วาระครบรอบ100 ปีวันพระราชสมภพในหลวง ร.9 เสนอยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก

วาระครบรอบ100 ปีวันพระราชสมภพในหลวง ร.9 เสนอยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ในวาระครบรอบ 100 ปีวันพระราชสมภพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในปีพ.ศ. 2570 ไทยควรมีการผลักดันให้ยูเนสโก ยกย่องพระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก และนำแนวทาง"เศรษฐกิจพอเพียง"ไปใช้เพื่อชาวโลก

“เทคโนโลยีแม้ช่วยพัฒนาประเทศ แต่จะทำให้คนมีความสุข ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้าได้ไหม เราต้องดึงเทคโนโลยีและเศรษฐกิจพอเพียงมาสัมพันธ์กัน อันนี้คือ สิ่งที่โลกขาด" พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์(อนิลมาน ธมฺมสากิโย)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวระหว่างการสนทนาธรรม

นอกจากเรื่องแก่นของธรรมะ ประเด็นหนึ่งพระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ให้ความสนใจ คือ เรื่องการผลักดันแบบอย่างการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในวาระครบรอบ 100 ปีวันพระราชสมภพ เพื่อเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ยกตัวอย่างพระจริยวัตรของในหลวง รัชกาลที่ 9 (จากหนังสือ ธรรมดีที่พ่อทำ) บันทึกไว้ว่า

"ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นคิดในเรื่องความพอเพียง พระองค์ท่านยังทรงเป็นตัวอย่างของความพอดีและประหยัด ห้องทรงงานของพระองค์ในพระตำหนักจิตรลดาฯ จะอยู่ใกล้ห้องบรรทม เป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3 คูณ 4 เมตรเท่านั้้น ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ สำหรับการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดเวลา

ยามเมื่อเสด็จฯออกตรวจงานภายนอก ก็จะมีรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลือง จึงทรงให้นั่งรวมกัน และไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด ซึ่งเรียกว่า นั่งรถหารสอง"

100 ปีฯ วันครบรอบพระราชสมภพในหลวง รัชกาลที่ 9

โดยก่อนหน้านี้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ร่างแผนการดำเนินงานเสนอ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก : UNESCO) ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปีฯ วันพระราชสมภพของในหลวง รัชกาลที่ 9  ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567

หลังจากนั้น ยูเนสโกจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานกลั่นกรอง ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2568 เพื่อที่จะได้ทันในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกพิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายน 2568 โดยกิจกรรมเฉลิมฉลองฯ จะจัดขึ้นภายในปี 2570

วาระครบรอบ100 ปีวันพระราชสมภพในหลวง ร.9 เสนอยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์(อนิลมาน ธมฺมสากิโย)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

ตั้งแต่ พ.ศ. 2505-2566 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาแล้ว 33 รายการ แบ่งเป็น พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ 14 พระองค์, พระภิกษุสงฆ์ 4 รูป, สามัญชน 13 คน รายล่าสุดคือพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) วาระครบ 200 ปีชาตกาล ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565

ส่วนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์ ได้แก่ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) และฉลองครบรอบ 700 ปี ของการสถาปนาเมืองเชียงใหม่

ปัจจุบัน ยูเนสโกมีประเทศสมาชิกทั้งหมด193 ประเทศสมาชิกสมทบอีก 11 ประเทศ สำหรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของยูเนสโกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2492 ซึ่งเป็นลำดับที่ 49 ของประเทศสมาชิก

ผลักดันศาสตร์พระราชาเป็นศาสตร์สากล

พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์  เล่าว่า ในปีพ.ศ.2570 วาระครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยธรรมเนียมแล้ว น่าจะผลักดันให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลก แต่เป็นกระบวนการการทำงานของรัฐบาลร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

"อาตมามองว่า โอกาสเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะเรื่องศาสตร์พระราชาของพระองค์ เป็นศาสตร์สากล อาตมาได้พูดคุยกับหลายหน่วยงาน เราน่าจะปักหมุดเรื่องนี้ โดยปีนั้นไทยอาจเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำโลกที่สำนักงานสหประชาชาติ นำเสนอเรื่องศาสตร์พระราชาให้เป็นศาสตร์สากล"

จากบทบาทที่ไม่เคยมีในเวทีโลก ก็จะได้ประกาศให้ชาวโลกเห็น เรื่องนี้ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อาจเป็นแนวทางให้โลกดีขึ้นบ้าง เพราะเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ ก็คือ เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข เพราะโลกกำลังมีปัญหาเรื่องความสุดโต่ง ทางสายกลางน่าจะเป็นทางออก

วาระครบรอบ100 ปีวันพระราชสมภพในหลวง ร.9 เสนอยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่จำกัดแค่การเกษตร

"ตอนนี้สหประชาชาติประกาศแผนพัฒนาโลกคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน จะครบบรรจบปี 2030 เหลือแค่ 8 ปี ถ้าเราสามารถนำแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นทางสายกลาง นำแนวทางมาพัฒนาคนและประเทศในโลกนี้ ก็จะเป็นทางเลือกอีกทาง เพื่อที่จะเราจะได้ไม่ทุกข์มากหรือเป็นเหยื่อของสิ่งนั้นสิ่งนี้"

ต้องเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงให้ลึกซึ้ง

ปัญหาในโลกใบนี้  คือ เทคโนโลยีไปไกล แต่บางทีไม่รู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร อย่างไร พระอาจารย์อนิลมาน กล่าวต่อว่า เราต้องดึงเทคโนโลยีและเศรษฐกิจพอเพียงมาสัมพันธ์กัน อันนี้คือ สิ่งที่โลกขาด ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงให้แนวทางแบบเดียวกันคือ ให้รักษาก็คือ เรื่องความยั่งยืน สืบสาน ต่อยอดพัฒนา

"ถ้าเข้าใจรากศัพท์ภาษาบาลี ความยั่งยืนคือ สภาพที่ทรงไว้เหมือนเดิม ในทางธรรมก็คือต้องปฎิบัติด้วย ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 นำเศรษฐกิจพอเพียง ทางสายกลางมาใช้ ถ้าสามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระของโลกได้ โลกจะได้มีทางเลือกจากความวุ่นวายหรือหายนะ อาจมีความหวังเล็กๆ น้อยๆ 

ในประเทศไทย พุทธศาสนาต้องมีไว้เพื่อประโยชน์มหาชน และแก้ปัญหาความทุกข์ ถ้าเราสามารถนำเสนอตรงนี้ได้ ก็ช่วยกันผลักดัน แล้วแต่เหตุปัจจัย ทำเท่าที่ทำได้"