เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเลิก 'ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ' ฉุดสุขภาพจิตเสียได้

เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเลิก 'ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ' ฉุดสุขภาพจิตเสียได้

รู้จัก “ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ” หรือ Emotional Roller coaster Relationship รูปแบบความสัมพันธ์ชวนปวดหัว ใจหนึ่งอยากเลิกราแต่อีกใจก็ไม่อยากเสียเขาไป จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษของคู่รักหลายคู่ในปัจจุบัน ชวนรู้สาเหตุเกิดจากอะไร?

Key Points:

  • ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเลิก เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship)
  • ในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์นั้นมักเป็นไปด้วยดีเหมือนรถไฟเหาะที่กำลังขึ้นไปสู่จุดสูงจุด ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงคล้ายรถไฟเหาะที่กำลังตีลังกาแล้วร่วงดิ่งลงมา
  • แม้ว่าสุดท้ายแล้วคู่รักที่มีความสัมพันธ์ลักษณะนี้ อาจจะเลิกรากันไปด้วยหลายเหตุผล ขณะเดียวกันก็มีเหตุผลอีกมากมายให้กลับมาคืนดีกันใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าเกิดขึ้นซ้ำๆ อาจฉุดสุขภาพจิตให้แย่ลง

หลายคนอาจสงสัยและมีคำถามว่าทำไมคู่รักหลายคู่ถึงมีปัญหารักๆ เลิกๆ ดีกันได้ไม่นานก็ทะเลาะกันซ้ำซาก วนไปวนมา คล้ายกับว่าใจหนึ่งก็อยากเดินออกจากความสัมพันธ์นี้ แต่อีกใจก็ ยังไม่พร้อมที่จะต้องสูญเสียอีกฝ่ายไป นั่นเป็นเพราะคนเหล่านี้กำลังติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) และ ความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต (Unhealthy Relationship) ที่มีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า “ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ” หรือ Emotional Roller coaster Relationship

ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะนั้น เกิดขึ้นได้กับคู่รักทั่วไปในสังคม เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกและพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความสุข ความทุกข์ ความอึดอัด หรือความสับสน ไปพร้อมกัน แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับคู่รักที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ก็ตาม ความสัมพันธ์ก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่สุดสวิงแบบหกคะเมนตีลังกาก็ตาม

แม้ว่าความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับใครบางคนก็ตาม แต่หากติดอยู่กับความสัมพันธ์ลักษณะนี้ไปนานๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและความมั่นคงในความสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากจะมีปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เข้ามากระทบกระเทือนจิตใจอยู่เรื่อยๆ

  • ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ แท้จริงแล้วคืออะไร?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนติดอยู่ในความสัมพันธ์ (ที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก)ลักษณะนี้ เป็นเพราะความรู้สึก และ อารมณ์ หลายลักษณะที่เกิดขึ้นพร้อมกันจนเอ่อล้นจน และไม่สามารถควบคุมได้ รวมไปถึงพฤติกรรม และ การแสดงออก ที่สร้างความไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกแย่ จนทำให้เกิดความร้าวฉานต่ออีกฝ่ายตามมา จนนำไปสู่สุขภาพความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและกระทบต่อคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากอารมณ์ที่ไม่มั่นคงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือในบางครั้งอาจเป็นทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความรู้สึก “ทั้งรักทั้งเกลียด” ในเวลาเดียวกัน หรือบางครั้งทำให้รู้สึกว่าตนเองอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย อยากจะหนีออกไปให้ไกลแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยังมีความรู้สึกรักและผูกพันธ์กับคนรักอยู่ เหมือนกับว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ และบางครั้งเหมือนกำลังตีลังกาคล้ายกับอยู่บนรถไฟเหาะนั่นเอง

  • เช็กได้อย่างไร ความสัมพันธ์ของเราเข้าข่ายรถไฟเหาะไหม?

สำหรับใครที่กำลังอยู่ในช่วงสับสนว่าความพันธ์ครั้งนี้ตั้งอยู่บนความไม่มั่นคงหรือเปล่า? สามารถลองสังเกตได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ “ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ” แบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก ดังนี้

1. Love Bombing

เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์โดยปกติทั่วไป ซึ่งเป็นความรู้สึกชอบ รักใคร่ และ หลงใหล เปรียบเสมือนตอนที่รถไฟเหาะเริ่มเดินทางขึ้นไปยังจุดสูงสุด ทำให้ความสัมพันธ์ในช่วงเริ่มแรกนี้เต็มไปด้วยความสนุกและความตื่นเต้น แต่ว่าไม่นานนัก เมื่อเวลาผ่านไปอีกฝ่ายกลับมีท่าทีเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านของอารมณ์และพฤติกรรม

2. Devaluating

สำหรับในช่วงที่สองของความสัมพันธ์ที่เริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงขาลงนั้น เริ่มจากการแสดงออกที่ทำให้รู้สึกว่าความพิเศษของความสัมพันธ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น มองว่าคนรักไม่ใช่คนพิเศษเท่าไรนัก เริ่มไม่สนใจ ไม่ใส่ใจในความรู้สึกของอีกฝ่าย (ในบางกรณีก็คือทั้งสองฝ่ายกลับหมดความสนใจในกันและกันไปเอง) ไม่ได้สนใจว่าความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่สามารถบอกได้ว่าอยากไปต่อหรือพอแค่นี้

3. Discarding

เมื่อมาถึงขั้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการหยุดความสัมพันธ์ ส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า ไม่เป็นที่ต้องการของอีกฝ่ายอีกต่อไป คล้ายกับตอนที่รถไฟเหาะหมดรอบแล้วกำลังเข้าจอดที่สถานี หลายคนอาจเข้าใจว่านี่คือจุดจบของความสัมพันธ์อย่างแน่นอน แต่สำหรับคู่รักที่ติดอยู่ในความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะกลับไม่ใช่อย่างนั้น  เพราะบางคนยังมีความเชื่อว่า แม้จะไม่ได้รักกันหรือไม่ได้รู้สึกดีต่อกันเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะเสียอีกฝ่ายไป หรือไม่พร้อมสำหรับการเริ่มต้นใหม่ (ไม่ว่าจะอยู่เป็นโสดหรือมีแฟนใหม่) เนื่องจากยังมีความผูกพันธ์และมีเยื่อใยต่อกัน ส่งผลให้ความสัมพันธ์วนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งนั่นเอง

หากมองเพียงผิวเผิน “ความสัมพันธ์แบบรถไฟเหาะ” อาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเท่าไรนัก เป็นเพียงปัญหารักๆ เลิกๆ ทั่วไป ที่พบได้ในความสัมพันธ์ ของใครหลายคน แต่ในแง่ของความรู้สึกนั้นอาจเรียกได้ว่าไม่ใช่เรื่องดีเท่าไรนัก  เพราะความสัมพันธ์ที่เป็นพิษก็จะส่งผลกระทบต่อชีวิตไปด้วย แม้ว่าการเดินออกมาจากความสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นเรื่องยาก แต่การลองพูดคุยปรึกษากับคนรอบตัวเพื่อร่วมกันหาทางออก ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความสัมพันธ์เหล่านี้ได้

แต่สุดท้ายแล้ว การที่จะเลือกเดินออกมาและหันหลังให้เรื่องราวที่เป็นพิษเช่นนี้ด้วยตัวเองนั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครที่จะรักเราได้เท่ากับที่เรารักตัวเอง

อ้างอิงข้อมูล : CLEO, Just in feed, Relate และ Salmon books