"

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เล่าผ่านบทความถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่มาของ "กิจอันประเสริฐ"

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.) รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (นามเดิม อนิลมาน ศากยะ) ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านมานุษยวิทยาสังคม จากประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรการ 

การได้เสวนากับท่านครั้งนี้ผู้เขียนได้รับทั้งความอิ่มใจและข้อคิดจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความเจริญอย่างยั่งยืนทางโลก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสำคัญต่อกระบวนการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต อาทิ

GDP ในฐานะตัวชี้วัดสถานะทางเศรษฐกิจนั้น เกิดขึ้นเมื่อใด นำมาใช้ชี้วัดได้เหมาะสมชัดเจนเพียงใด

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) ประเด็นของตัวชี้วัดในแต่ละหมวดถูกต้องเหมาะสมหรือไม่เพียงใด เช่น การวัดความยากจน เป็นต้น

ทั้งนี้ จะอธิบายเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ว่า ความพอเพียง คือ ‘กิจอันประเสริฐ’ ในบริบทการพัฒนาที่ครอบคลุมไม่เพียงเฉพาะภาคเกษตรกรรมและระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างไร

GDP นั้นเกิดขึ้นมาสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นซุปเปอร์ตัวชี้วัด บ่งชี้ขนาดของเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยผลผลิตตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน กิจการ ไปจนถึงประเทศ โดยหลักการคือหาก GDP โต แปลว่าเศรษฐกิจดี ประเทศมีการพัฒนา จึงเชื่อว่าผู้คนจะอยู่ดีกินดี แต่ระยะต่อมามีการตั้งคำถามว่าโลกยึด GDP เป็นสรณะมากไปหรือไม่ การเติบโตของผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศมีความสำคัญจริง แต่มิได้เป็นตัวบ่งชี้การพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะการพัฒนาควรประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ยอมรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ของสหประชาชาติ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มีข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของตัวชี้วัด เช่น การวัดความยากจน เราเข้าใจว่าอาจเป็นการซับซ้อนจนเกินไปหากไม่ใช้เส้นความยากจนเป็นเกณฑ์ชี้วัด แต่มีความเห็นที่น่าสนใจมากแบ่งได้เป็น 2 ด้าน 

ด้านแรก ประชาชนบางกลุ่มที่อาจตกอยู่ใต้เส้นความยากจนของประเทศตามนิยามสากล แต่วิถีการดำรงชีวิตอาจเรียกได้ว่า ‘พอเพียง’ แล้วก็เป็นได้ ภายใต้เงื่อนไขสวัสดิการรัฐที่ต้องครอบคลุม โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล 

ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือ กลุ่มผู้อยู่เหนือเส้นความยากจน แต่บางช่วงเวลามีปัจจัยที่เข้ามากระทบความเป็นอยู่ ทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและเพียงพอ เช่น ช่วงโรคระบาดโคโรนาไวรัส การคัดกรองผู้ที่ได้รับประโยชน์จากบัตรสวัสดิการของรัฐ ก็มิได้ดูแต่เพียงเส้นความยากจน แต่ใช้ตัวแปรอื่นเข้ามาประกอบในการนิยามความยากจน เพื่อวัตถุประสงค์การช่วยเหลือเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดำรงชีวิตได้เพียงพอ

อีกประเด็นหนึ่งของการวัดความสำเร็จตามเป้าหมาย SDGs ที่ผู้เขียนยังไม่มั่นใจนัก คือ การบูรณาการของตัวชี้วัดของแต่ละเป้าหมาย โดยเห็นว่าการพิจารณาหาความสมดุลร่วมกันระหว่างตัวชี้วัดของทั้ง 17 เป้าหมายภายใต้ SDGs น่าจะเป็นแนวทางที่จะทำให้เห็นภาพที่แท้จริงของการพัฒนาที่เป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

หลายประเทศ รวมถึงไทยคงบรรลุเป้าหมายส่วนใหญ่ได้ก่อนปี 2030 อย่างไรก็ดี ยามที่ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมดูจะทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

หากพิจารณาตามที่ท่านอนิลมานได้กล่าวถึง Sufficiency Economy ทำให้เห็นว่าหากความพอเพียง คือ ‘กิจอันประเสริฐ’ ย่อมต้องนำมาซึ่งความพึงพอใจอันมีพื้นฐานอยู่บนสิ่งที่ดีกว่าเดิมและความสุขใจ นั่นคือ การพัฒนาที่แท้จริง 

ผู้เขียนเห็นว่าการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คือ การพัฒนาแบบสมดุล แต่ไม่ใช่สมดุลแบบสองข้างเท่ากันพอดี แต่เป็นสมดุลแบบการทรงตัว เหมือนเดินไต่เชือกอย่างมีสติและปัญญา โอนเอนโงนเงนบ้างเป็นธรรมดา แต่ไม่หลงทาง ไม่ตกลงมา และไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสวัสดิภาพ

ในเชิงเศรษฐกิจมหภาค สามารถหมายรวมถึงการใช้งบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้ภาครัฐให้เพียงพอกับรายจ่ายต่างๆ โดยไม่ให้ภาระภาษีกระจุกตัวอยู่ที่ประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การใช้เครื่องมือนโยบายสาธารณะช่วยจัดสรรทรัพยากรของสังคมให้มีการกระจายตัวที่เหมาะสม ส่วนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลกซึ่งมีนัยต่อเศรษฐกิจของประเทศ คงจะหมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มิตรภาพกับนานาประเทศ และหลักมนุษยธรรม

ในมุมของท้องถิ่น คำว่า sufficiency หรือ พอเพียง มักจะถูกโยงกับภาคเกษตรกรรมเสียเป็นส่วนมาก แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ อยู่ในบริบทเดียวกันทั้งสิ้น

ส่วนคำว่าพัฒนา เรามักจะนึกถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตควบคู่การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ การนำเอา appropriate technology ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้าถึงง่ายและบริหารจัดการได้เองในระดับท้องถิ่นด้วยต้นทุนต่ำ มาใช้ในหน่วยเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและชุมชน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่มีสมดุลนำไปสู่ความพอเพียง

อาจกล่าวได้หรือไม่ว่า ความพอเพียง หรือ ‘กิจอันประเสริฐ’ คือ กิจที่กระทำอย่างมีสติ ประกอบด้วยปัญญา บนทางสายกลางที่สมดุลไม่สุดโต่ง อันจะนำพาสิ่งที่ดีกว่าเดิมและความสุขแบบพอเพียงมาสู่ผู้ประกอบกิจนั้น คงจะเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาที่แท้จริง ที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับโลกใบนี้